ชี้การตรวจหาสารเสพติดเหมาเข่งในการคัดเลือกทหารกองเกินฯ ละเมิดสิทธิมนุษยชน!

กสม.ชี้การตรวจหาสารเสพติดในการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ เมื่อปี 2561 เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ชี้ต้องทำแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่เหมาเข่ง

11 พ.ย.2564 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 7/2564 โดยมีวาระสำคัญ คือ ผลการตรวจสอบกรณีการบังคับตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยที่ กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กล่าวอ้างว่า เมื่อเดือนเมษายน 2561 ผู้ร้องได้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ณ จังหวัดอุดรธานี แต่เนื่องจากผู้ร้องเป็นบุคคลที่ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด จึงได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเมื่อกระบวนการตรวจเลือกทหารกองเกิน ฯ เสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองในฐานะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ได้แจ้งให้ผู้ร้องรวมถึงผู้เข้ารับการตรวจเลือกฯ ทุกราย เข้ารับการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ โดยผลการตรวจไม่พบสารเสพติด แต่ผู้ร้องเห็นว่า การตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจเลือกฯ ทุกรายในลักษณะเหมารวม โดยไม่จำแนกและตรวจตามเหตุอันควรสงสัย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ได้พิจารณากรณีดังกล่าวประกอบหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแล้วเห็นว่า การดำเนินการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจเลือกฯ ทุกรายของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในกรณีดังกล่าวเป็นไปโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 และมาตรา 58/1 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งมีสาระว่า ในกรณีที่จำเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติดในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่ ทั้งยังสอดคล้องกับประกาศสำนักงาน ป.ป.ส. ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามหนังสือสั่งการของ ศอ.ปส.ปค. ด่วนที่สุด ที่ มท 0311.3/ว 5766 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2561 เรื่อง การตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประจำปี 2561 และเป็นไปโดยอ้างอิง สถิติระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บ.ส.ต.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 - 2563 ที่ว่า บุคคลช่วงอายุ 20 - 24 ปี เป็นกลุ่มช่วงอายุที่มีการใช้ยาเสพติดและเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษามากที่สุด มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของผู้เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งหมด

กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อมูลดังกล่าว ไม่อาจถือได้ว่า มีเหตุอันควรในการสั่งการให้ผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ ทุกรายต้องตรวจหาสารเสพติด เนื่องด้วยกระบวนการเช่นนี้เป็นการดำเนินการในลักษณะเหมารวม โดยไม่จำแนกเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดเป็นผู้เสพยาเสพติด จึงถือว่าเป็นการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ร้องและผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ ทุกราย

ทั้งนี้ กสม.จะได้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตรวจหาสารเสพติดเป็นไปตามกฎหมายโดยเคร่งครัด และมีเหตุผลสมควรจำเป็นอันเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชน อันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย... การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกายจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ...” รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ซึ่งได้รับรองสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวไว้เช่นเดียวกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา

ที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​สิทธิมนุษยชน​แห่ง​ชาติ​ (กสม.)​ นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ

กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ

กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ

เปิดฉบับเต็ม! รายงานกสม. มัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วยทักษิณ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้อง      เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ 1โรงพยาบาลตำรวจที่ 2