'เอ็นจีโอใต้' โวย 'กรมประมง' ปัดข้อเสนอประมงพื้นบ้าน จี้ออกกม.เฉพาะ-ควบคุมอวนลากคู่

นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย โวย'กรมประมง'กล่าวหาข้อเสนอประมงพื้นบ้านไม่มีเหตุผล ชี้มีการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนมาแปรรูปไม่ต่ำกว่าสามแสนตัน หากมีโอกาสโตเต็มวัยจะสร้างมูลค่าเพิ่มนับแสนล้านบาท ไทยได้รับใบเตือนจากสหภาพยุโรป แนะออกกฎหมายเฉพาะ เร่งควบคุมเครื่องมืออวนลากคู่

23ต.ค.2565 - นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้

"ข้อเสนอประมงพื้นบ้านไม่มีเหตุผล เสนอมาแบบ "กำปั้นทุบดิน" ในสายตา ตัวแทนกรมประมง"

สืบเนื่องจาก เมื่อ กรกฎาคม 2565 กรมประมงได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ว่า จะประกาศ ปลาทู และ ปูม้า นั้น ดอกเตอร์ปวโรจน์ ตัวแทนกรมประมงมาชี้แจงเมื่อวันที่ 29กันยายน 2565 ว่า เหตุผลของประมงพาณิชย์ มีมากกว่าประมงพื้นบ้าน และของประมงพื้นบ้าน เสนอ ห้วนๆ ...

ผมฟังแล้ว....เศร้าใจและ หมดอาลัยตายอยาก จริงๆ

ผมจำได้ว่า พูดกัน สารพัด ทั้งวาจาและ เอกสาร กลายเป็น ไร้ราคา ไม่ถูกบันทึก ไม่ถูกหยิบยก มาเป็นสาระให้ระดับนโยบายได้ รับรู้เลยทั้งสิ้น แถม ยัง ทำลายความชอบธรรม ด้วยการกล่าวหา ว่า "ไม่มีเหตุผล" พูดห้วนๆ "กำปั้นทุบดิน"

ผมขอเล่า ทุกท่าน บางส่วน และช่วย บอกผมหน่อยว่า นี่ เรามีเหตุผลหรือไม่ กำปั้นทุบดินหรือเปล่า ครับ
วันนั้นเราเสนอทั้งวาจา และเอกสาร เพิ่มเติม ในการหารือ กรณีขอให้รัฐบาลประกาศมาตรการคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ให้เห็น สถานการณ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ผลกระทบ และเหตุผล ประกอบ (เพิ่มเติมจากเอกสารหลัก) ต่อ พลตำรวจโท ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ ถึง พล.อ.ประวิตร อีกฉบับ ดังนี้

๑) เราเขียนว่า "อาหารทะเลจากการประมงไทยยังเป็นอาหารโปรตีนที่ได้รับความนิยมและมีมูลค่าสูงขึ้นทุกวัน ปัจจุบันผู้บริโภคเข้าถึงอาหารทะเลสดๆ ได้ยากมากขึ้น ราคาสูงจนผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางเข้าถึงได้ยาก เด็กๆ และครอบครัวในพื้นที่ห่างไกลจากทะเล แทบไม่มีโอกาสทานอาหารทะเลสดหรืออาหารทะเลมีคุณภาพ ในขณะที่ผู้ผลิตแบบรายย่อย (ชาวประมงพื้นบ้าน) ไม่ได้มีรายได้สูงหรือคุณภาพชีวิตสูงขึ้นมากนัก

เมื่อพิจารณา ผลผลิตสัตว์น้ำทะเลไทยมวลรวม ณ ปี ๒๕๖๓ คงอยู่ในระดับ ๑,๔๗๒,๐๐๙,๐๐๐ กิโลกรัม (หนึ่งพันสี่ร้อยเจ็ดสิบสองล้านเก้าพันกิโลกรัม) และใน ปี ๒๕๖๔ เท่ากับ ๑,๒๙๙,๕๑๘,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันสองร้อยเก้าสิบเก้าล้านห้าแสนหนึ่งหมื่นแปดพันกิโลกรัม) แต่ผลผลิตที่ใช้เป็นอาหารผู้บริโภคได้จริงมีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ โดยในปริมาณผลการจับทั้งหมดมีปลาเป็ดในอัตราประมาณเฉลี่ย ๒๕ – ๓๐% ซึ่งเป็นสัตว์น้ำคุณภาพต่ำถูกป้อนเข้าโรงงานอาหารสัตว์

ในปริมาณปลาเป็ดทั้งหมดมีการปนเปื้อนสัตว์น้ำเศรษฐกิจสูงมากขึ้น ดังตัวอย่างจากกรณีผลการจับของอวนลากคู่ พบว่ามีอัตราผลการจับรวมของอวนลากคู่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนปีล่าสุด (พ.ศ.๒๕๖๔) อวนลากคู่จำนวน ๕๖๒ คู่ แต่มีผลการจับสูงเกือบ ๓๐% (คือ ๓๔๖,๕๙๓ ตัน) ของผลการจับรวมของทั้งประเทศ และในผลการจับดังกล่าวพบว่า มีปริมาณการจับปลาเป็ดโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๔ (ประมาณ ๑๙๖,๒๔๑ ตัน ในปี ๒๕๖๔)

๒) เราเสนอว่า นอกจากการปนเปื้อนของสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนในกองปลาเป็ดแล้วยังพบว่า มีการทำประมงแบบตั้งใจจับเอาสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน เพื่อนำมาแปรรูปวางขายในตลาดผู้บริโภคโดยตรง และมีคุณภาพสัตว์น้ำต่ำ ราคาถูก ในรูปแบบและชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป เช่น “ปลาทูแก้ว” (ตัวอ่อนของปลาทู , “หมึกกะตอย (ตัวอ่อนของหมึกกล้วยปะปนอยู่มาก), “ปลากรอบทั้งตัว” (ตัวอ่อนของปลาอินทรี,ปลาจาระเม็ด,ปลาหลังเขียว,ปลาข้างเหลือง,ปลาสีกุน ฯลฯ) หรือที่มีราคาสูงอย่าง “ปลาข้าวสาร” (ตัวอ่อนของกะตัก) ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่ง ที่จะมีผลกระทบต่อระบบโครงสร้างอาหารทะเลโดยตรงเช่นกัน

๓) เราเสนอว่า หากคำนวณมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะต้องสูญเสียจากการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในทั้งสองรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น และคาดว่ามีปริมาณการปนเปื้อนของสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมกันไม่ต่ำกว่าสามแสนตัน หรือ ๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ กิโลกรัม (สามร้อยล้านกิโลกรัม) โดยมีมูลค่าเฉลี่ย กิโลกรัมละ ๕ – ๑๐ บาท หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณหนึ่งพันห้าร้อยล้านถึงสามพันล้านบาทเท่านั้น แต่หาก “สัตว์น้ำวัยอ่อน” เหล่านั้นได้มีโอกาสโตเต็มวัย จะมีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มได้นับ “แสนล้านบาท” สร้างรายได้ให้ประเทศไทยและลดภาวะความยากจนลง รวมทั้งจะเพิ่มโอกาสให้ครอบครัวผู้บริโภคทั่วไปได้เข้าถึง “อาหารทะเลที่มีคุณภาพ” มากขึ้น

๔) เราเสนอข้อมูล ตัวอย่าง ว่า “ปลาทู” เป็นหนึ่งในตัวอย่างอาหารทะเลไทยที่กำลังหายไปอย่างน่าตกใจ จากที่เคยเป็นเมนูอาหารคู่ครัวไทยยอดฮิตอย่าง “น้ำพริกปลาทู” เราเคยมีผลผลิตการจับ “ปลาทูเต็มวัย” ปีละหนึ่งแสนกว่าตัน โดยปีก่อนหน้านั้น และจนถึง ปี พ.ศ.๒๕๕๗ มีการจับปลาทูได้ ๑๒๘,๘๓๕ ตัน และปริมาณ “ปลาทู” ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๕๘ ลดลงเหลือ ๔๘,๕๒๒ ตัน, ในปี ๒๕๖๑ จับได้ ๑๑,๒๙๐ ตัน, ในปี ๒๕๖๒ จับได้ ๒๔,๓๗๔ และจับได้เหลือเพียง ๑๘,๔๓๖ ตัน เท่านั้น ในปี ๒๕๖๓ ในทางกลับกัน เรากลับพบ “ตัวอ่อนปลาทู” รวมถึง “ตัวอ่อนของอาหารทะเลอื่น ๆ” วางขายในห้างและตลาดต่าง ๆ เกลื่อนกลาด

และเราสรุปผลกระทบต่อสังคม ว่า ... เมื่อสถานการณ์โดยรวมของอาหารทะเลไทยยังอยู่ในภาวะเช่นนี้ ประชาชนส่วนใหญ่จึงยิ่งมีโอกาสเข้าถึงอาหารทะเลที่มีคุณภาพยิ่งน้อยลงตามลำดับและจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ประชากรส่วนใหญ่มีโอกาสเข้าถึง “ได้แค่อาหารทะเลราคาปานกลางหรือคุณภาพต่ำ” หรือ “ผ่านการบดแปรรูปเป็นชิ้นก้อน” รวมทั้งไม่มีหลักประกันความปลอดภัยในคุณภาพอาหารทะเลมากขึ้น เนื่องจากพบการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายต่อสุขภาพจำพวกสารฟอร์มอลีนเพื่อรักษาความสด มากขึ้น จนมีปรากฏเป็นอาการแพ้อาหารทะเลในผู้บริโภคในที่สุด โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริง ใด ๆ เลย

๖) เรา ยังโยงให้เห็นความเชื่อมโยงว่าต่อระดับโลกว่า ปี ๒๕๕๘ ประเทศไทยได้รับคำเตือนเป็นใบเตือนจากตลาดอย่างสหภาพยุโรป ให้แก้ไขปัญหาการประมง ที่ “ผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานข้อมูล และไร้การควบคุม” ในคำเตือนดังกล่าวมีรากฐานความคิดในการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนและรับผิดชอบ ลดการทำลายล้างทรัพยากรทะเลลง และส่งเสริมการบริโภคอาหารทะเลที่ปลอดภัยของกลุ่มประชากรของประเทศที่พัฒนาแล้วนั่นเอง หลังจากนั้นประเทศไทยได้มีนโยบายและมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ ออกมามากมาย เพื่อนำไปสู่การปลดใบเหลือง เช่นควบคุมจำนวนเรือประมงให้อยู่ภายใต้กฎหมาย ล้อคเรือประมงเถื่อน ให้โควต้าจับสัตว์น้ำแบบจำนวนวัน กำหนดปริมาณการจับรวมเป็นน้ำหนัก เป็นต้น จนสามารถปลดใบเหลืองของสหภาพยุโรปได้ในต้นปี ๒๕๖๒ และดำเนินการกิจกรรมทางการประมงเรื่อยมา

แต่ในทางกลับกันตัวเลขผลผลิตทางการประมงทะเลต่อปีลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือแค่หนึ่งล้านตันต้น ๆ และมีความน่าวิตกกังวลอย่างยิ่งในกรณีปลาเป็ดซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์น้ำประเภทที่ไม่เหมาะสมเป็นอาหารของคนยังคงถูกจับในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง โดยที่ฝ่ายบริหารประเทศยังไม่มีมาตรการออกมาควบคุมแต่อย่างใด และจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นหากยังไม่มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อน ตามมาตรา ๕๗ ในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘

ปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการกฎหมายและนโยบายภาครัฐ เพื่อกำหนดควบคุมการทำประมงในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ บุคคลที่มีสิทธิจับสัตว์น้ำ (ใบอนุญาตทำการประมง), มีการควบคุมเรือประมง, วิธีการทำการประมง, เครื่องมือประมง, เขตการประมง, การกำหนดช่องตาอวน, การประกาศปิดอ่าวฤดูวางไข่เพื่อป้องกันการจับแม่พันธุ์, ควบคุมปริมาณเรือประมง และอื่น ๆ มากมาย แต่ไม่สามารถทำให้สถานการณ์การจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนลดลง และกลับแย่ลงเรื่อย ๆ เห็นได้จาสถิติต่าง ๆ ที่กล่าวไปแล้ว

“การประกาศกำหนดขนาดของพันธุ์สัตว์น้ำทะเลและสัดส่วนที่เหมาะสมในการทำการประมง” ตามมาตรา ๕๗ จึงเป็นทางออกที่สำคัญ หากรัฐบาลยังอนุญาตให้จับสัตว์น้ำวัยอ่อนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ การจับสัตว์น้ำทะเลให้ได้จำนวนปริมาณน้ำหนักมากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงการเกิดผลกระทบต่อระบบวงจรอาหารสัตว์น้ำในระบบนิเวศทะเล และกระทบถึงโครงสร้างประชากรสัตว์น้ำในที่สุด

เราชี้ประเด็น สรุปว่า แม้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหา การลดปริมาณการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนสามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น ผู้จับ มีความตระหนัก และลดการจับตัวอ่อนสัตว์น้ำลง, ผู้ซื้อขาย (ตลาด) มีความตระหนักโดยช่วยมีนโยบายและลดการซื้อผลิตจากการประมงตัวอ่อนสัตว์น้ำลง , ผู้บริโภคมีความตระหนักและลดการบริโภคลง

แต่แนวทางที่สำคัญที่สุดคือ การกำหนดนโยบายและกฎหมายที่คุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นแนวทางที่สร้างการเปลี่ยนแปลง และน่าจะประสบความสำเร็จ เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณอาหารทะเลมีคุณภาพให้มากขึ้น ราคาอาหารทะเลลดลงระดับที่เหมาะสมสำหรับผู้บริโภคทั่วไป, ชาวประมงสามารถจับสัตว์น้ำอาหารทะเลได้มากขึ้น ง่ายขึ้น มีรายได้เหมาะสมกับการลงแรง , ตลาดอาหารทะเลสด แปรรูป และอุตสาหกรรมต่อเนื่องในระดับประเทศเองจะมีวัตถุดิบเพียงพอสามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศได้อย่างตรงจุด, ลดปัญหาความขัดแย้ง, ลดความยากจน บนหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) อย่างแท้จริง
และเสนอตัวมาตรการเร่งด่วน ว่า

๑.ขอให้รัฐบาลเห็นชอบให้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนําสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง พ.ศ. .... โดยอาจเริ่ม กำหนด ๒ ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความคืบหน้าในการดำเนินการมาแล้ว ได้แก่ ปลาทู - ลัง และปูม้า

๒. ต้องแก้ไขการทำประมงอวนลากคู่ เนื่องจากปัจจุบันมีผลการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน โดยอวนลากคู่มากที่สุด ในรูปของสัตว์น้ำพลอยจับ และมีความรุนแรงมากขึ้น มีผลต่อภาพรวมสถิติการจับสัตว์น้ำจากการประมงทะเลลดลง โดยปริมาณปลาเป็ด ที่อวนลากคู่จำนวนหลายคู่ จับได้ต่อรอบ เกือบ ๑๐๐% เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ไม่ใช่ปลาเป็ดแท้ เพราะใช้อวนที่มีช่องตาอวนขนาดเล็กและมีการซ้อนอวนก้นถุง

ในระหว่างรอกระบวนการออกประกาศ ตามมาตรา ๕๗ ควรมีมาตรการควบคุมเครื่องมืออวนลากคู่ ดังนี้
๑) กำหนดให้ใช้ช่องตาอวนขนาด ๔ นิ้ว ขนาดเดียวกันตลอดทั้งผืน
๒) กำหนดให้ประกอบอวนก้นถุงโดยใช้ตาอวนด้านขวาง เพื่อป้องกันไม่ให้อวนหนีบเข้าหากันขณะทำการประมง
๓) กำหนดไม่ให้มีการซ้อนอวนบริเวณก้นถุงหรือตลอดทั้งถุง
๔) กำหนดให้ทำประมงอวนลากคู่ห่างจากชายฝั่งทะเลที่ระยะ ๑๕ ไมล์ทะเล
๕) ส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องมืออวนลากคู่เป็นเครื่องมือชนิดอื่น
#กรมประมง #กำปั้นทุบดิน #สัตว์น้ำวัยอ่อน #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวประมงพื้นบ้านสงขลา ออกคราดหอยเสียบ สร้างรายได้งามช่วงฤดูมรสุม

ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนเก้าเส้ง ประกอบอาชีพคราดหอยเสียบขายรายได้ดีเลี้ยงครอบครัวได้ เป็นอิสระในช่วงฤดูมรสุมลมตะวันออกเฉียงเหนือ คลื่นลมเริ่มมีกำลังแรงหอยเสียบตัวโต น้ำหนักดี สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับครอบครัว

ประมงพื้นบ้านสงขลา อาศัยช่วงคลื่นลมไม่รุนแรง ออกจับปูม้ากำลังชุกชุม ขายได้ราคาดี

ที่ชายหาดบ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนบ้านบ่ออิฐนำเรือหลายลำออกไปทำการประมงอวนปูกลางทะเล เนื่องจากในช่วงนี้คลื่นลมไม่รุนแรงสามารถนำเรือออกไปทำการประมงได้

เกาะลิบงอ่วมหนักรอบ 30 ปี! คลื่นซัดเรือประมงล่ม 7 ลำ รีสอร์ทพัง ชาวบ้านเผยปีนี้ฝนมาเร็ว

ในพื้นที่เกาะลิบง หมู่ 5 บ้านหลังเขา ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เกิดเหตุมีเรือประมงพื้นบ้านล่มจำนวน 7 ลำ หลังเกิดฝนตกและลมพายุในทะเลฝั่งอันดามัน โดยนายอ่าสาน ค