5 ต.ค.2565 - ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบันว่า จากเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ได้มีการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ซึ่งได้มีความเป็นห่วงกับสถานการณ์ของกทม. ทั้งนี้ นายกฯได้ระบุว่า เป็นห่วง และหากกทม.อยากจะได้อะไรหรือขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมอะไร ขอให้กทม.บอก ซึ่งทางเราก็ได้รับการอนุเคราะห์แล้วส่วนหนึ่ง และในวันเดียวกัน(3 ต.ค.) ที่มีฝนตกหนักทางหน่วยทหาร ก็ได้นำรถสูงออกมาช่วยประชาชน อีกประเด็นคือนายกฯ ต้องการให้เราทำงานแบบจับมือระหว่างกรมชลประทานและกระทรวงมหาดไทย และได้มีการประชุมกันถึงเรื่องการช่วยเหลือและเยียวยา
นอกจากนี้ กทม.ไม่สามารถบอกให้ใครทำงานที่บ้าน (เวิร์คฟรอมโฮม) ได้ เพียงแต่ขอความร่วมมือให้หน่วยงานยืดหยุ่นให้พนักงานกลับเร็ว เพื่อลดความแออัดบนท้องถนน เพราะสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เตือนว่าน้ำเหนือจะค่อยๆลงมาตั้งแต่วันนี้และสูงขึ้นในวันที่ 7-8 ต.ค. ซึ่งคาดว่าวันนี้ (5 ต.ค.) ฝนจะตกในภาคกลางและกทม.
ทั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งให้รายงานภาพจากกล้อง CCTV เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำทั้งก่อนและหลังฝนตก พร้อมให้สำนักประชาสัมพันธ์ กทม. แจ้งเตือนสภาพอากาศประชาชนให้กับประชาชนในเวลา 05.00 น. และ 15.00 น.
ด้านนายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. รายงานสถานการณ์น้ำว่า น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแนวเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 2,697 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนสถานีบางไทร น้ำไหลผ่าน 3,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจากการประสานงานกับกรมชลประทานจะเริ่มผลักดันน้ำไปทิศตะวันตกมากขึ้น ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ ยังสามารถรับน้ำได้ แต่น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เกินความจุ 106% แล้วซึ่งจะต้องระบายน้ำผ่านกทม. ขณะที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดในวันนี้ (5 ต.ค.) เวลา 18.03 น. ระดับฐานน้ำ +1.10 เมตร โดยเดือนต.ค. น้ำทะเลจะหนุนสูงสุดในวันที่ 8 ต.ค. ระดับฐานน้ำ +2.20 เมตร ถึงประมาณ 2.30 เมตร
สำหรับปริมาณฝนสะสมตลอดปี 2565 อยู่ที่ 1,979 มิลลิเมตร ส่วนปริมาณฝนสะสมในเดือนก.ย.อยู่ที่ 801 มิลลิเมตร ปริมาณฝนสะสมในเดือนต.ค. อยู่ที่ 60 มิลลิเมตร โดยกทม.เตรียมแผนรับมือน้ำเหนือและน้ำฝนไว้แล้ว จัดกระสอบทรายอุดจุดฟันหลอ 76 จุด เช่น ท่าเรือเทเวศร์ ถนนทรงวาด ท่าราชวรดิฐ เป็นต้น
สำหรับการเตรียมรับน้ำจากฝนนั้นปัจจุบันกทม.ได้เร่งลดระดับน้ำในคลองสายหลัก โดยใช้แผงบังคับทิศทางน้ำ อาทิ บริเวณคลองลาดพร้าวได้มีการใช้แผงบังคับน้ำให้น้ำไหลไปยังคลองบางซื่อ และคลองสามเสน ซึ่งระยะทางลงสู่เจ้าพระยาที่สั้นกว่า รวมถึงคลองบางเขนบริเวณจุดตัดคลองเปรมประชากร ก็ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮดรอลิกส์ขนาด 30 นิ้ว 2 เครื่อง เพื่อเร่งน้ำของคลองบางเขนให้เร็วขึ้น และสถานีสูบน้ำคลองพระโขนงซึ่งถึงแม้มีเครื่องสูบน้ำที่สามารถระบายน้ำได้ 155 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว แต่ก็ได้เพิ่มเครื่องสูบน้ำไฮดรอลิกส์เพิ่ม 5 เครื่อง เพื่อลดระดับน้ำในคลองแสนแสบและคลองประเวศบุรีรมย์
ส่วนสถานการณ์น้ำทะเลหนุนและน้ำเหนือที่คาดว่าจะมาพร้อมกันในช่วง 7-10 ต.ค. นายเจษฎา กล่าวว่า กทม.มีแผนทั้งบุคลากร และการรองรับโดยมีการเตรียมกระสอบทราย 2.5 ล้านใบ อุดจุดที่ฟันหลอตลอดแนว และเสริมคันกั้นสูงขึ้น 2.8-3.5 เมตร แต่ก็ยังมีข้อกังวลกรณีที่อาจเกิดแรงดันน้ำตามจุดอ่อนไหว จุดรอยต่อที่มองไม่เห็น ทางสำนักการระบายน้ำได้เตรียมชุดปฏิบัติการสำหรับเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ไว้แล้ว
นายเจษฎา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมาที่เกิดฝนตกหนัก เนื่องมาจากมีแนวร่องอยู่กลางกทม. จึงทำให้ฝนตกหนักถึง 100 มิลลิเมตร แต่วันนี้(5 ต.ค.) พยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แนวร่องนั้นหายไป เนื่องจากลมหนาวพัดลงมา หากให้คาดการณ์น่าจะเป็นบริเวณเขตด้านใต้ของกทม. ได้แก่ บางนา บางขุนเทียน ลาดกระบัง และประเวศ อาจมีฝนตกหนักเกิน 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง หรือฝนอาจตกทั่วกทม. จึงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
เมื่อถามว่า น้ำเหนือที่มีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ในอัตรา 3,500-4,000 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาทีนั้น นายเจษฎษา กล่าวว่า คงไม่น่าจะเป็นไปได้และมีการประสานงานกับกรมชลประทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมชลประทานจะเป็นผู้บริหารเบี่ยงน้ำไปทางซ้ายทางขวา ส่วนกทม.ได้เตรียมกระสอบทราย 2 ล้านใบ อุดแนวฟันหลอครบแล้ว ยืนยันว่า มีเพียงพอห่วงเพียงน้ำฝนที่จะกระทบกับประชาชน
ถามต่อว่า เคยเกิดเหตุน้ำล้นเกินกระสอบทรายในพื้นที่กทม.เมื่อปีที่ผ่าน นายเจษฎา กล่าวว่า จากเหตุการณ์ครั้งนั้นสำนักการระบายน้ำ ได้นำมาเป็นประสบการณ์ และเสริมกระสอบทรายให้หนาและแข็งแรงขึ้น ส่วนการเสริมกระสอบทรายตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาจากจุดรอยต่อจังหวัดนนทบุรี จนถึงรอยต่อจังหวัดสมุทรปราการ เสริมขึ้นไปสูงสุดจากเดิม +2.6 ม.รทก. ตลอดความยาว 3 กิโลเมตร ทั้งนี้ กทม. ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในจุดวางกระสอบทรายตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อาจจะมีการรั่วซึม หากน้ำทะเลหนุนสูงในบางช่วง โดยมีสถานีสูบน้ำ และเครื่องสูบน้ำตลอดแนว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฆษกศปช. เผยกรณี 'น้ำผุด' อ.เชียงดาว มอบหน่วยงานลงพื้นที่ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช. ได้เคยประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.ไปแล้วก่อนหน้านี้
PM2.5 มาแล้ว พบ ‘กทม.’ ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่
ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ พบเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ
อากาศเปลี่ยนแปลง ‘กทม.’ อุณหภูมิลดลง ‘เหนือ-อีสาน’ หนาวเย็น ‘ภาคใต้’ ฝนตก
พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว
ศปช. ส่งสัญญาณพื้นที่แล้ง 7 จังหวัด รีบกักเก็บน้ำในช่วง 16-18 พ.ย.นี้
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภููมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย