'ชัชชาติ' จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย นอกเขตอนุญาต อย่าให้ลงมากินบนทางเท้า

"ชัชชาติ" สัญจรบุก "เขตสัมพันธวงศ์" ชี้เป็นแหล่งเศรษฐกิจ ปัญหาหลักเรื่องหาบเร่-แผงลอย พร้อมประสานตำรวจ-เทศกิจดูแลเข้มงวด ชู "ทราฟฟี่ฟองดูว์" เปลี่ยนการทำงานกทม. ใช้หลักสร้างความไว้ใจ

22 ต.ค.2565 - ที่สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้ได้มาผู้ว่าฯสัญจรที่เขตสัมพันธวงศ์ ที่มีขนาดเล็กที่สุดในกทม. แต่เป็นเขตที่สำคัญเพราะเป็นแหล่งเศรษฐกิจ อาทิ ย่านเยาวราช ตลาดน้อย รวมถึงแหล่งวัฒนธรรมท่องเที่ยวที่เป็นพหุวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งปัญหาหลักของเขตสัมพันธวงศ์คือ เรื่องการค้าขาย โดยเฉพาะเรื่องหาบเร่ แผงลอย ซึ่งปัจจุบันมีจุดผ่อนผันที่ กทม.อนุญาต 3 จุดได้แก่ ถนนเยาวราช ถนนราชวงศ์ และถนนข้าวหลาม ซึ่งพบผู้ค้าหาบเร่ออยู่นอกเขตอนุญาต 50 กว่าจุด ประมาณ 1,500 ราย นโยบายเราคงไม่ผ่อนผันมากขึ้น แต่ต้องจัดระเบียบให้ดี และจุดไหนจะเอาเข้าระบบต้องคุยกับทางตำรวจอีกครั้ง

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ได้เน้นย้ำกับทางเทศกิจให้เข้มงวดในการจัดจำนวนผู้ค้า ว่ามีใครลงทะเบียนในจุดผ่อนผันและห้ามให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ต้องดูแลให้ดี ส่วนจุดที่ยังไม่ได้มีการให้อนุญาต ที่อยู่ในการพิจารณา ต้องดูอย่างละเอียดเพราะกระทบกับหลายส่วน และดูระเบียบให้ดี อย่าให้ลงมากินพื้นที่บนทางเท้า ส่วนเรื่องพื้นที่สีเขียวในเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีพื้นที่สีเขียวน้อย มีสวนสาธารณะอยู่บ้าง จึงได้เน้นทำในพื้นที่ริมคลองผดุงเกษม หรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวในแนวดิ่งตามอาคาร อย่างน้อยก็ได้ดูดซับพวกฝุ่น หรือก๊าซมลพิษต่างๆ ส่วนเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่มีจุดอ่อนอยู่ 2 ส่วน คือ น้ำฝน บริเวณเยาวราชส่วนต้น ซึ่งอาจจะมีน้ำขังบ้าง โดยต้องมีการดูเรื่องการระบายน้ำ ดูเรื่องลอกท่อให้ครบถ้วน และ นำ้ทะเลหนุนกับน้ำเหนือ ที่บริเวณถนนทรงวาด ซึ่งตอนนี้ได้มีการดำเนินการทำเขื่อนเพิ่ม แต่ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพิ่มขึ้น

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาอื่นในเขต เช่น เรื่องนักท่องเที่ยว เพราะเขตดังกล่าวเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวเยอะ จึงได้ให้ตำรวจและเทศกิจร่วมมือกัน ตั้งจุดเพื่อประสานดูแลนักท่องเที่ยว ให้ข้อมูล ไม่ให้นักท่องเที่ยวโดยหลอกเรื่องค่าโดยสารหรือการซื้อของ เพราะสุดท้ายอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวที่ประเทศไทยมากขึ้น ส่วนโรงเรียนในพื้นที่มีแค่ 3 โรงเรียน นักเรียนประมาณ 300 กว่าคน ซึ่งไม่ได้เยอะ ส่วนศูนย์สาธารณสุขมีอยู่ 1 แห่ง ผู้ใช้บริการประมาณ 30-40 คนต่อวัน นอกจากนี้ทางเขตได้มีการเสนอ 2 เรื่องคือ อยากให้ทำที่จอดรถเพิ่มขึ้นเพราะ พื้นที่เขตปัจจุบันไม่มีที่จอดรถ และภายในเขตสัมพันธวงศ์มีที่จอดรถน้อย อาจจะต้องไปจอดตามวัดต่างๆ ซึ่งต้องวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าอีกครั้งหนึ่ง และเรื่องการทำทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นทางเดินขนาดเล็กๆ กว้างประมาณ 2 เมตร เพื่อให้เกิดการสัญจรเชื่อมโยงในเขต โดยข้อนี้อยู่ในนโยบายเรื่องความเชื่อมโยงเส้นเลือดฝอย เพราะฉะนั้นแนวคิดเราคืออยากจะทำแนวทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้ครอบคลุมมากขึ้น ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทั้งนี้ เป็นโครงการที่ต้องพิจารณาต่อไปในอนาคตด้วย

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า เรื่องแรงงานที่เข้ามาอยู่ตามชุมชน และต้องให้ชุมชนรายงาน เพราะแรงงานเข้ามาก็จะอยู่ในห้องเช่าต่างๆ ฉะนั้นทางเขตต้องมีข้อมูลดังกล่าวให้ละเอียดขึ้น และเราก็ต้องดูแลหมด ทางศูนย์สาธารณสุขก็ต้องให้บริการคนกลุ่มนี้ด้วย โดยตอนนี้เรามีโครงการอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชนที่กำลังเตรียมคัดเลือกคน และจะมีอาสาสมัครในแต่ละชุมชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้คอมพิวเตอร์เก่ง เก็บข้อมูลเพื่อรายงาน ก็จะทำให้มีเส้นเลือดฝอยที่ถ่ายข้อมูลมาที่ส่วนกลาง และจะทำให้เราเข้าใจสถานะของชุมชนได้ดีขึ้นได้

ส่วนประเด็นการแจ้งปัญหาผ่านระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ ในส่วนของเขตสัมพันธวงศ์ นายชัชชาติ กล่าวว่า ในเขตสัมพันธวงศ์มีประชาชนแจ้งปัญหาเข้ามาประมาณ 800 เรื่อง ทำไปแล้วประมาณ 600 เรื่อง ถือว่าทำได้ค่อยข้างดี ปัญหาส่วนใหญ่คือเรื่องการจราจร ซึ่งทราฟฟี่ฟองดูว์ เป็นตัวหนึ่งที่คิดว่าช่วยเปลี่ยนการทำงานของกทม.ได้เยอะ เพราะเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ทั้งกทม. มีประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามาทั้งหมดประมาณ 170,000 เรื่อง แก้ไขไปแล้วประมาณแสนกว่าเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนไว้ใจที่จะแจ้งปัญหามาให้เราแก้ และเราก็แก้ได้อย่างเร็ว ซึ่งคาดว่าปลายปีนี้ จะมีการแจกรางวัล เหมือนเป็นการประกวดเขตที่สามารถตอบสนองต่อทราฟฟี่ฟองดูว์ได้ดี ที่หมายถึงการดูแลประชาชน อาจจะมีการแบ่งกลุ่มตามลักษณะ เล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อให้เป็นขวัญ กำลังใจ ให้กับพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในเขต ที่ได้นำปัญหาจากทราฟฟี่ฟองดูว์ขึ้นมาแก้ปัญหา แต่ปัญหาบางเรื่องก็ไม่สามารถแก้ไม่ได้ทันที อย่างเช่น เรื่องจราจร ที่ประกอบด้วยหลายหน่วยงาน ต้องใช้เวลา แต่ปัญหาใดที่อยู่ในความสามารถของเรา เราแก้ไขทันที

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คน กทม. เกินครึ่งไม่เห็นด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด

นย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติด