สภาองค์กรผู้บริโภคจี้ก.ยุติธรรม ตรวจสอบบุคคลอ้างDSI บุกตรวจค้นองค์กรสมาชิก

สภาองค์กรของผู้บริโภค เรียกร้อง กระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบกรณีบุคคลอ้าง DSI บุกตรวจสอบองค์กรสมาชิก ระบุ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบั่นทอนกำลังใจคนทำงาน - ส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กร

12 พ.ย.2564- เนื่องจากเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา องค์กรสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ถูกบุคคลแสดงตนว่าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ สังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) ขอเข้าตรวจค้นโดยไม่ได้มีหนังสือหมายเชิญให้ถ้อยคำหรือขอให้ส่งเอกสารใด ๆ เพื่อตรวจสอบล่วงหน้า อีกทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้แสดงพฤติกรรมที่ สอบ. เห็นว่าอาจจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จึงได้ทำจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบกลับใด ๆ นั้น

เมื่อ เวลา 10.00 - 12.00 น. สอบ. และองค์กรสมาชิก ได้จัดแถลงข่าว ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค เรียกร้อง ยธ. ตรวจสอบกรณีบุคคลอาจอ้าง DSI บุกตรวจสอบองค์กรสมาชิก’

โดยบุญยืน ศิริธรรม ประธาน สอบ. กล่าวว่า สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก เป็นองค์กรแรกที่ถูกบุคคลแสดงตัวเป็นดีเอสไอเข้าไปตรวจค้น และหลังจากนั้นได้ทราบว่ามีองค์กรสมาชิกของ สอบ. ในหลายจังหวัด เช่น นครนายก ฉะเชิงเทรา ที่ถูกกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้าไปตรวจสอบอีก ซึ่งองค์กรที่ถูกตรวจสอบนั้นล้วนเป็นองค์กรที่ผ่านการรับรองจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) แล้วทั้งสิ้น

“เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น กรรมการในองค์กรที่ถูกตรวจสอบเกิดความเข้าใจผิดและไม่เข้าใจกัน หรือบางองค์กรยังถูกประชาชนหรือหน่วยงานในพื้นที่จับตามอง ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังทำให้องค์กรสมาชิกอื่น ๆ เกิดความตื่นตระหนกและรู้สึกไม่ปลอดภัยอีกด้วย” บุญยืนกล่าว

ด้าน สุภาวดี วิเวก หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ระบุว่า ตอนที่มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบ บุคคลเหล่านั้นไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานว่าการเข้ามาตรวจสอบในครั้งนี้มีที่ไปที่มาอย่างไร หรือใครร้องเรียน ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานประจำจังหวัดฯ จึงไม่ให้เข้าตรวจค้น และแจ้งกลับไปว่าหากต้องการตรวจต้องมีเอกสารการตรวจค้นมาด้วย บุคคลดังกล่าวจึงไม่ได้ข้อมูลกลับไป อย่างไรก็ตาม หน่วยประจำจังหวัดได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัยที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

ส่วน รี โฉมสำอางค์ ตัวแทนองค์กรผู้บริโภค จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ได้รับโทรศัพท์จากบุคคลที่แสดงตัวว่าเป็นดีเอสไอ โดยใช้วิธีสุ่มโทรศัพท์หากรรมการขององค์กรเพื่อเข้ามาสอบถามข้อมูล ซึ่งมองว่าไม่ใช่แนวทางปกติของหน่วยงานราชการที่ควรปฏิบัติ จึงตั้งข้อสงสัยถึงวิธีการปฏิบัติงานในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ องค์กรฯ ได้ดำเนินการแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้แล้วเช่นกัน เนื่องจากข้อมูลที่พูดคุยกันทางโทรศัพท์ มีข้อมูลส่วนตัวที่ควรจะเป็นความลับ

ด้าน อารีวรรณ จตุทอง นักกฎหมาย และ อนุกรรมการพิจารณาคดีของ สอบ. ระบุว่า ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ได้บัญญัติและให้อำนาจในการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษต้องเป็นคดีความผิดทางอาญาตามที่ระบุไว้ในมาตรา 21

(1) คดีที่มีความผิดทางอาญาตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้และที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งต้องมีลักษณะเป็นคดีอาญาที่มีความซับซ้อน หรือเป็นคดีอาญาที่มีผลกระทบรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ หรือเป็นคดีอาญาที่มีการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญหรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรมทหรือเป็นคดีอาญาที่มีผู้มีอิทธิพลเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือเป็นความผิดทางอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ต้องสงสัย

(2) คดีความผิดทางอาญาอื่นที่คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม อีกทั้งคดีดังกล่าวควรเป็นที่มีคดีสำคัญมีผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งองค์กรผู้บริโภคที่ถูกตรวจสอบกลับไม่เคยได้รับทราบข้อกล่าวหาว่าองค์กรได้กระทำความผิดอาญาใดที่เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ

นอกจากนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีพิเศษตามมาตรา 24 วรรคสอง (2) นั้นได้กำหนดหลักไว้ว่า การใช้อำนาจตามวรรคหนึ่ง (1) คือ การเข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้น ซึ่งนอกจากเจ้าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษต้องดำเนินการวิธีการค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว พนักงานสอบสวนยังต้องแสดงความบริสุทธิ์ก่อนเข้าค้น บันทึกเหตุสงสัยตามสมควรและเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้สามารถเข้าค้นได้ โดยให้เป็นหนังสือไว้แก่ผู้ครอบครองเคหสถานหรือสถานที่ค้น

อารีวรรณ กล่าวอีกว่า กรณียังไม่ทราบแน่ชัดว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมดีเอสไอได้ทำนั้นเป็นวิธีปฏิบัติราชการในการสืบสวนหรือสอบสวนหรือเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อตรวจสอบว่าสามารถเป็นคดีพิเศษและจะเตรียมขออนุมัติจากคณะกรรมการคดีพิเศษหรือไม่อย่างไรนั้น คงจะต้องสอบถามผู้บริหารของกรมด้วย เนื่องจากการลงพื้นที่ได้นั้นจะต้องมีการขออนุมัติการเดินทางไปราชการตามระเบียบข้าราชการ

“พฤติการณ์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงปฏิบัติต่อประชาชนควรต้องใช้ความระมัดระวังเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร และเรื่องในลักษณะเช่นนี้ สอบ. มีสิทธิเสนอให้กรมดีเอสไอตรวจสอบพฤติกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับวินัยข้าราชการพลเรือนทั่วไป หากพบว่าข้าราชการของกรมมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการติดต่อกับประชาชน” อารีวรรณ กล่าว

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. ระบุว่า สอบ. ทำจดหมายถึงดีเอสไอ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เพื่อให้ตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่ได้รับมอบหมายอำนาจมาหรือไม่ และเป็นการกระทำโดยชอบตามพระราชบัญญัติกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 หรือไม่ แต่กลับไม่ได้รับคำตอบ สอบ. จึงมีข้อเรียกร้องดังนี้

1.ขอให้กระทรวงยุติธรรม ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลดีเอสไอ ตรวจสอบและจัดการปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว เนื่องจากปัจจุบันยังมีองค์กรสมาชิกของ สอบ. ที่ถูกบุคคลที่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่อีเอสไอขอเข้าตรวจคนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบั่นทอนกำลังใจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ รวมถึงการทำงานขององค์กรสมาชิกของ สอบ. ด้วย

2. หากกรณีดังกล่าวเข้าข่ายประพฤติผิดวินัย ขอให้มีการดำเนินการตามวินัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3. ขอให้ทั้ง 2 หน่วยงานออกมาชี้แจงต่อสาธารณะถึงกรณีดังกล่าวเพื่อให้เกิดความกระจ่าง และเป็นการสร้างความยุติธรรมต่อองค์กรผู้บริโภคและสภาของผู้บริโภค

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทวี' สั่ง 'DSI' ตรวจสอบข้อเท็จจริง รื้อคดี 'แตงโม' ก่อนยื่นอัยการสูงสุดหรือไม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ขอให้กระทรวงยุติธรรม ทำหนังสือถึงอัยการ

'ดีเอสไอ' ประชุมใหญ่ สรุปสำนวนดิไอคอน ก่อนส่งอัยการ 23 ธ.ค.นี้

จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ

พยานฝั่งดิไอคอน ร้อง 'กมธ.ความมั่นคง' หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม

ผู้เสียหายและพยานที่ได้รับความเดือดร้อน จากการอายัดทรัพย์โดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความผิดที่ถูกกล่าวหา กรณี บริษัท ดิ ไอคอนกรุ๊ป เข้ายื่นหนังสือถึง นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ

กรมราชทัณฑ์ แจงยิบ ปมแก๊ง 'นาย ท.' หลอกรีดเงินร้อยล้าน

กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า กระทรวงยุติธรรม ได้รับเรื่องร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจาก นายปัญญา กับกลุ่มผู้เสียหาย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มีเจ้าหน้าที่รายใดมีส่วนให้การช่วยเหลือ และรู้เห็นเกี่ยวกับการที่ผู้ต้องขังรายนี้กระทำการหลอก

'เคนโด้-อี้' จี้ดีเอสไอ สอบบริษัทเครือข่ายขายซิม-รถยนต์ของ 'สามารถ' หลังยึดได้ 15 คัน

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)​ นายเกรียงไกรมาศ พจนสุนทร หรือ เคนโด้ และ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม