'กรณ์' ฝากการบ้าน 'ภูเก็ต' 3 ข้อ บี้ 'ครม.สัญจร' เร่งตอบโจทย์เศรษฐกิจท่องเที่ยว

15 พ.ย. 2564 – นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เปิดเผยว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้ใช้ชีวิตในภูเก็ต สิ่งที่น่าดีใจคือนักท่องเที่ยวเยอะขึ้น ป่าตองเริ่มคึกคัก และจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการชาวภูเก็ตหลากกลุ่มและหลายวงสนทนา เราเห็นตรงกันว่าภูเก็ตคือเมืองแห่งศักยภาพของประเทศไทยที่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกได้สบายๆ ซึ่งหมายความว่าคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของคนภูเก็ต รวมถึงรายได้เข้าประเทศโดยรวม ดีกว่านี้ได้อีกมาก เวลานี้หลายปัญหาของภูเก็ตรอการแก้ไข และส่วนใหญ่อุปสรรคมาจากระบบราชการที่ช้าและไม่ยืดหยุ่นตามบริบทที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่

นายกรณ์ กล่าวว่า ภูเก็ตน่าจะเป็นเมืองที่รวบรวมจำนวนคนที่รอบรู้และเข้าใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไว้มากที่สุดในโลก และไม่มีใครหวังดีต่ออนาคตคนภูเก็ตมากเท่าคนภูเก็ต ดังนั้นเมื่อคนที่รู้ บวกกับคนที่ใส่ใจเป็นคนภูเก็ต แล้วทำไมการกำหนดยุทธศาสตร์และการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับภูเก็ตยังอยู่ที่อำนาจส่วนกลางที่กรุงเทพ ดังนั้นเมื่ออำนาจยังรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพ การประชุม ครม. สัญจร วันที่ 15-16 พฤศจิกายน จึงยังมีความสำคัญต่ออนาคตภูเก็ต มีหลายเรื่องที่ตนขอเป็นกระบอกเสียงแทนคนภูเก็ตไปถึงรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนและรีบตัดสินใจ เพื่อช่วยให้ “เฮือกสุดท้าย” ของผู้ประกอบการในภูเก็ตไม่สูญเปล่า

โดยหัวหน้าพรรคกล้า ได้ยก 3 ข้อเรียกร้องที่ฝากไปถึงรัฐบาล ได้แก่ 1.ปัญหาใบอนุญาตโรงแรม ที่กำลังทำให้ธุรกิจที่พักขนาดเล็กหมดแรงและกำลังจะตายไป ตอนนี้ในเว็บไซต์การจองโรงแรมมีโรงแรมในภูเก็ตเปิดขายห้องพักมากกว่า 1 หมื่นแห่ง แต่ที่มีใบอนุญาตถูกต้องนั้นไม่ถึง 800 แห่ง ทั้ง ๆ ที่โรงแรมขนาดเล็กคือท่อลำเลียงทำให้เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวกระจายเงินออกไปในวงกว้าง เพราะนักท่องเที่ยวที่พักในโรงแรมเล็กๆ คือกลุ่มที่ออกมาขึ้นรถโดยสาร เรียกแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก กินข้าวตามร้านอาหาร ซื้อทัวร์ ใช้บริการนวดและสปา หลายธุรกิจจะมีโอกาสสร้างรายได้และไปต่อ รัฐบาลควรเร่งออกมาตรการให้โรงแรมขนาดเล็กสามารถเปิดได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่เป็นหัวใจของการสร้างรายได้จากท่องเที่ยว มีโอกาสการสร้างรายได้ และให้โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนในการฟื้นฟูธุรกิจอีกด้วย

2.การเข้าถึงแหล่งทุน ที่ยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ระเบียบหลายอย่างไม่ยืดหยุ่นพอกับสถานการณ์จริง เช่น เนื่องจากในช่วงโควิด ไม่มีรายได้ ไม่มี statement ทำให้ยื่นกู้ soft loan ไม่ได้ หลายธุรกิจยอมตาย และอีกหลายคนกำลังจะตายตามไป จึงขอเสนอให้มี ’กองทุนเฉพาะ’ ซึ่งตนขอเรียกว่า Restart Phuket Fund ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาทำธุรกิจได้ เพราะการที่โรงแรมหรือธุรกิจต้องปิดมาหลายเดือน ค่าใช้จ่ายที่จะกลับมาเปิดคือภาระต้นทุนที่สูงมาก กองทุนนี้จะเป็นอีกช่องทางที่จะกระจายเงิน soft loan จากแบงก์ชาติที่มีเงินเหลือแต่เข้าถึงยากเกินไป ให้ไปถึงมือผู้ประกอบการเพื่อกลับมาฟื้นฟูธุรกิจอีกครั้ง ยืนยันว่าเงินยังมีและอยู่ในอำนาจของรัฐบาลที่จะทำได้ ตอนนี้ช้าไปมากแล้ว ไฮซีซั่นนี้คือโอกาสสุดท้าย ที่รัฐบาลต้องเร่งมือ

3.ระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบรางและโครงข่ายถนนที่มีการพูดคุยศึกษากันมาหลายสิบปี สร้างความผิดหวังและสับสนให้คนภูเก็ตมาตลอด อยากให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตของภูเก็ตในอนาคตอันใกล้นี้ อย่าให้ประเด็นการเมือง หรือความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองทำให้การพัฒนายืดเยื้อไปอีก เราช้าไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข รวมไปถึงปัญหาขยะที่จะต้องทำให้ภูเก็ตเป็นกรีน ซิตี เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขและตัดสินใจลงทุน เพื่อนำภูเก็ตไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งในส่วนของเอกชนภูเก็ตนั้นมีความพร้อมเป็นอย่างมากในการลงทุนและมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาเมือง ผู้บริหารประเทศต้องตามให้ทันและมองภาพรวม อนาคตของภูเก็ตไม่ใช่แค่คนภูเก็ตได้ประโยชน์ เพราะนอกจากเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศในฐานะ world-class destination แล้ว ภูเก็ตเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่กระจายรายได้และโอกาสไปยังพื้นที่ใกล้เคียงและแรงงานจากนอกพื้นที่อีกนับแสนคน ภูเก็ตเป็นเป็นทั้งภาพลักษณ์และขุมพลังทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ผมขอฝาก ครม.สัญจร ไว้ให้ตั้งใจพิจารณาโครงการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งให้ภูเก็ตอย่างเร่งด่วน” หัวหน้าพรรคกล้า ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' ยอมรับแล้ว! ดอดพบ 'อันวาร์' บนเรือยอชต์กลางทะเล

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวสะพัดขึ้นเรือยอชต์จาก จ.ภูเก็ต ไปเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เพื่อพูดคุยกับนายอันวาร์ อิบราฮิม

รัฐบาลคาดเที่ยวบินช่วงปีใหม่ทะลุ 1.8 หมื่นเที่ยวบิน

รัฐบาลเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบิน คาดมีเที่ยวบินรวมกว่า 1.8 หมื่นเที่ยวบิน เฉลี่ย  2,611 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 14% จากปี 67