กสม.บี้ สธ.กำชับสถานพยาบาลห้ามตรวจเชื้อเอชไอวีก่อนรับทำงาน!

กสม.แนะกระทรวงสาธารณสุขกำชับสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนงดเว้นการตรวจหาเชื้อเอชไอวีบุคลากรก่อนรับเข้าทำงาน!

03 พ.ย.2565 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ แจ้งว่ามีผู้เสียหายรายหนึ่งได้สมัครทำงานกับบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งประกอบกิจการสถานพยาบาลในตำแหน่งพนักงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยในประกาศรับสมัครงานไม่ได้ระบุห้ามรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus :HIV) เข้าปฏิบัติงาน แต่เมื่อผู้เสียหายทดลองปฏิบัติงานในแผนกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยประมาณครึ่งวันและเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้เสียหายสามารถปฏิบัติงานได้จึงให้เขียนใบสมัครและกรอกเอกสารยินยอมให้ตรวจสุขภาพ ซึ่งผู้เสียหายทราบจากเจ้าหน้าที่ระหว่างการเจาะเลือดว่าจะมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วย ซึ่งในการตรวจสุขภาพ แพทย์ได้ระบุในหนังสือรายงานผลการตรวจว่าผู้เสียหายสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ แต่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทผู้ถูกร้องได้ปฏิเสธการรับผู้เสียหายเข้าปฏิบัติงานโดยให้เหตุผลว่าบริษัทผู้ถูกร้องไม่มีนโยบายรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าปฏิบัติงาน เนื่องจากต้องใกล้ชิดผู้ป่วย และเมื่อผู้เสียหายไปตรวจร่างกายที่สถานพยาบาลบริษัทผู้ถูกร้องอีกครั้ง และแพทย์ยังคงระบุความเห็นว่าผู้เสียหายสามารถปฏิบัติงานได้ตามความเห็นของคณะกรรมการบริหารและพัฒนาบุคลากร ผู้เสียหายจึงนำเอกสารดังกล่าวไปยื่นที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลอีกครั้งเพื่อขอให้ทบทวนการพิจารณา แต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด และเห็นว่าการกระทำของบริษัทผู้ถูกร้องเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จึงมีหนังสือขอให้มูลนิธิฯ ร้องเรียนแทนต่อ กสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระเบียบ ข้อกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้การรับรองและคุ้มครองว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่อง สภาพทางกายหรือสุขภาพหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ ขณะที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) รับรองว่าทุกคนมีสิทธิในการทำงาน รวมทั้งสิทธิในการหาเลี้ยงชีพโดยงานที่ตนเลือกหรือรับอย่างเสรี

จากการตรวจสอบรับฟังได้ว่าบริษัทผู้ถูกร้องได้ให้ผู้เสียหายตรวจหาเชื้อเอชไอวีจริง ซึ่งถือว่าบริษัทไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2552 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 และถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ แต่ภายหลังคณะกรรมการบริหารของบริษัทได้รับทราบปัญหาและเข้าใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้วจึงได้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีและแบบฟอร์มที่มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงานทุกกรณี ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าบริษัทผู้ถูกร้องได้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้สมัครงานและยกเลิกแบบฟอร์มที่มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วยแล้ว กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว กสม. จึงเห็นควรยุติเรื่อง

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่ยังคงมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้สมัครงานหรือนำเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีมาประกอบการพิจารณาตำแหน่งงาน ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลของกรมควบคุมโรคและสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวีจะเห็นว่าบุคคลที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นโรคเอดส์ไม่สามารถส่งต่อเชื้อต่อบุคคลอื่นหากขาดปัจจัยเรื่องปริมาณและคุณภาพของเชื้อ รวมช่องทางการติดต่อซึ่งเชื้อจะต้องส่งผ่านจากผู้ติดเชื้อไปยังอีกคนหนึ่งโดยตรงเข้าสู่กระแสเลือดเท่านั้น เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และจากแม่สู่ลูก อีกทั้งการปฏิบัติงานในสถานพยาบาลจะต้องปฏิบัติตามหลักการ Universal Precaution หรือการระมัดระวังป้องกันตนเองของบุคลากรทุกคนให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อด้วยอยู่แล้ว เช่น การใช้ถุงมือ ผ้าปิดปากและจมูก เสื้อคลุม เครื่องป้องกันตา และการทำความสะอาดมือ รวมทั้งการป้องกัน การบาดเจ็บจากการถูกเข็มตำทั้งในผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

ดังนั้น การที่สถานพยาบาลหลายแห่งยังให้ผู้สมัครงานต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีแสดงให้เห็นว่ายังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมา กสม. ได้เคยมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อบุคคลที่ติดเชื้อเอชไอวีหลายกรณีแล้ว ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อเน้นย้ำให้มีการแก้ไขปัญหาในภาพรวมด้วยอีกทางหนึ่ง โดยเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานมีหนังสือขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศปฏิบัติงานให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ และประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและการบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการโดยเคร่งครัด รวมถึงปรับปรุงแบบฟอร์มการตรวจร่างกายในผู้สมัครงานให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันและแจ้งเวียนเพื่อให้หน่วยงานนำไปใช้ต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปลาหมอคางดำ'ต้องเป็นศูนย์ ก่อนนิเวศย่อยยับ

จากสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย   ซึ่งปลาหมอคางดำมีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ประเทศไทยเองมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเมื่อปี 2553  ซึ่งวงจรปลาหมอคางดำขยายพันธุ์รวดเร็ว ทุกๆ 22 วัน

กสม. ชี้ตร.ปล่อยให้มีการถ่ายภาพ-คลิปเด็กกราดยิงในห้างฯเผยแพร่ในโซเชียล ละเมิดสิทธิ

กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้มีการถ่ายภาพและคลิปวิดีโอของเด็กผู้ก่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการละเมิดสิทธิฯ

'พีระพันธุ์' ข้องใจนำกัญชากลับสู่ยาเสพติด 'คนเดียวกันพูดคนละอย่างได้อย่างไร' จี้ป.ป.ส.แจง

'พีระพันธุ์' ข้องใจ นำกัญชากลับเข้าสู่บัญชียาเสพติด 'คนเดียวกันพูดคนละอย่างได้อย่างไร' เล็งให้ ป.ป.ส.แจง หลังนโยบายชักเข้าชักออก ขอคุยก่อนประชุม ย้ำต้องอธิบายให้ได้

“สมศักดิ์” เห็นชอบตั้ง “ชาญเชาวน์” อดีตปลัดยุติธรรม จับมือหน่วยงานเกี่ยวข้องปราบบุหรี่ไฟฟ้า กวดขัน “ห้ามพกพา-สูบ” ในสถานที่ราชการ สนามบิน

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1

“พิพัฒน์” ยกคุณภาพแรงงานฟาร์มสุกร ใช้แนวปฏิบัติสากล (GLP) มุ่งเพิ่มโอกาสการค้าในตลาดโลก

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนาม MOU

สปส. เสริมแกร่งนักประชาสัมพันธ์ประกันสังคม สร้างการรับรู้ ดูแลสวัสดิการผู้ประกันตนให้ทั่วถึงรวดเร็ว

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพนักประชาสัมพันธ์ของสำนักงานประกันสังคม โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์