สสส. ผนึก 19 ภาคีเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ลงนาม MOU แก้ปัญหาซื้อ-ขายสินค้าไม่ปลอดภัยในตลาดออนไลน์ ผุด 21 ข้อตกลง ดึงผู้ให้บริการเป็นต้นทางสกัดผลิตภัณฑ์อันตราย
15 พ.ย. 2564 – สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ และภาคีเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐและเอกชน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์
โดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การทำธุรกิจออนไลน์เป็นการทำตลาดตรงกับผู้บริโภค ดังนั้นรูปแบบการสื่อสาร การโฆษณาชวนเชื่อ จึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภค และผู้บริโภคไม่สามารถเห็นหรือสัมผัสสินค้าได้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ที่สำคัญผู้ซื้อไม่สามารถรู้ตัวตนที่แท้จริงของผู้ขาย ถือเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภคที่อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย การลงนามในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในการยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไทยไปสู่มาตรฐานสากล
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายและการใช้ที่ไม่เหมาะสมจากการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากการโฆษณาเกินจริง ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านตลาดออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภค ปี 2562 โดยศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคผู้บริโภคด้านสุขภาพ พบผู้บริโภค มีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพทางออนไลน์ถึงร้อยละ 21.6 โดยซื้อเครื่องสำอางมากที่สุด ร้อยละ 78.0 รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ร้อยละ 47.2 ที่สำคัญพบมีการสั่งซื้อยาที่ผิดกฎหมาย เช่น ยาแผนปัจจุบัน ยาลดความอ้วน ยานอนหลับ มากถึงร้อยละ 15.9 ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 เนื่องจากเป็นการซื้อขายยานอกสถานปฏิบัติการ ถือเป็นปัญหาที่นำไปสู่การผลกระทบต่อสุขภาพและสูญเสียค่าใช้จ่ายของประชาชน
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ครั้งนี้ ถือเป็นพันธสัญญาความร่วมมือในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาที่เกิดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายในตลาดออนไลน์ โดย สสส. มุ่งเป้าพัฒนาระบบที่ทำให้ประชาชนซื้อขายสินค้าที่ปลอดภัย มีแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ อาทิ ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ต้องไม่ยินยอมให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรืออาหารที่ไม่ปลอดภัย ผลิตภัณฑ์ที่เคยถูกยกเลิก หรือเพิกถอนทะเบียน หรือสั่งห้ามจำหน่าย พร้อมประกาศเตือนภัยผู้บริโภค เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีประวัติกระทำผิดซ้ำ รวมถึงจัดให้มีช่องทางการรับแจ้งกรณีพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ปลอดภัยในตลาดออนไลน์ และดำเนินการปิดกั้นไม่ให้เกิดการซื้อขายสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดกลไกประชาชนดูแลประชาชน มุ่งให้ประชาชนสามารถปกป้องตัวเองและสังคมได้
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การร่วมกันทำข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ฉบับนี้ มี 21 ข้อ อาทิ ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ปฏิบัติต่อผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม โดยจัดทำระบบตรวจสอบร้านค้า สินค้า หรือบริการ ก่อนยินยอมให้มีการขายสินค้าหรือบริการนั้น ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ให้ความสำคัญกับการร้องเรียนของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคสำหรับการซื้อ-ขายทางของออนไลน์ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ รวมถึงความปลอดภัยทางเศรษฐกิจดิจิตอลในอนาคตและช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ซึ่งขอบคุณ เจดี เซ็นทรัล ลาซาด้า แอลเอ็นดับเบิลยู บิวตี้นิสต้า แอสเชนด์ คอมเมิร์ซ ที่เข้าร่วม
นางสาวอภิญญา ตันทวีวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ภายหลังสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา ก็ยังพบว่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคไม่ได้รับการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ทำให้ยังมีการหลอกลวงคุณสมบัติเกินจริงเพื่อสร้างยอดขาย ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามคำโฆษณา สินค้าเสียหายก่อนถึงมือ รวมไปถึงปัญหาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว ดังนั้นถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ องค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและองค์กรภาคเอกชน ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์และหน่วยงานของรัฐด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จะมาร่วมมือกันในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า ภารกิจสำคัญที่ ETDA คือส่งเสริมให้การทำธุรกรรมทางออนไลน์ของประเทศมีความมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ ผู้ใช้บริการเกิดความเชื่อมั่น ผลักดันให้เกิดร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC พร้อมจัดทำแนวปฏิบัติการกำกับดูแลกันเองระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ประกอบการที่ใช้ตลาดออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้อย่างทันสถานการณ์มากที่สุด ซึ่งได้จากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน จนนำมาสู่การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ โดยแนวปฏิบัติที่ถูกระบุใน MOU เช่น ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะต้องมีการปฏิบัติต่อผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม จำหน่ายสินค้าและบริการ ยึดมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ แสดงราคาอย่างโปร่งใส และบันทึกประวัติการซื้อขายอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการแจ้งร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ โฆษณาเกินจริง สอบถามได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 084-652-4607, 089-788-9152 หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เว็บไซต์ www.consumerthai.org หรือแจ้งปัญหาการซื้อขายออนไลน์ สายด่วน โทร.1212 และเว็บไซต์ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ www.1212occ.com.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รณรงค์ "กินให้หมดจาน" 50ร้านต้นแบบช่วยลดขยะ
รู้หรือไม่?!?..... มีสถิติระบุว่า ขยะอาหารโลกพุ่งกว่า 1 พันล้านตัน ภาพขยะกองสูงเป็นภูเขาที่รอฝังกลบ กว่าครึ่งคือขยะอาหาร คนไทยเพียงคนเดียวผลิตขยะสูงลิ่ว 146 กก./คน/ปี
“รองนายกฯ ประเสริฐ” สั่งเดินหน้าคุมเข้มลดเจ็บ-ตายปีใหม่ เฝ้าระวัง “นักซิ่งเยาวชน” หลังพบดื่มแล้วขับ “เจ็บ-ตาย” เฉลี่ยชั่วโมงละ 3 คน เล็งเชื่อมข้อมูลทำระบบ “ใบสั่งออนไลน์”
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร
สสส. ทำถึง กวาด 14 รางวัลสื่อสาร จากแอด พีเพิล อวอร์ส 2567 ผ่าน 5 ผลงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม “Walk Stadium” “หมวกกันน็อกคืนชีพ” “แอร์ล้างได้ปอดล้างไม่ได้” “พวงเครื่องปรุงจิ๋ว” “การเดินทางของบุหรี่”
น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้รับรางวัลแอด พีเพิล อวอร์ส 2567
ต่อยอด! ติดอาวุธสมองป้องกัน ความเสี่ยงภัยบนโลกไซเบอร์
ผลสำรวจปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต