ความเข้าใจผิดเรื่อง 'กัญชา' ที่หลายคนไม่ทันรู้!

14 ต.ค. 2565 – เพจ “ชมรมจิตเวชศาสตร์การเสพติด (TSAP)” โพสต์ข้อความในหัวข้อ “ความเข้าใจผิดเรื่องกัญชาที่หลายคนไม่ทันรู้หรือรู้ไม่เท่าทัน” โดยระบุว่า

ข้อมูลล่าสุดใน 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2562-2565) ของวารสารทางวิชาการและการแพทย์บ่งชี้ว่า กัญชาอาจไม่ได้มีประโยชน์ทางการแพทย์อย่างกว้างขวางอย่างที่เคยเชื่อกัน ในทางกลับกัน การใช้กัญชาอาจทำให้เกิดโทษต่อสุขภาพกายใจ และสังคมของมนุษย์มากกว่าที่เคยคิด โดยการศึกษาแบบทบทวนงานวิจัยขนาดใหญ่เชิงสังเคราะห์ (systematic review and meta-analysis) ที่เป็นรูปแบบการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในวงการวิชาการและการแพทย์ได้สรุปผลของกัญชา ดังนี้

1.การใช้กัญชาเพื่อทดแทนยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ เช่น มอร์ฟีน ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีอาการปวดร่วมด้วยนั้น ยังไม่สามารถสรุปผลได้อย่างแน่ชัด โดยการศึกษาแบบทบทวนงานวิจัยขนาดใหญ่เชิงสังเคราะห์ที่รวบรวมงานวิจัยเชิงทดลอง 5 เรื่องและงานวิจัยแบบเฝ้าสังเกต 12 เรื่อง ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2021 ได้สรุปว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์แทบจะไม่มีผลต่อการลดยาแก้ปวดลงอย่างมีนัยสำคัญ และสารในกัญชามีประโยชน์น้อยมากในการช่วยลดความปวดหรือบรรเทาอาการนอนไม่หลับในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีอาการปวดเรื้อรัง ในทางกลับกัน การใช้กัญชาในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนมากขึ้น (1) ทั้งนี้ ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่รวบรวมงานวิจัย 32 เรื่อง ซึ่งในตีพิมพ์ในปี 2021 ซึ่งได้รายงานผลไปในทางเดียวกัน โดยพบว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์มีผลการรักษาน้อยมากในส่วนของการบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง หรือบรรเทาอาการนอนไม่หลับ และกัญชาทางการแพทย์ไม่ได้ช่วยให้ประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ ของผู้ป่วยดีขึ้นทั้งในส่วนของอารมณ์ หรือบทบาททางสังคม และการได้รับกัญชายังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้แก่ เกิดการรับรู้และสมาธิบกพร่อง เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และเกิดอาการง่วงซึม (2)

2.การใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังร่วมด้วยให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างน้อย โดยการศึกษาแบบทบทวนงานวิจัยขนาดใหญ่เชิงสังเคราะห์ที่รวบรวมงานวิจัย 39 เรื่อง ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2022 ได้สรุปว่า สารแคนนาบินอยด์ในกัญชาช่วยให้การนอนดีขึ้นได้เพียงเล็กน้อยในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังที่ไม่ได้เป็นจากโรคมะเร็ง และผลการรักษาสำหรับการนอนจะน้อยลงไปอีกในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังที่เป็นผลจากโรคมะเร็ง ในขณะที่การได้กัญชาจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงได้มากมาย ได้แก่ เกิดอาการมึนงง ง่วงซึม ปากแห้ง อ่อนเพลีย และเกิดอาการคลื่นไส้ (3)

3.การใช้กัญชาในโรคทางจิตเวชนั้นไม่มีหลักฐานว่าจะมีประโยชน์ชัดเจน และพบว่าให้โทษมากกว่า โดยการศึกษาแบบทบทวนงานวิจัยขนาดใหญ่เชิงสังเคราะห์ที่รวบรวมงานวิจัย 83 เรื่องซึ่งตีพิมพ์ในปี 2019 ได้สรุปว่า ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากัญชาช่วยบรรเทาอาการของทางจิตเวชได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคสมาธิสั้น กลุ่มอาการ Tourette โรคสะเทือนขวัญจากการประสบเหตุการณ์รุนแรง (Post Traumatic Stress Disorder, PTSD) หรืออาการโรคจิต (4) แต่มีงานวิจัยขนาดใหญ่มากมายที่แสดงให้เห็นว่าการใช้กัญชาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวชชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการโรคจิต (psychosis) (5-7) เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าและความคิดอยากฆ่าตัวตาย (8-10) มีความสัมพันธ์กับการมีโรควิตกกังวลไปทั่ว (10) และโรควิตกกังวลกลัวสังคม (11) ทั้งนี้ การใช้กัญชาในวัยรุ่นยังทำให้ระดับสติปัญญาลดลงและเกิดความบกพร่องในการเรียนรู้ (12, 13) อย่างไรก็ตามการหยุดใช้กัญชาเป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ถึงหนึ่งเดือนจะทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของสมองกลับมาดีขึ้นได้ (14)

4.การใช้กัญชาเป็นประจำอาจมีผลต่อการก่อความรุนแรงทางกายขึ้นได้ เช่น ทำร้ายร่างกายผู้อื่น คุกคามทางเพศ เกิดการต่อสู้และการจี้ปล้น เป็นต้น โดยการศึกษาแบบทบทวนงานวิจัยขนาดใหญ่เชิงสังเคราะห์ที่รวบรวมงานวิจัย 30 เรื่อง ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2020 ได้รวบรวมกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นจำนวนกว่า 296,815 คน ผลการศึกษาพบว่า ผู้ใช้กัญชาอย่างหนักเป็นประจำมีความเสี่ยงที่จะก่อความรุนแรงทางกายเพิ่มเป็น 2.8 เท่า ส่วนผู้ที่ใช้กัญชาในปีที่ผ่านมามีความเสี่ยง 2.05 เท่า (15) โดยมีการศึกษาที่พบความเกี่ยวข้องของการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงจากการใช้กัญชาในกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเวชที่มีอาการรุนแรงเช่นกัน (16)

5.การใช้กัญชาทำให้ผู้ที่ใช้ริเริ่มจะใช้สารเสพติดชนิดอื่นในเวลาต่อมาได้ (gateway drug) โดยมีการศึกษาแบบทบทวนงานวิจัยขนาดใหญ่เชิงสังเคราะห์ที่รวบรวมงานวิจัย 6 เรื่องจากหลากหลายประเทศ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2022 ได้รวบรวมกลุ่มตัวอย่างกว่า 102,461 คน และได้รายงานข้อสรุปว่า ผู้ที่ใช้กัญชามีความเสี่ยงที่จะริเริ่มใช้สารเสพติดกลุ่มโอปิออยด์ (เช่น เฮโรอีน สารกลุ่มฝิ่น หรือยาแก้ปวด) ในเวลาต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 2.76 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้กัญชา และมีความเสี่ยงที่จะติดสารกลุ่มโอปิออยด์เป็น 2.52 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้กัญชา (17)

ดังนั้น บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการและการแพทย์ที่เผยแพร่ล่าสุด การใช้กัญชาทางการแพทย์จึงควรต้องอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังและได้รับการควบคุมโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด โดยควรมีการทบทวนถึงประสิทธิภาพและความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้กัญชาเพื่อการรักษาเป็นระยะว่าคุ้มค่ากับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ ภาครัฐควรออกมาตรการป้องกันไม่ให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และผู้มีโรคประจำตัวทางกายหรือทางจิตใจเข้าถึงการใช้กัญชาได้ด้วยตนเอง เนื่องจากอาจเกิดอันตรายจากการไม่ทันรู้หรือรู้ไม่เท่าทันความเสี่ยงที่จะเกิดจากการใช้กัญชาได้

เอกสารอ้างอิง

1.​Noori A, Miroshnychenko A, Shergill Y, Ashoorion V, Rehman Y, Couban RJ, et al. Opioid-sparing effects of medical cannabis or cannabinoids for chronic pain: a systematic review and meta-analysis of randomised and observational studies. BMJ open. 2021;11(7):e047717.

2.​Wang L, Hong PJ, May C, Rehman Y, Oparin Y, Hong CJ, et al. Medical cannabis or cannabinoids for chronic non-cancer and cancer related pain: a systematic review and meta-analysis of randomised clinical trials. Bmj. 2021;374.

3.​AminiLari M, Wang L, Neumark S, Adli T, Couban RJ, Giangregorio A, et al. Medical cannabis and cannabinoids for impaired sleep: a systematic review and meta-analysis of randomized clinical trials. Sleep. 2022;45(2):zsab234.

4.​Black N, Stockings E, Campbell G, Tran LT, Zagic D, Hall WD, et al. Cannabinoids for the treatment of mental disorders and symptoms of mental disorders: a systematic review and meta-analysis. The Lancet Psychiatry. 2019;6(12):995-1010.

5.​Kiburi SK, Molebatsi K, Ntlantsana V, Lynskey MT. Cannabis use in adolescence and risk of psychosis: Are there factors that moderate this relationship? A systematic review and meta-analysis. Substance abuse. 2021;42(4):527-42.

6.​Robinson T, Ali MU, Easterbrook B, Hall W, Jutras-Aswad D, Fischer B. Risk-thresholds for the association between frequency of cannabis use and the development of psychosis: a systematic review and meta-analysis. Psychological medicine. 2022:1-11.

7.​Hindley G, Beck K, Borgan F, Ginestet CE, McCutcheon R, Kleinloog D, et al. Psychiatric symptoms caused by cannabis constituents: a systematic review and meta-analysis. The Lancet Psychiatry. 2020;7(4):344-53.

8.​Gobbi G, Atkin T, Zytynski T, Wang S, Askari S, Boruff J, et al. Association of cannabis use in adolescence and risk of depression, anxiety, and suicidality in young adulthood: a systematic review and meta-analysis. JAMA psychiatry. 2019;76(4):426-34.

9.​Bolanis D, Orri M, Castellanos-Ryan N, Renaud J, Montreuil T, Boivin M, et al. Cannabis use, depression and suicidal ideation in adolescence: direction of associations in a population based cohort. Journal of affective disorders. 2020;274:1076-83.

10.​Onaemo VN, Fawehinmi TO, D’Arcy C. Comorbid cannabis use disorder with major depression and generalized anxiety disorder: a systematic review with meta-analysis of nationally representative epidemiological surveys. Journal of affective disorders. 2021;281:467-75.

11.​Single A, Bilevicius E, Ho V, Theule J, Buckner JD, Mota N, et al. Cannabis use and social anxiety in young adulthood: A meta-analysis. Addictive Behaviors. 2022:107275.

12.​Power E, Sabherwal S, Healy C, O’Neill A, Cotter D, Cannon M. Intelligence quotient decline following frequent or dependent cannabis use in youth: a systematic review and meta-analysis of longitudinal studies. Psychological medicine. 2021;51(2):194-200.

13.​Ajmera N, Collins PF, Weiss H, Luciana M. Initiation of moderately frequent cannabis use in adolescence and young adulthood is associated with declines in verbal learning and memory: A longitudinal comparison of pre-versus post-initiation cognitive performance. Journal of the International Neuropsychological Society. 2021;27(6):621-36.

14.​Krzyzanowski DJ, Purdon SE. Duration of abstinence from cannabis is positively associated with verbal learning performance: A systematic review and meta-analysis. Neuropsychology. 2020;34(3):359.

15.​Dellazizzo L, Potvin S, Dou BY, Beaudoin M, Luigi M, Giguère C-É, et al. Association between the use of cannabis and physical violence in youths: a meta-analytical investigation. American journal of psychiatry. 2020;177(7):619-26.

16.​Dellazizzo L, Potvin S, Beaudoin M, Luigi M, Dou BY, Giguère C-É, et al. Cannabis use and violence in patients with severe mental illnesses: A meta-analytical investigation. Psychiatry research. 2019;274:42-8.

17.​Wilson J, Mills K, Freeman TP, Sunderland M, Visontay R, Marel C. Weeding out the truth: a systematic review and meta-analysis on the transition from cannabis use to opioid use and opioid use disorders, abuse or dependence. Addiction. 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา 'ภท.' รุกคืบ! สัญญาณแข็งข้อกับ 'พท.' ชัดขึ้นเรื่อยๆ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ภูมิใจไทยงดออกเสียง พ.ร.บ.ประชามติ สัญญาณการแข็งข้อกับเพื่อไทย

เลขาฯปปส. เผยร่างกฎกระทรวง เพิ่มความเข้มข้นสกัดกั้นลักลอบขนกัญชาไปต่างประเทศ

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการสำนักงาน​คณะกรรมการ​ป้องกัน​และ​ปราบปราม​กยาเสพติด​ (ป.ป.ส.)​ ได้เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตผลิต

'อนุทิน' ยันรัฐบาลแพทองธาร เดินหน้า พ.ร.บ.กัญชา ภท. หนุน 'กาสิโน'

'อนุทิน' ยันรัฐบาลแพทองธาร 1 สานต่อนโยบายกัญชา เดินหน้า พ.ร.บ.ควบคุมใช้เฉพาะทางการแพทย์ หนุน 'เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์' สร้างรายได้ให้คนไทย

นายกฯ ยันนโยบายส่วนใหญ่สานต่อยุคเศรษฐา!

นายกฯ เผยได้ข้อสรุปนโยบายส่วนของเพื่อไทยวันนี้ ขณะพรรคร่วมฯทยอยส่งนโยบายรัฐบาลแล้ว เชื่อปมกัญชาไม่เป็นปัญหาคุยกันได้ ส่วน 'เพื่อไทย' ยังเหมือนเดิม แต่ปรับรายละเอียดดิจิทัลวอลเล็ตเล็กน้อย