กลาโหม ตรวจความพร้อมหอประชุมกองทัพเรือ จัดเลี้ยงอาหารค่ำรองรับผู้นำเอเปก

14 พ.ย.2565 - เวลา 15.00 น. พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม และคณะเดินทางไปตรวจความพร้อมของ หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) อย่างเป็นทางการแก่ ผู้นำเขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือ เอเปก 2022 (APEC 2022) . ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565

โดยมี พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้การต้อนรับ โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ ได้รับฟังการบรรยายสรุปการเตรียมความพร้อม ณ ห้องวิไชยประสิทธิ์ 3 พร้อมทั้งตรวจความเรียบร้อยของพื้นที่จัดงาน ก่อนรับชมการสาธิตการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ การส่งกลับสายแพทย์ทางบกและทางน้ำ การปฏิบัติเมื่อเกิดอัคคีภัยภายในหอประชุมกองทัพเรือ และการเคลื่อนย้ายฉุกเฉินทางน้ำ

ในระหว่างวันที่ 17 ถึง 19 พฤศจิกายน นี้ ประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือ เอเปก 2022 (APEC 2022) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ งานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) อย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ กองทัพเรือ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการจัดเตรียมหอประชุมกองทัพเรือ สำหรับงานเลี้ยงอาหารค่ำรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุม รวมถึงการรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ ทั้งทางบกและทางน้ำ ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและคู่สมรสร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) ที่หอประชุมกองทัพเรือ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน

การรักษาความปลอดภัยทางน้ำในพื้นที่ทางน้ำบริเวณโรงแรมที่พักผู้นำเขตเศรษฐกิจที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา หรือพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติม รวมทั้งจัดทำแผนการเคลื่อนย้ายบุคคลสำคัญทางน้ำและแผนการส่งกลับสายแพทย์ทางน้ำกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน สนับสนุนท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา สำหรับให้เครื่องบินพิเศษหรือเครื่องบินสำรองของผู้นำเขตเศรษฐกิจ จอดตามแต่จะได้รับการประสาน การจัดแพทย์ พยาบาล รถพยาบาล ห้องฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการปฏิบัติการด้านการแพทย์และการส่งกลับสายการแพทย์ รวมทั้งจัดกำลังพล ชุดปฏิบัติการ ยานพาหนะ ยุทโธปกรณ์ สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ตามที่ได้รับการประสาน เพื่อสนับสนุนการจัดประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความปลอดภัยสูงสุด

โดยมี ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ทำหน้าที่เป็นหน่วยควบคุม อำนวยการ สั่งการ และติดตามการปฏิบัติงานในการรักษาความปลอดภัยและการจราจรในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ และพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายในภาพรวมทั้งทางบกและทางน้ำ ของหน่วยต่าง ๆ ที่กองทัพเรือ ได้จัดตั้งขึ้น ประกอบด้วย หน่วยรักษาความปลอดภัยทางบก หน่วยเรือรักษาความปลอดภัยทางน้ำ กองกำลังปฏิบัติการพิเศษกองทัพเรือ หน่วยปฏิบัติการลำเลียงขนส่ง หน่วยปฏิบัติการทางการแพทย์ รวมถึงหน่วยอื่น ๆ ที่กองทัพเรือมอบหมาย

สำหรับความเป็นมาของการจัดสร้างหอประชุมกองทัพเรือ เกิดจากการประชุมเอเปก โดยในปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยได้รับเกียรติ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เอเปก 2003 เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุม รัฐบาลในขณะนั้น จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 ให้กองทัพเรือจัดเตรียมสถานที่สำหรับการจัดการจัดเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ จำนวน 21 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม

ในพื้นที่ของกรมสารวัตรทหารเรือ ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง พร้อมกันนี้ยังได้สร้างอาคารราชนาวิกสภาหลังใหม่เชื่อมต่อกับอาคารราชนาวิกสภาหลังเก่า เพื่อใช้เป็นสถานที่ชมการแสดงขบวนพยุหยาตราชลมารค และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วได้มอบอาคาร และสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้กองทัพเรือดำเนินการในเชิงพาณิชย์ โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานในโอกาสต่าง ๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมานอกจากการประชุมในครั้งนั้น หอประชุมกองทัพเรือ ได้เคยเป็นสถานที่จัดงานสำคัญต่าง ๆ อาทิ

- งานชุมนุมพบปะสังสรรค์ คณะผู้บริหารจาก องค์การ ผู้บริหารระดับสูงของโลก (WPO) ในปี พ.ศ.2548 การประชุมสุดยอดผู้นำพระพุทธศาสนาแห่งโลก ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2548
- งานเลี้ยงต้อนรับสาวงามที่เข้าร่วมการประกวดนางงามจักรวาล (Miss Universe) 2005 พ.ศ.2548
-เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระราชกรณียกิจ 60 ปี เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ.2549
- งานประชุมสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ.2549
- งานสโมสรสันนิบาต พ.ศ.2551

ทั้งนี้ อาคารหอประชุมกองทัพเรือ มีแนวความคิดในการวางผังบริเวณอาคาร คือ การเปิดพื้นที่โล่งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งเสริมทัศนียภาพขององค์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และสร้างความสง่างามแก่พื้นที่ตั้ง รวมทั้งตัว อาคารหอประชุมกองทัพเรือ ได้ออกแบบเพื่อวัตถุประสงค์หลัก สองประการ คือ ใช้ในภารกิจหลักของกองทัพเรือ สำหรับการจัดประชุมรูปแบบต่าง ๆ ขณะเดียวกันที่สำคัญให้มีความพร้อมและความสมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อรองรับการจัดงานเลี้ยง และรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการประชุมเอเปก 2003 รวมถึงการประชุมเอเปก 2022 ในครั้งนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กเล็ก' ยันกองทัพไม่ได้อ่อนแอ รัฐบาลสั่งก็พร้อม ลั่นรบว้าแดงไม่ยาก แต่ผลกระทบเกินเยียวยา

พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทยเมียนมา กรณีพื้นที่ที่มีการพิพาทเกิดขึ้นกับกลุ่มว้าแดงในขณะนี้ ว่า ประเด็นนี้ไม่ขอลงรายละเอียด

'ภูมิธรรม' ห่วง 4 ลูกเรือไทย สั่งดูแลครอบครัว 'บัวแก้ว' นัดเจรจาเมียนมา 19 ธ.ค.

'ภูมิธรรม' ห่วงลูกเรือคนไทย 4 คน ที่ถูกคุมตัวอยู่จังหวัดเกาะสอง สั่งเร่งประสานช่วยเหลือครอบครัวใกล้ชิด ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ นัดหารือฝ่ายเมียนมา 19 ธ.ค.นี้

'ภูมิใจไทย' ยึดหลัก การเมืองไม่แทรกแซงกองทัพ ชี้เอาเวลาไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจดีกว่า

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง กรณีนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ คณะเตรียม เสนอร่างพรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม

ยึดอำนาจกองทัพ ‘หัวเขียง’ ยันหากรัฐบาลคุมทหารได้ไร้รัฐประหาร

"ประยุทธ์" เอา "หัวเขียง" เป็นประกัน หากร่างจัดระเบียบท็อปบูตประกาศใช้ ประเทศไทยจบแล้ว ไม่มีรัฐประหาร! ลั่นต้องยึดอำนาจกองทัพ ให้ ครม.มีส่วนทำคลอดโผทหาร

'ดร.ณัฏฐ์' ชำแหละร่างพรบ.จัดระเบียบกลาโหม ไม่ช่วยสกัดยึดอำนาจได้

"ดร.ณัฏฐ์" มือกฎหมายมหาชน เผย ร่าง พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ลับลวงพราง ทำให้ทหารของพระราชาอยู่ภายใต้พลเรือน ฟันธงไม่สามารถแก้ปัญหายึดอำนาจได้

'เพื่อไทย' ลั่นยึดอำนาจท็อปบูท ให้ครม.ร่วมจัดทำโผแต่งตั้ง ปลดบิ๊กทหารหากได้กลิ่นรัฐประหาร

นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำส.ส.พรรคเพื่อไทย ในการเสนอร่างพรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงเหตุผลในการเสนอร่างพรบ.ดังกล่าวเข้าสภาฯ