อดีตนายกฯอานันท์ ชำแหละการแพทย์ไทยกระจุกในเมืองหลวง

10 ธ.ค.2565 - เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิพฤษภาคมประชาธรรม และเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันจัดงานงานแสดงมุทิตาจิต ปาฐกถาและเวทีเสวนา “ทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ “ เนื่องในโอกาส ที่นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท ได้รับรางวัล ผู้นำด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ 72 ถ.พระราม 3 กทม. โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจัดงาน มีนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 กล่าวเปิดงาน

นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ได้ปาฐกถามีเนื้อหาสำคัญว่า การเกิดวิกฤติโรคระบาดทำให้การปฏิรูปสุขภาพปฐมภูมิมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้เห็นพัฒนาการชัดเจน 4 ประเด็น ประเด็นแรก ระบบสาธารณสุขมูลฐานซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ผลิตออกมาด้วยความอดทนกว่า 4 ทศวรรษ อสม. ทั่วประเทศได้ทำรายงานและควบคุมสถานการณ์โรคระบาดได้ อสม. หนึ่งล้านสี่สิบคนของกระทรวงสาธารณสุขจึงเป็นที่รู้จักครั้งแรกของประเทศหลังจากที่มีมากว่า 4 ทศวรรษ คนที่วางรากฐานแนวคิดนี้คืออาจารย์หมออมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขกับอาจารย์หมอสุชาติ เจตนเสน เป็นผู้วางรากฐานระบบเฝ้าระวังโรคต่าง ๆ เรื่องการรายงานโรคติดต่อ และเป็นคนริเริ่มนักระบาดวิทยาภาคสนามทั้งไทยและในประเทศเพื่อนบ้านกว่า 4 ทศวรรษ

นายแพทย์ชูชัย กล่าวว่า ประเด็นถัดมาได้เห็นระบบโครงสร้างระบบสุขภาพไทยของกระทรวงสาธารณสุข ต้องนึกถึงคุณูปการของหมอเสม พริ้งพวงแก้ว เมื่อครั้งท่านเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขที่ทำให้งานรักษาพยาบาลและงานป้องกัน ส่งเสริม ฟื้นฟูโรค อยู่ด้วยกัน เกิดความเป็นเอกภาพจากส่วนกลางไปถึงตำบลหมู่บ้าน เชื่อมต่อระบบดูแลตนเองของชุมชน ทำให้ระบบดูแลสุขภาพปฐมภูมิมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ ประเด็นสุดท้าย สป.สช. ซึ่งสามารถที่จะจัดการงบประมาณที่ไม่ได้จัดให้สุขภาพปฐมภูมิโดยเฉพาะ ให้เกิดการเฝ้าระวังโรคที่บ้าน เราเคยได้ยินคำว่า community isolation ไปที่ชุมชน เป็นระบบงบประมาณที่ระบบสุขภาพปฐมภูมิอยากให้เกิดโดยมีงบประมาณตรงไปที่ชุมชน เหล่านี้เป็นหัวใจและเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้สถาบันวิชาการระดับโลกของมหาวิทยาลัยจอนห์ ฮอบกิน ยกให้ระบบควบคุมป้องกันโรคของไทยอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก สิ่งที่พูดมาเหล่านี้เป็นการปฏิรูปในกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด

นายแพทย์ชูชัย ยังชี้ให้เห็นความสำคัญและจำเป็นของการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ ว่ามีเป้าหมายคือลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำใน 5 มิติ รายได้ โอกาส สิทธิ อำนาจ และศักดิ์ศรี ซึ่งประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่ 10 อันดับแรกของโลก มีงานวิจัยที่อ้างอิงได้ว่าทำให้เกิดปัญหาสังคม คนล้นคุก การใช้ยาเสพติดจำนวนมาก มีแม่วัยใสเยอะ และความไว้วางใจในสังคมต่ำ มีอย่างเดียวคืออัตราการตายของทารกในประเทศเราไม่ได้ต่ำมาก

“เรามาถึงจุดที่ถึงพร้อมระดับหนึ่งและได้ผลักดันให้เกิดความสำคัญในรัฐธรรมนูญเรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิ เรื่องแพทยศาสตร์ครอบตัว และมีบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขไปผลักดันต่อ จน พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิออกมาได้หลังรัฐธรรมนูญออกมา 2 ปี นี่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการปฏิรูป”

นายแพทย์ชูชัย กล่าวอีกว่า มีความตั้งใจที่จะผลักดันให้เกิดความเสมอภาคด้านสุขภาพด้วยทุนนักเรียนระดับอำเภอที่ได้รับทุนจากองค์การปกครองท้องถิ่น อบต. อบจ. เทศบาล โดยควรพิจารณาให้โควต้าพิเศษสำหรับบุตรหลานของอสม. เมื่อเรียนจบก็กลับไปทำงานให้กับท้องถิ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนและสามารถทำได้ทันที ด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น อีกข้อคือการผลักดันกองทุน 3 กองทุน กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนสวัสดิการแรงงาน และกองทุนหลักประกันสุขภาพ เกิดการปฏิรูปให้ได้สวัสดิการที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น โดยมี สป.สช.เป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้สวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้าสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างเท่าเทียม

จากนั้นได้มีเวทีเสวนา เรื่อง “ทิศทางการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็ด ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สป.สช. และนพ. สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ดำเนินการเสวนา โดย น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ช่วย ผอ.สำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวว่า ระบบสุขภาพ ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ลดการตาย มีสุขภาพที่ยืนยาว การแก้ไขปัญหามิติเดียวบางครั้งก็ไม่สามารถแก้ไขได้ครอบคลุม เรื่องระบบ การแพร่ระบาดโควิด – 19 เป็นวิกฤตระดับโลกที่ใช้เป็นตัววัดแต่ละประเทศว่ามีการรับมืออย่างไร ประเทศไทยถูกจัดระบบอยู่ในระดับรายได้ปานกลาง และหลายประเทศก็ชื่นชมว่าประเทศไทยรับมือได้ดี อย่างเช่น องค์กรอนามัยโลก

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถรับมือกับวิกฤตได้ดีก็มี 3 ประการ คือ นโยบายและผู้นำ สองคือระบบสุขภาพที่แบ่งระดับปฐมภูมิ ทุติภูมิ ตติยภูมิ และมี อสม. ที่มีความเชื่อมโยงกัน หน่วยงานของกระทรวงและพันธมิตรเครือข่ายสามารถผนึกกำลังได้ดี สาม คือประชาชน ความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ซึ่งไว้เนื้อเชื่อใจในระบบสุขภาพและบุคลากรสาธารณสุข”นพ.โอภาส กล่าว

ด้านนพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ กล่าวว่า กลไกหนึ่งที่สำคัญคือตัวกฎหมายในชั้น พ.ร.บ. ซึ่งคลอดมาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องระบบสุขภาพ บริการ การส่งต่อข้อมูล ออกแบบให้ครอบคลุมหน่วยบริการในทุกสังกัด และกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งเคลื่อนไปด้วยกันคือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับพื้นที่ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าคอนเซปประบบสุขภาพ โดยเฉพาะปฐมภูมิ มันกว้างกว่าเรื่องหมอและยา แต่ครอบคลุมถึงการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ ความเป็นอยู่ มิติต่าง ๆ ที่ครบถ้วน ออกแบบให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมมีบทบาทมากกว่าภาครัฐ เพราะถ้าภาคประชาสังคมเข้มแข็งมีวิกฤตเราสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว แต่หัวใจไม่ได้อยู่ตัวกฎหมายที่เป็นตัวหนังสืออย่างเดียว แต่อยู่ที่การ implement ด้วย

นพ.จเด็ด ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สป.สช. ผู้สนับสนุนด้านงบประมาณได้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่พยายามออกแบบเป็นประชาชนจะได้รับสิ่งที่ท่านคาดหวังไว้ได้หรือไม่ การออกแบบนโยบายแล้วประชาชนจะนำไปใช้แล้วหายหรือมีสุขภาพดีจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชน เมื่อการบริการปฐมภูมิไม่ครอบคลุม ก็นำไปสู่การพัฒนา Self Care (การดูแลตนเอง) เพื่อให้เกิดการป้องกัน และสามารถตรวจวัดบางโรคได้ด้วยตนเอง เป็นบริการที่ประชาชนจะต้องดูแลด้วยตัวเอง ประชาสังคมต้องคุยกับในมิติของชาวบ้าน ไม่ใช่คุยแบบเราจะเอา แต่ต้องคุยว่าประชาชนต้องการอะไรเพื่อเข้าถึงบริการแล้วเราปรับระบบบริการของเรา เพื่อจะได้เสริมงบประมาณให้หน่วยบริการให้ได้ตรงตามความต้องการ

จากนั้นนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานจัดงาน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงมุทิตาจิต ว่า ชีวิตหมอเป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุดนอกจากทำให้เกิดความสุขให้ตัวเองแล้วยังทำให้เกิดมีความสุขของคนไข้และคนอื่นๆด้วย ในเมืองไทยปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดหัวก้าวหน้า ในการปรับปรุงโครงสร้าง นโยบาย เทคโนโลยี ไม่ติดกับจารีตประเพณีของสังคมในอดีต คนรุ่นใหม่เขาอยู่ในฐานะลำบากมาก เขามีความอึดอัดมาก เขารู้สึกอยู่ในประเทศ ในสังคม โดยไม่มีควางหวัง มองไม่เห็นอนาคตของส่วนรวม พวกหมอนี่แหล่ะที่จะมีบทบาทสำคัญมาก ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในสถาบันต่างๆของสังคมไทยไม่มีความเคารพนับถือ นักการเมือง รัฐธรรมนูญ ศาล ตำรวจ ทหาร ระบบราชการ และหลายอย่าง คนเราถ้าหมดความเชื่อถือ เชื่อมั่น ผิดหวังกับสิ่งเหล่านี้ ชีวิตก็เฉาง่าย แต่ยังมีสถาบันที่คนยังเชื่อถือ เคารพ ให้เกียรติ นั่นคือสถาบันการแพทย์ของเมืองไทย ไม่วาจะเป็นหมอ โรงพยาบาล

นายอานันท์ กล่าวว่า ตนก็ทำเรื่องปากแหว่งเพดานโหว่ โรงเรียนตาบอด ที่พ่อตนตั้งขึ้น เมื่อคลุกคลีกับเรื่องพวกนี้แล้วยิ่งเห็นว่าหมอไทยยิ่งสรรเสริญจริงๆ การมีสุขภาพที่ดีที่รัฐเข้าไปดูแล ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่การมาเรียกร้องว่างบประมาณไม่พอ แต่ต้องหาให้ได้ เมื่อ20 กว่าปีตนได้รู้จักหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บอกว่ามีแผนงานจะเสนอ อยากให้ตนในฐานนะอดีตนายกฯ กล่าวในงาน พูดเปิดตัวเรื่อง 30 บาท แต่หลายคนไปให้เครดิตนักการเมือง แต่เขาก็เก่งหยิบไปเป็นนโยบายทางการเมืองได้ แต่ความจริงแล้ว มันเกิดได้ เพราะหมอสงวน หมอมงคล ณ สงขลา อาจารย์อัมมาร สยามวาลา 3คนเป็นหลักใหญ่ ชีวิตตนจึงพัวพันกับหมอ แล้วมาเจอหมอชูชัย ตนติดใจที่หมอประเวศ วะสี คุยเรื่องหมอชนบท มีคำว่า รวยกระจุก จนกระจาย

"ในใจผมมันยิ่งกว่านั้นอีก การแพทย์กระจุกอยู่แต่ในเมืองหลวงอย่างเดียว ไม่กระจาย ผมก็บอกว่าอยากจะช่วย ราษฎรชนบทก็มีความสำคัญเท่าราษฎรในเมือง โรงพยาบาลดีๆ ก็สร้างไป แต่อย่าลืมชนบท กรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทย จริงๆแล้ว ประเทศไทยยกเว้นกรุงเทพ อยากให้ส่งเสริมวิธีคิดแบบนี้ไว้ ส.ส.รัฐมนตรี ไม่ใช่เป็นนายกฯ แต่เป็นผู้รับใช้ประชาขน วิธีคิดแบบนี้คนรุ่นใหม่จะเข้าใจง่าย"นายอานันท์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลขาฯแพทยสภา เปิดขั้นตอนการพิจารณาคดี 'จริยธรรมของแพทย์'

พล.อ.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์แผนภูมิแสดงแสดงการพิจารณาคดีด้านจริยธรรมของแพทย์ พร้อมระบุข้อความว่า การดำเนินคดีทางจริยธรรม มีขั้นตอน หลังจากที่ได้รับ เรื่องร้องเรียน ดังนี้

10 อาชีพการแพทย์ยอดนิยม ปี 2568 - หางานสายสุขภาพ

ในยุคโลกดิจิทัลที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้า และการดูแลสุขภาพร่างกายต่างได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง สายงานอาชีพในการแพทย์ไม่เพียงแต่จะมีบทบาทสำคัญในสังคม แต่ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต โดยเฉพาะในปี 2568

'หมอสมอง' เตือน! 'บิด เอียง สะบัดหมุน ดัดคอ' เสี่ยงอัมพฤกษ์

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า บิด เอียง สะบัดหมุน ดัดคอ…แล้วก็เสี่ยงอัมพฤกษ์

'หมอธีระวัฒน์' แนะ 'เวียนหัว บ้านหมุน' ทำท่าอินเดีย อาจช่วยได้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เวียนหัว บ้านหมุน ทำท่าอินเดีย อาจช่วยได้

ศูนย์ไวรัส จุฬาฯ จับตาโรค 'โอโรพุช' ระบาดในลาตินอเมริกา อาการคล้ายไข้เลือดออก

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า