'ก.น.บ.' ไฟเขียวกรอบนโยบาย พัฒนาภาค พ.ศ.66-70 ขับเคลื่อนการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ

นายกฯ ประชุม ก.น.บ. ไฟเขียวกรอบนโยบายและระบบการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ เห็นชอบนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ. 66-70 และเป้าหมาย แนวทางการพัฒนาภาคฯ ทั้ง 6 ภาค ขับเคลื่อนการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการสู่เป้าหมายแบบพุ่งเป้า

19 ต.ค.2565 - นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) ครั้งที่ 1/2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ร่วมกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมด้วย

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการประชุม ก.น.บ. ว่ามีความสำคัญเพื่อบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ในระดับต่าง ๆ เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดแนวทางการทำงานแบบพุ่งเป้าไปสู่เป้าหมายในพื้นที่ในแต่ละกลุ่มของประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากลำบาก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีการพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมโดยรวมอย่างยั่งยืน พร้อมกำชับถึงการทำงานเชิงพื้นที่ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องให้เกิดความชัดเจน โดยคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนในพื้นที่จะได้รับเป็นสำคัญ เกิดความคุ้มค่า และการบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง เพื่อไปสู่การทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

นายอนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการผลิตสินค้าและพืชผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ ต้องดำเนินการให้สอดคล้องและคำนึงถึงบริบทของสถานการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งรัฐบาลและทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการผลิตสินค้าต่าง ๆ ต้องให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์โลกร้อน รวมถึงการปลูกพืชต่าง ๆ ต้องดำเนินการในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้าจากการส่งออกสินค้าไทยไปยังต่างประเทศ รวมทั้งผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ในระดับต่าง ๆ และให้มีกลไกการทำงานที่เหมาะสม มีการบูรณาการในทุกภาคส่วน เน้นการทำงานแบบมุ่งเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายหลุดพ้นจากความยากจนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยในการบริหารงานเชิงพื้นที่จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้ และมีระบบติดตามประเมินผลที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับ รวมถึงความคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณ” นายอนุชา กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.กรอบนโยบายและระบบการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ 2.นโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ. 2566 – 2570 และเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ. 2566 – 2570 ทั้ง 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ เป้าหมายการพัฒนา เป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป้าหมายการพัฒนา เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ภาคกลาง เป้าหมายการพัฒนา เป็น “ฐานการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง” ภาคตะวันออก เป้าหมาย เป็น “ฐานเศรษฐกิจสีเขียวชั้นนำของอาเซียนควบคู่กับคุณภาพการดำรงชีวิตของประชาชนที่ดี” ภาคใต้ เป้าหมายการพัฒนา เป็น “แหล่งท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพ แหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและมูลค่าสูง เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค” และ ภาคใต้ชายแดน เป้าหมายการพัฒนา เป็น “ฐานเศรษฐกิจชายแดนที่มั่นคงบนสังคมพหุวัฒนธรรม”

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า 3.นโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำแผนของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 4. ปฏิทินการดำเนินงานภายใต้กลไก ก.น.บ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2567 5.แนวทางการสำรวจสินทรัพย์ระดับจังหวัด 6. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการด้านวิชาการ กฎหมาย และการบูรณาการแผนงานโครงการ โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน

นายอนุชา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 19 สิงหาคม 2565 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2565 เพื่อให้มีการรวมการบริหารงานจังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาคเข้าด้วยกัน เกิดการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการอย่างแท้จริง โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) แทนคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) และคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) เพื่อเป็นกลไลหลักในการทำหน้าที่กำกับให้การบริหารงานจังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาค มีการบูรณาการในการทางานร่วมกันอย่างแท้จริง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ธนกร' ยัน รทสช.แน่นปึ๊ก คนนั่งเก้าอี้ รมต.แทน 'กฤษฎา' ขึ้นอยู่กับ กก.บห.

'ธนกร' ยัน รทสช.แน่นปึ๊ก เดินหน้าทำงานเต็มที่ทั้งสภาและรัฐบาล เผย พรรคเตรียมจัดสัมมนาสส.12 พ.ค.นี้ มั่นใจ สมาชิกทุกคนรู้หน้าที่ ยึดประโยชน์ ประเทศชาติและปชช.เป็นหลัก ชี้คนนั่งเก้าอี้ รมต.แทน 'กฤษฎา' ขึ้นอยู่กับ กก.บห.พิจารณา

'บิ๊กตู่' ยิ้มแย้มแจ่มใส ร่วมงานสถาปนาครบรอบ 114 ปี กองทัพภาค 1

'พล.อ.ประยุทธ์' องคมนตรี เป็นประธานงานสถาปนากองทัพภาคที่ 1 ครบ 114 ปี สีหน้าแจ่มใส ทักทายสื่อ บอกสบายดี ขณะที่บิ๊กเหล่าทัพ-อดีตแม่ทัพภาค 1 ร่วมงานคึกคัก

'บิ๊กป๊อก' นั่ง รมว.มหาดไทย 9 ปี จนลง 3 ล้าน!

ป.ป.ช. เปิดทรัพย์สิน 'อนุพงษ์' รอบ 9 ปี มี 34 ล้านบาท ที่ดิน 6 แปลง 4.9 ล้าน บ้านพักตึก 2 ชั้น 5 ล้าน รถยนต์ 5 คัน 3.1 ล้าน มีนาฬิกาหรู 2 เรือน จักรยาน 2 คัน ปืน 21 กระบอก

'ก้าวไกล' แฉขบวนการฮั้วประมูลพลังงาน ต้นตอค่าไฟแพง บี้นายกฯ เบรกสัญญา

'ก้าวไกล' แฉขบวนการฮั้วประมูลนโยบายพลังงานรัฐบาล ‘กลุ่มทุนไอ้โม่ง’ อยู่เบื้องหลัง ทำค่าไฟแพง บี้นายกฯ ใช้อำนาจตรวจสอบทบทวน ยับยั้งเซ็นสัญญา

‘บิ๊กป้อม’ ถอยฉาก ส่งไม้ ‘บิ๊กป๊อด’ กลับ ‘หลังม่าน’ ป่ารอยต่อฯ

เป็นการปิดฉากยุค 3 ป. โดยบริบูรณ์ เมื่อ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เตรียมจะลาออกจากตำแหน่ง สส.บัญชีรายชื่อ ภายหลังน้องเล็ก ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และน้องรอง ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ประกาศวางมือทางการเมืองไปก่อนหน้านี้