นักวิชาการธรรมศาสตร์ แนะอัดฉีดงบประมาณวิจัยข้าวไทย ทวงแชมป์ “ข้าวดีที่สุดในโลก” เหตุผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าคู่แข่ง-ต้องพัฒนาพันธุ์ให้สอดคล้องความต้องการตลาด ชี้แม้ยังส่งออกได้ดี แต่ราคาและต้นทุนยังต้องจับตา
1 ธ.ค.2565 - ผศ.ดร.พรชัย หาระโคตร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยถึงผลการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก The World’s Best Rice 2022 ซึ่งข้าวหอมผกาลำดวนจากประเทศกัมพูชา สามารถคว้าแชมป์โลก โดยเอาชนะข้าวหอมมะลิไทย ตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่การเริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2552 นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ชนะไม่ใช่ประเทศไทย และไม่ใช่ครั้งแรกที่ข้าวหอมผกาลำดวนได้เป็นแชมป์ โดยการแข่งขันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศในภูมิภาคเอเชียได้ผลัดกันแพ้ชนะ โดยไทยได้แชมป์ 7 ครั้ง กัมพูชา 5 ครั้ง ที่เหลือเป็นของประเทศอื่น เช่น จากประเทศเวียดนาม เมียนมา และสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ดี สิ่งที่สะท้อนในการประกวดไม่ใช่แค่การได้แชมป์ในแต่ละปี แต่คือที่มาของพันธุ์ข้าวซึ่งส่งเข้าประกวด เพราะข้าวไทยพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งถูกส่งเข้าประกวดนั้น ถูกพัฒนาและรับรองพันธุ์มามากกว่า 60 ปี ขณะที่ข้าวหอมผกาลำดวน ถูกพัฒนาประมาณ 20 ปี และสำหรับประเทศเวียดนาม ได้ส่งข้าวพันธุ์ ST25 ซึ่งได้พัฒนาสายพันธุ์มาเมื่อไม่กี่ปีก่อน
“ตรงนี้สะท้อนว่า ในขณะที่ประเทศอื่นกล้าที่จะส่งข้าวใหม่เข้าประกวด มีการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์อยู่ตลอด แต่ไทยยังไม่กล้าตัดสินใจส่งพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ยังต้องส่งข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่รวบรวมพันธุ์จากอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา นำมาปลูกและคัดเลือกพันธุ์มากว่า 60 ปี แล้ว ประกวดอยู่ ซึ่งเป็นข้อสังเกตว่าเพราะอะไร” ผศ.ดร.พรชัย กล่าว
ผศ.ดร.พรชัย กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลจนถึง กันยายน 2565 ประเทศไทยยังอยู่ในลำดับต้นๆ ของแหล่งผลิตข้าวของโลก และมีตัวเลขส่งออกอยู่ที่ 5.4 ล้านตัน ครองอันดับที่ 2 ของประเทศส่งออกข้าวของโลกรองจากอินเดีย ซึ่งจากการคาดการณ์ก็เชื่อว่า จนถึงสิ้นปีตัวเลขการส่งออกจะอยู่ที่ระดับ 8 ล้านตัน รวมมูลค่าประมาณแสนล้านบาท ซึ่งแนวโน้มตัวเลขการส่งออกสูงขึ้นจากปีก่อน ทั้งนี้มาจากหลายปัจจัย เช่น ค่าเงินบาท
อย่างไรก็ดี การพิจารณาแค่เพียงตัวเลขส่งออกอย่างเดียวนั้นคงไม่เพียงพอ หากแต่ต้องดูที่ปัจจัยด้านราคาซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ราคาข้าวไทยมีราคาที่ต่ำลง ราคาข้าวหอมมะลิไทยในอดีตเคยสูงถึงตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันลดลงเหลือในระดับ 750-780 เหรียญสหรัฐ ซึ่งอธิบายได้ว่า เป็นเพราะการแข่งขันด้านราคา โดยคู่แข่งพัฒนาคุณภาพข้าวได้ใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิไทย แต่มีราคาต่ำกว่า ทำให้ไทยต้องลดราคามาแข่งขัน
“จะมองแค่ตัวเลขส่งออกอย่างเดียวไม่ได้ เพราะแม้จะยังดีอยู่ แต่ปัจจุบันเราขายข้าวแพงเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องแข่งขันในราคาที่ต่ำลงเพื่อให้ใกล้เคียงกับคู่แข่ง ราคาข้าวของไทยจึงลดลงตลอดหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผลผลิตข้าวต่อไร่ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยไทยปลูกได้ 450-650 กก./ ไร่ ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 900 กก./ ไร่ อีกทั้งต้นทุนในการปลูกยังสูงกว่า คือเกษตรกรไทยมีต้นทุนในการปลูกข้าวที่ 9,000 บาท/ตัน ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 6,000 บาท/ตัน ซึ่งอธิบายได้ว่าชาวนาไทยรับภาระต้นทุนการผลิตมากกว่าชาวนาในประเทศใกล้เคียง
ผศ.ดร.พรชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต ราคาข้าวที่ลดต่ำลง ผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เห็นว่าการพัฒนาและวิจัยพันธุ์ข้าว เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาแนวทางหนึ่งที่ตรงจุดและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนับร้อยล้านบาท เมื่อถูกแจกจ่ายให้กับศูนย์วิจัยข้าวที่มีอยู่ทั่วประเทศ ประมาณ 27 แห่ง ทำให้เรื่องงบประมาณวิจัยยังเป็นข้อจำกัด ขณะเดียวกันการพัฒนาพันธุ์ข้าวก็ต้องพิจารณาถึงความต้องการของตลาดเป็นหลัก เพราะจะเป็นตัวชี้วัดว่าข้าวจะตรงใจกับผู้ซื้อหรือไม่ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทย รวมถึงช่วยผู้ประกอบการในเรื่องการหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อกระจายข้าว ไม่ให้ข้าวอยู่ในสต็อกนานเกินไป ซึ่งจะช่วยทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศสูงขึ้น และเป็นนโยบายต้นทางในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ
“สำหรับเกษตรกรเขาคงไม่ได้กังวลเรื่องการประกวด การเป็นแชมป์ จริงอยู่ว่าการชนะในทุกๆ ปี และการถูกเอ่ยถึงในการแข่งขันถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ และเป็น Branding ให้กับข้าวไทย แต่เหนืออื่นใด เขาต้องการพันธุ์ข้าวที่มีผลผลิตสูง แข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช และเป็นที่ต้องการของตลาด ขอยกตัวอย่างที่ครั้งหนึ่ง เวียดนามได้ตั้งเป้าและโหมวิจัยในการพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มที่มีผลผลิตสูง ซึ่งขณะนั้นตลาดข้าวพื้นนุ่มกำลังขยายตัวเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเวียดนามได้ทุ่มเทงบประมาณวิจัย ช่วยหาตลาด ทำให้กลับมาครองตลาดส่งออกข้าวชนิดดังกล่าว รวมถึงแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวข้าวหอมไทย ซึ่งถ้าไทยจะพัฒนาข้าวก็ต้องทำเป็นระบบ ทั้งเรื่องการวิจัย การหาตลาด รวมถึงการช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรที่ทำให้เขาอยู่ได้” ผศ.ดร.พรชัย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงเกษตรฯ เคาะช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่! วงเงิน 3.8 หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากกรณีมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตครั้งที่
กษ.คิกออฟโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ
นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน Kick Off “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้
โฆษก กษ. เผยข่าวดี! ปรับเงินช่วยชาวนาเป็น 1000 บาทต่อไร่แล้ว
นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยผลประ
ชาวนาเฮ! รัฐบาลเคาะแจกไร่ละ 1 พันบาท เล็งปรับโครงสร้างเกษตรทั้งระบบ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ เห็นชอบหลักการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท
ชาวนารับจ้างอัดก้อนฟางข้าว โกยรายได้งามช่วงหาซื้อยาก ราคาแพง
ชาวนาที่ จ.บุรีรัมย์ นำรถไถนาขนาดใหญ่ มาดัดแปลงติดตั้งเครื่องอัดฟาง ออกบริการรับจ้างอัดก้อนฟางข้าว จากชาวนาเพื่อนบ้าน
ชาวนาต้นทุนกระฉูด! ปุ๋ยคนละครึ่งไม่ตอบโจทย์
บุรีรัมย์ ชาวนา เรียกร้องให้รัฐบาล ช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละพัน แบ่งเบาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ยังขายได้ราคาต่ำ