สมาคมแพทย์นิติเวชฯ ให้ความรู้กรณีเบียดกันตายในกรุงโซล มี 3 องค์ประกอบ

31 ต.ค.2565 - เพจเฟซบุ๊ก สมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความกรณีโศกนาฏกรรมอิแทวอน เกาหลีใต้ ว่า แค่เบียดกันทำไมเสียชีวิต?

จากเหตุโศกนาฎกรรมที่ #อิแทวอน ทำให้เกิดการเสียชีวิตจากการเบียดเสียดของคนจำนวนมาก การแค่เบียดเสียดหรือล้มทับกันทำให้เกิดการขาดอากาศและเสียชีวิตได้อย่างไร

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกลไกการหายใจของร่างกายเสียก่อน กล้ามเนื้อในการหายใจจะทำให้กระดูกซี่โครงยกขึ้นเพื่อขยายขนาดของทรวงอกออกและกล้ามเนื้อกระบังลมลดตัวลง ทำให้ทรวงอกขยายตัวขึ้น ความดันในช่องอกลดลงต่ำกว่าความดันอากาศภายนอกดูดอากาศจากภายนอกผ่านทางจมูกและทางเดินหายใจเข้ามายังปอด และเมื่อจะหายใจออกขนาดของทรวงอกจะลดลง กล้ามเนื้อกระบังลมลดตัวลงทำให้ความดันในช่องอกเพิ่มขึ้นดันอากาศจากภายในปอดออกสู่ภายนอก

การเบียดเสียดกับคนจำนวนมาก หรือมีสิ่งของกดทับบริเวณทรวงอกหรือช่องท้องจะทำให้ทรวงอกถูกกดทับตลอดเวลา ส่งผลให้ความดันภายในช่องอกสูงกว่าความดันอากาศภายนอก อากาศไม่สามารถไหลเข้าสู่ปอดได้

นอกจากนี้เลือดดำที่ไหลจากศีรษะก็ไม่สามารถเข้าสู่หัวใจได้เนื่องจากความดันในช่องอกสูงกว่า เลือดแดงที่ไหลไปที่ศีรษะจึงลดลงเพราะความดันในหลอดเลือดที่ศีรษะเพิ่มมากขึ้น ออกซิเจนในเลือดจึงไม่สามารถส่งไปยังเซลล์สมองได้

หากการกดทับเกิดเป็นเวลานานมากพอก็จะทำให้เซลล์สมองขาดอากาศและเสียชีวิตได้ และการมีสิ่งกดทับทำให้กล้ามเนื้อหายใจต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อใช้มากทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้าและเกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้

Motumura T. และคณะได้ทดลองในอาสาสมัครหญิงโดยการถ่วงน้ำหนักกดทับที่หน้าอกและหน้าท้องพบว่า การถ่วงน้ำหนักที่หน้าอก 10 กก. นานประมาณ 45 นาทีทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้ หากเพิ่มเป็น 20 กก.จะทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้ภายใน 14 นาที

และถ้าเป็นการถ่วงน้ำหนัก 20 กก.ที่หน้าอกและหน้าท้องจะทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้ภายใน 2 นาที

และจากการศึกษาของ Elliott D. พบกว่าแรงคน 6-7 คนเมื่อออกแรงดันไปในทิศทางเดียวกันสามารถทำให้เกิดแรงได้ถึง 4,500 N ซึ่งแรงขนาดนี้สามารถทำให้เหล็กงอได้

การศึกษาของ Zhen W. และคณะ ได้ศึกษากลไกการเกิดการเบียดเสียดกันจนเสียชีวิตว่ามี 3 องค์ประกอบคือ
• ความหนาแน่นของฝูงชน ซึ่งจะมีความหนาแน่นของฝูงชนสูงหรืออยู่ในสถานที่ที่จำกัด
• ความตื่นตกใจของฝูงชน ฝูงชนจะมีความตื่นตระหนกในเหตุการณ์
• การเคลื่อนไหว ฝูงชนมีความพยายามที่จะเคลื่อนที่ต่อไปทำให้มีการอัดแน่นของฝูงชน

การป้องกัน ในด้านสภาพแวดล้อมควรมีการออกแบบกิจกรรมและสถานที่ให้มีการไหลของฝูงชนเกิดได้ต่อเนื่อง ในสถานที่ปิดควรมีช่องทางออกฉุกเฉินให้เห็นได้เด่นชัด เป็นต้น

ในส่วนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมควรศึกษาเส้นทางในพื้นที่ที่จัดกิจกรรม โดยเฉพาะช่องทางออกฉุกเฉิน ควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนที่เข้าไปในหมู่ฝูงชนจำนวนมากโดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นพื้นที่จำกัด เป็นต้น

สมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทยขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์ที่อิแทวอนทุกท่าน และขอให้ทุกคนในสังคมได้ตระหนักและเฝ้าระวังถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมที่มีการรวมผู้คนจำนวนมาก

เอกสารอ้างอิง
1. Motomura T, Matsumoto H, Yokota H, Suzuki M, Nishimoto T, Ujihashi S. Thoracoabdominal compression model of traumatic asphyxia to identify mechanisms of respiratory failure in fatal crowd accidents. Journal of Nippon Medical School. 2019 Dec 15;86(6):310-21
2. Elliott, D, Smith, D. Football stadia disasters in the United Kingdom: learning from tragedy? Ind Environ Crisis Q. 1993;7:205–229.
3. Zhen W, Mao L, Yuan Z. Analysis of trample disaster and a case study–Mihong bridge fatality in China in 2004. Safety Science. 2008 Oct 1;46(8):1255-70.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.ณัฏฐ์-นักกม.มหาชน ชี้ 'กฎอัยการศึก' สส.ไทยไม่สามารถยกเลิกได้ แตกต่างจากเกาหลีใต้

“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน เผย กฎอัยการศึกสถานะเป็นพระราชบัญญัติ การยกเลิกในประเทศเกาหลีใต้กระทำโดยมติสภา แตกต่างจากประเทศไทย สส.ตัวแทนประชาชน ไม่สามารถยับยั้งยกเลิกได้ 

อดีตบิ๊กข่าวกรองยก 'เกาหลีใต้โมเดล' หากไม่อยากมีรัฐประหาร การเมืองต้องสะอาด!

นายนันทิวัฒน์ สามารถอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง ”เกาหลีใต้โมเดล“ ระบุว่าค่ำคืนที่ผ่านมาเกาหลีใต้ประกาศใช้กฏอัยการศึก เหตุผลที่ประธานาธิบดีชี้แจงคือ

'รังสิมันต์' สบช่องโหนแดนกิมจิบอกไทยถ้าประกาศกฎอัยการศึกควรขอสภาก่อน!

'โรม' บอกเรื่องเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึก เป็นเรื่องภายในประเทศ มองเทียบไทยถ้าประกาศควรขอความเห็นสภา ชี้หลักการสำคัญทั่วโลก ทหารต้องอยู่ใต้พลเรือน

​'เอกนัฏ' ​ไม่กล้าคอมเมนต์ปม​เกาหลีใต้

'เอกนัฏ'​ ไม่ขอลงความเห็นปม​เกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึก​ หวั่นกระทบความสัมพันธ์​ระหว่าง​ประเทศ​ บอก​ คิดอย่างเดียวทำอย่างไรให้เป็นโอกาสของประเทศไทยมากกว่า