SIIT ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ “BA” การวิเคราะห์ธุรกิจและโซ่อุปทาน ควบรวมศาสตร์การจัดการ วิเคราะห์ข้อมูล สู่พื้นฐานการสร้างทักษะจำเป็นแห่งโลกธุรกิจยุคอนาคต พร้อมพัฒนากระบวนการเรียนรู้ผ่านเวิร์คช็อป “เกมจำลองธุรกิจ” เปิดโอกาสให้นักเรียน ม.ปลาย ร่วมฝึกฝน เข้าใจภาพการบริหารจัดการองค์กรผ่านเครื่องมือจริง มุ่งเน้น “Active Learning” ผลิตบัณฑิตบนพื้นฐานการคิด นวัตกรรม
25 พ.ย.2565 - รศ.ดร.ชวลิต จีนอนันต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า โลกของธุรกิจนั้นมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเทคโนโลยี ระบบการตลาด หรือแนวโน้มความต้องการใหม่ๆ ในขณะที่ระบบการศึกษาเองก็ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้รูปแบบการเรียนการสอน การหาความรู้ของนักเรียน นักศึกษา ล้วนมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จึงเป็นความสำคัญที่ทำให้สถาบันการศึกษาจำเป็นจะต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
รศ.ดร.ชวลิต กล่าวว่า ในส่วนของ SIIT ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมและด้านการจัดการอินเตอร์ ที่มุ่งเน้นในเรื่องของเทคโนโลยี จึงต้องมีการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ในชื่อ การวิเคราะห์ธุรกิจและโซ่อุปทาน หรือ Business and Supply Chain Analytics (BA) พร้อมปรับเนื้อหาใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
สำหรับหลักสูตร BA ที่ปรับปรุงใหม่นี้ จะเป็นการเรียนการสอนที่มุ่งให้เกิดการมองภาพธุรกิจตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ช่วยให้เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ที่นำไปสู่การวางกลยุทธ์และการตัดสินใจ บนพื้นฐานของศาสตร์การใช้ข้อมูล (Data Science) ตลอดจนเทคนิคด้านข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ทางสถิติ การแปลงข้อมูลเป็นภาพ (Data Visualization) ไปจนถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เครื่องมือการประมวลผล (Machine Learning) เป็นต้น ซึ่งเป็นศาสตร์ที่สำคัญและจำเป็นมากยิ่งขึ้นสำหรับโลกธุรกิจในปัจจุบัน
“การออกแบบหลักสูตรของ SIIT เราได้มีความร่วมมือกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของภาคเอกชนต่างๆ ว่ากำลังต้องการบุคลากรที่มีทักษะ มีความรู้ความสามารถด้านใดบ้าง เพื่อนำกลับมาออกแบบและปรับปรุงหลักสูตรของสถาบัน หากวิชาใดที่เนื้อหาไม่ตอบโจทย์ในปัจจุบันเราก็จะถอดออก ส่วนเนื้อหาวิชาใดที่เริ่มเป็นเทรนด์ของตลาดโลก อย่างการวิเคราะห์ธุรกิจและโซ่อุปทานนี้ เราก็นำเข้ามาปรับให้เหมาะสมเป็นหลักสูตร BA ที่เพิ่งปรับปรุงใหม่” รศ.ดร.ชวลิต กล่าว
ขณะเดียวกัน ทาง SIIT ยังได้มีการออกแบบการเรียนการสอนในลักษณะ Active Learning ภายใต้กิจกรรมเวิร์คช็อป “Business Game with ERPSim Workshop” ที่ให้นักเรียนนักศึกษาได้ฝึกฝนทักษะผ่านการเล่น “เกมจำลองธุรกิจ” ที่แต่ละกลุ่มจะต้องบริหารจัดการธุรกิจแบบเสมือนจริง โดยแบ่งหน้าที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการผลิต ฝ่ายการขาย ฝ่ายบริหาร ฯลฯ พร้อมทดลองใช้ซอฟท์แวร์จริงที่ภาคธุรกิจระดับโลกใช้ เช่น SAP, Microsoft Power BI และร่วมเรียนรู้ถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในองค์กรด้วย
รศ.ดร.ชวลิต กล่าวว่า เวิร์คช็อปการเล่นเกมลักษณะนี้ คือการเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนจากการฟังบรรยาย (Lecture-based Learning) ให้เป็นการเรียนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-based Learning) ที่กระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาได้เจอกับปัญหา และค่อยๆ เกิดกระบวนการเรียนรู้ พร้อมค้นคว้าถึงวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการฝึกฝนทักษะทั้ง “4C” ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ 1. Communication การสื่อสาร 2. Collaboration การร่วมมือกันเป็นทีม 3. Creativity ความคิดสร้างสรรค์ 4. Critical Thinking การคิดวิเคราะห์
“เราใช้กิจกรรมเวิร์คช็อปแบบนี้ประกอบการเรียนการสอนให้กับนักศึกษามานาน 3-4 ปี โดยช่วงโควิด ที่ผ่านมาเราก็มีการจัดผ่านออนไลน์ และเปิดให้นักเรียนจากทั่วประเทศที่สนใจเข้ามาร่วมเล่นได้ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างสูง มาในปีนี้ที่เราสามารถจัดกิจกรรมออนไซต์ได้มากขึ้น จึงได้ต่อยอดเวิร์คช็อปนี้ให้น้องๆ ม.ปลาย เข้าถึงได้เพิ่มมากขึ้น โดยจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนเข้าร่วมเล่นในงาน SIIT Open House 2022 ที่ผ่านมา และยังได้มีความร่วมมือไปจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนตามที่ต่างๆ เช่น โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และโรงเรียนเซนต์คาเบียล” รศ.ดร.ชวลิต กล่าว
รศ.ดร.ชวลิต กล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์ของกิจกรรมเวิร์คช็อปดังกล่าว นอกจากที่ตั้งใจจะจุดประกายให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ ได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะของโลกธุรกิจในอนาคต รวมถึงรู้จักกับ SIIT มากขึ้นแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ครู อาจารย์ ในโรงเรียนต่างๆ ได้มองเห็นภาพการเรียนการสอนรูปแบบอื่นๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับปัจจุบันมากยิ่งขึ้น แทนที่จะมุ่งเน้นเฉพาะการเรียนภาคทฤษฎี ที่นักเรียนอาจจดจำได้น้อย มาเป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ลงมือทำ ตัดสินใจ และเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่พบว่าจะสามารถสร้างการจดจำได้สูงและยาวนานกว่า
ด้าน ศ.ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โลกของธุรกิจ เทคโนโลยี และศาสตร์ของวิศวกรรมการจัดการ เป็นองค์ความรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นที่ผ่านมา SIIT จึงได้มีการปรับและพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและสังคม
ศ.ดร.พฤทธา กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันเทรนด์ของการศึกษาในช่วงหลังโควิด-19 ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษามีการปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ให้กับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่ต้องปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน โดยในส่วนของ SIIT ได้มีการลงทุนปีละกว่า 15 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงห้องเรียนเดิมให้มีความเหมาะสมและสามารถรองรับวิธีการเรียนรู้แบบใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงได้ เช่น จากที่เป็นลักษณะนั่งจดเลคเชอร์ ก็ปรับให้สอดรับกับการเรียนแบบ Active Learning ที่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น รวมทั้งรองรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นรูปแบบออนไลน์ และไฮบริดที่ผสมผสานการเรียนการสอน ทั้งรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ได้
ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ที่มีความสนใจหลักสูตรการวิเคราะห์ธุรกิจและห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงหลักสูตรอื่นๆ ของ SIIT ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรี ในปีการศึกษา 2566 ระหว่างวันที่ 25 พ.ย. - 25 ธ.ค. 2565 โดยนักเรียนสามารถสมัครได้ทั้งแบบยื่นแฟ้มสะสมผลงาน และยื่นคะแนนสอบ โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.siit.tu.ac.th หรือ www.facebook.com/siittu
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมอุตุฯพยากรณ์อากาศ 24 ชม. ทั่วประเทศอากาศเย็นลง ‘กทม.’ ต่ำสุด 18 องศาฯ
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศไทยตอนบน
ช่วงท้ายรณรงค์ปีใหม่ ยอดอุบัติเหตุ 2,322 ครั้ง เสียชีวิต 393 ราย บาดเจ็บ 2,251 คน
ศปถ. ย้ำจังหวัดเข้มการตั้งจุดพักรถและจุดบริการประชาชน กำชับดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกประชาชนในห้วงวันสุดท้ายของการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างเต็มกำลัง
อันตรายที่ต้องระวัง! ‘ดร.สนธิ’ อธิบายทำไมช่วงนี้อากาศเย็น ท้องฟ้าแจ่มใส แต่แดดแรง
มวลอากาศเย็นหรือความกดอากาศสูงได้แผ่ขยายจากแผ่นดินใหญ่ประเทศจีนลงสู่ประเทศไทยทำให้ประเทศไทยมีอา กาศหนาวเย็นขึ้น
ต้นปี 'ดอกประทัดดอย' บานสะพรั่งบนดอยภาคเหนือ
กรมอุทยานฯ ชวนนักท่องเที่ยว สัมผัสความงดงามดอกประทัดดอย บานสะพรั่งรับต้นปี ที่จะพบได้บนดอยพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น
รัฐบาลชวนประเมินจิตใจหลีกเลี่ยงเผชิญอาการซึมเศร้า
รัฐบาลเชิญชวนประเมินจิตใจผ่านเว็บไซต์ “www.วัดใจ.com” แนะ 4 แนวทางหลีกเลี่ยงเผชิญอาการ “ซึมเศร้าหลังปีใหม่ (New Year Blues)”
หนาวจริงมาแล้ว ‘เสรี’ ชี้วันที่ 6 กทม. อุณหภูมิต่ำสุด 15 องศา
รศ. ดร. เสรี ศุภราทิตย์ · ผู้อำนวยการ ที่ ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ระบุว่า #สวัสดีหลังปีใหม่สภาพอากาศหนาวเย็นช่วงแรก 5-6-7 มกราคมนี้