กทม. เผยสถานการณ์น้ำปัจจุบันดีขึ้น พร้อม ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย 6 แขวง ย้ำไม่ได้ประกาศให้วิตก ชี้เกณฑ์เยียวยาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีอยู่เดิมมาก่อนแล้ว
15 ก.ย.2565 - ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกทม. พร้อมด้วย น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. และนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงสถานการณ์น้ำพื้นที่กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ว่า ขณะนี้พื้นที่กรุงเทพฯ น้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือแต่พื้นที่เขตลาดกระบัง กำลังเร่งระบายออกผ่านคลองแสนแสบ คลองพระโขนง และแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา หากฝนไม่ตกลงมาอีก คาดว่าไม่เกิน 7 วัน จะกลับเข้าสู่ปกติ โดยกทม. ได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย ทั้งทหารบก ทหารเรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กรมชลประทาน ในการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ กระสอบทรายและกำลังพลในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ขณะที่คลองเปรมประชากร ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ 0.78 ม. ซึ่งหากประชาชนจุดใดที่ยังมีน้ำท่วมขังให้แจ้งสำนักงานเขตดอนเมือง เพื่อทำการสูบน้ำออกลงคลองเปรมประชากรได้
ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้ ยังไม่น่ากังวล น้ำผ่านจุดวัดบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ 2,638 ลบ.ม./วินาที และน้ำขึ้นสูงสุดที่จุดวัดปากคลองตลาด อยู่ที่ระดับ 1.38 ม.รทก. โดยแนวคันป้องกันน้ำท่วมริมเจ้าพระยาสามารถรับได้ถึง 2.80 ม. ทั้งนี้ได้สั่งการให้ 17 เขตริมแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังระดับน้ำ พร้อมจัดเตรียมกระสอบทรายไว้ตามแนวคัน ขณะที่จุดฟันหลอ ริมเจ้าพระยา ได้เพิ่มแนวกระสอบทราย เป็น 2.50 ม. จากเดิม 2.25 เมตรแล้ว
สำหรับช่องทางการช่วยเหลือประชาชน มี 2 ช่องทาง ได้แก่ สายด่วน 1555 และแอปพลิเคชั่นทราฟฟี่ฟองดูว์ ซึ่งได้สั่งการให้นำข้อมูลมารายงานทุกวัน เพื่อส่งให้สำนักงานเขต ลงพื้นที่ไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างไรก็ตามเชื่อว่าสถานการณ์น้ำน่าจะดีขึ้น แต่ร่องความกดอากาศยังจะลงมาที่กทม.อีก ในเดือนต.ค. ดังนั้น กทม. จึงเตรียมพร้อมทุกด้าน โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการพร่องน้ำตามคลองต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือฝนที่จะตกด้วย
ด้าน น.ส.ทวิดา กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปรับให้ กทม.มีศูนย์กลางข้อมูล เพื่อสื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น ขณะเดียวกันสำนักการระบายน้ำ ได้ประสานกับ กรมชลประทาน อย่างใกล้ชิดและเต็มที่ เพื่อนำข้อมูลไปแจ้งสำนักงานเขต เพื่อให้สำนักงานเขต จัดเจ้าหน้าที่จากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.)และสำนักเทศกิจ (สนท.) ออกไปประจำจุดวิกฤตน้ำท่วม และจุดเสี่ยงต่างๆ ก่อนเกิดฝนตก พร้อมทั้งตั้งกองอำนวยการที่สำนักงานเขต 50 เขต และศูนย์บริหารจัดการข้อมูลสถานการณ์น้ำกรุงเทพมหานคร (วอลลูม) ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) เพื่อประสานงานและให้ความช่วยเหลือทุกด้าน ทั้ง การจราจร การขนย้ายประชาชน แจกอาหาร ถุงยังชีพ ยารักษาโรคดูแลผู้ป่วยติดเตียง การจัดตั้งศูนย์พักคอย สุขาเคลื่อนที่ ตลอดจนการเสริมความช่วยเหลือ โดยจัดทำสะพานไม้ และจัดทีมเข้าพื้นที่
น.ส.ทวิดา กล่าวต่อว่า ส่วนการช่วยเหลือเยียวยา ขณะนี้สำนักงานเขตกำลังทำข้อมูลทั้งหมดเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการประกาศพื้นที่สาธารณภัยเพิ่มเติม โดยยืนยันว่า ไม่ได้ประกาศพื้นที่สาธารณภัยเพื่อให้เกิดความวิตกแต่เพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติของกทม.ในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเดิม กทม.สามารถเยียวยาตามเกณฑ์ได้ แต่การประสานขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมในการประกาศเขตภัยพิบัตินั้น แม้จะได้รับการเยียวยา แต่ต้องไม่ซ้ำประเภทกัน
สำหรับกรณีที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงพื้นที่เขตลาดกระบังเมื่อวานนี้(14 ก.ย.) ช่วยทำให้การประสานงานเร็วขึ้นด้วยหรือไม่นั้น น.ส.ทวิดา กล่าวว่า การประสานงานกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่การมาเองของพล.อ.อนุพงษ์ เพื่อให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ ส่วนเกณฑ์เยียวยาไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นแต่มีอยู่เดิมมาก่อนแล้ว และก่อนหน้านี้ใช้ทรัพยากรของกทม.เป็นหลัก
ในขณะที่นายเอกวรัญญู กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.โดนวิพากษ์วิจารณ์เยอะพอสมควร จึงต้องชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น รวมถึงกรณีพื้นที่เขตลาดกระบัง กทม. ก็มีการดูแลมาตลอดไม่ใช่ไม่ได้ดูแลเลย และยืนยันว่า จะหาทุกช่องทางช่วยเหลือประชาชนให้ดีที่สุด และให้ความมั่นใจว่า กทม.ไม่ทิ้งประชาชนแน่นอน
สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัยที่จะประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย ทั้ง 6 พื้นที่ ประกอบด้วย แขวงลาดกระบัง แขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงขุมทอง แขวงทับยาว และแขวงลำปลาทิว มีประชาชนได้รับความเสียหายจากอุทกภัย 10,300 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 20,767คน รวมถึงพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 1,322 ไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 800ไร่ สวนผักและผลไม้ 22 ไร่ และบ่อปลาอีก 500 ไร่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 3 เตือนฝนถล่มภาคใต้ คลื่นลมอ่าวไทย-อันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 3 (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567)
โฆษกศปช. เผยกรณี 'น้ำผุด' อ.เชียงดาว มอบหน่วยงานลงพื้นที่ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช. ได้เคยประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.ไปแล้วก่อนหน้านี้
คนกรุงร้องเพลงรอลมหนาวต่อ 'ภาคใต้' เจอมรสุมฝนถล่มหนัก
กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าในลักษณะทั่วไป
PM2.5 มาแล้ว พบ ‘กทม.’ ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่
ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ พบเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ
อากาศเปลี่ยนแปลง ‘กทม.’ อุณหภูมิลดลง ‘เหนือ-อีสาน’ หนาวเย็น ‘ภาคใต้’ ฝนตก
พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว