กสม.ชี้กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่าน ตรวจบันทึกภาพใบขับขี่ประชาชนโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
18 พ.ย.2564 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กสม. และ น.ส.อัจฉรา ฉายากุล รองเลขาธิการ กสม. แถลงข่าวว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2564 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนสองกรณีอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น และสถานีตำรวจภูธรกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้องโดยไม่ได้รับความยินยอม โดยทั้งสองกรณีผู้ร้องได้ขับรถยนต์ผ่านจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ และจับกุมสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ และผู้ร้องได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายทอดสด (Live) และบันทึกภาพเคลื่อนไหวการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้องโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ร้องก่อน ผู้ร้องทั้งสองกรณีเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2564 ได้พิจารณาคำร้อง ข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 ได้รับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลไว้ โดยเฉพาะการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 17 ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงความเป็นอยู่ส่วนตัวโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้เช่นเดียวกัน การแทรกแซงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวจึงอาจกระทำได้เฉพาะกรณีที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยอำนาจตามกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
สำหรับการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ของเจ้าหน้าที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อาจมีกรณีที่ล่วงล้ำหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องหรือบุคคลที่ผ่านหรือที่เข้าไปอยู่บริเวณจุดตรวจ จุดสกัดได้ เช่น การค้น หรือการตรวจหาสารเสพติด ดังนั้นจึงต้องกระทำโดยระมัดระวัง เท่าที่จำเป็น และส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้น้อยที่สุด
แม้การขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ ณ จุดตรวจ จุดสกัด จะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่สามารถกระทำได้ แต่การที่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ของผู้ร้องหรือบุคคลที่ผ่านหรือที่เข้าไปอยู่บริเวณจุดตรวจ จุดสกัด ถือเป็นขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ และโดยที่ใบอนุญาตขับขี่ปรากฏข้อมูลส่วนบุคคลหลายรายการ การบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่เก็บรวบรวมไว้จึงอาจเป็นการล่วงล้ำหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลได้ นอกจากนี้ การที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่เพื่อเก็บหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติหน้าที่ หรือหากปรากฏว่าผู้ร้องนำภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกไว้ไปเผยแพร่ในทางที่ทำให้เกิดความเสียหาย เจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินการติดตามตัวผู้ร้องมาสอบสวนได้โดยง่าย นั้น ก็มิใช่เหตุตามกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ในการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำเช่นนั้นได้
ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่า การที่ผู้ร้องใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวการปฏิบัติหน้าที่และโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์เข้าข่ายขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ หรือทำให้เกิดความเสียหาย ย่อมสามารถรวบรวมพยานหลักฐานที่เป็นภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวเพื่อดำเนินคดีกับผู้ร้องได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่ผู้ร้องแต่อย่างใด ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่โดยที่ผู้ร้องมิได้ให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งก่อน จึงถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว รวมถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้องอันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุนี้ กสม.จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดให้เป็นไปตามหนังสือ ตร. ที่ 0007.34/5578 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2556 เรื่อง กำชับมาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด และหนังสือ ตร. ที่ 0007.34/681 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2564 เรื่อง มาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก และความผิดอื่นเกี่ยวกับรถ หรือการใช้ทาง โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระมัดระวังการบันทึกภาพใบอนุญาตขับขี่หรือเอกสารอื่นใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งอาจล่วงล้ำหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่ผ่านหรือที่เข้าไปอยู่บริเวณจุดตรวจ จุดสกัด และต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเท่าที่จำเป็นและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ
'อัจฉริยะ' ร้อง ปปป. สอบ 'ทนายษิทรา' ปมแฉบิ๊กรัฐวิสาหกิจ
นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.)
เปิดฉบับเต็ม! รายงานกสม. มัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วยทักษิณ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้อง เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ 1โรงพยาบาลตำรวจที่ 2
กสม.แถลงค้าน ปิดศูนย์เรียนรู้เด็กข้ามชาติ ชี้สถานศึกษาในพื้นที่ ยังไม่มีความพร้อม
ตามที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
'ทวี' ขึงขัง! สั่ง 'กรมคุก' ตามดู 'นช.ทักษิณ' รักษาตัวชั้น 14 ละเมิดสิทธิผู้ต้องขังภาพรวมหรือไม่
ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่งเรื่องให้
เอาแล้ว! ป.ป.ช.รับข้อมูล กสม. พิจารณา ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ รักษาตัวชั้น 14
เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐานของคณะทำงานไต่สวนที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนพยานหลักฐาน ซึ่งสุดตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ส่งรายงานการพิจารณาของกสม.มาให้ป.ป.ช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา