'สุชัชวีร์' แนะ 6 ข้อเร่งแก้น้ำท่วมกรุงเทพโดยด่วนที่สุด หากไม่ทำก็ไม่รอด

10 ก.ย.2565 - นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯว่า เช้านี้ออกจากบ้านที่ลาดกระบังแทบไม่ได้ #น้ำท่วมเป็นทะเลหน้าบ้าน ดูภาพ ถนนลาดกระบัง-หลวงแพ่ง-หัวตะเข้ จมถึงเข่า ไปถึงซอยเข้าวัดพลมานีย์ อ่วมหนัก สาหัสมากมาหลายวัน ไม่แก้ไข ท่านต้องมาเจอถึงจะเข้าใจความทุกข์ของคนลาดกระบัง ทุกข์แท้จริง

ขอพูดในฐานะชาวบ้าน คนกรุงเทพธรรมดา ที่เดือดร้อนตรงนี้ และเสนอหลักแก้ปัญหาในฐานะวิศวกรธรณีเทคนิค ที่เราทำงานเรื่องดินเรื่องน้ำ มาทั้งชีวิต ข้อสังเกตที่ต้องเร่งแก้ไข ด่วนที่สุด คือ...

1. ไม่มีเครื่องสูบน้ำ ถนนลาดกระบัง-หลวงแพ่ง- หัวตะเข้ หลายกิโลเมตร ที่น้ำท่วมขัง ทั้งฝั่งเข้า และฝั่งออก ตนเห็นเครื่องสูบน้ำเพียงไม่กี่เครื่อง น้อยมาก และสูบย้อนไป ย้อนมา กลับมาท่วมที่เดิม ขอแนะนำให้นำเครื่องสูบน้ำ จากพื้นที่ที่ยังปลอดภัย ขอยืมมาระดมสูบน้ำ และต้องวางแผนการสูบ ไม่ใช่การสูบโยนไป-โยนมา ชาวบ้านเดือดร้อนเพิ่ม เพราะอะไร ดูข้อ 2

2. ผมติดตามระดับน้ำบน #คลองประเวศบุรีรมย์ ทุกวัน ไม่มีลด ดูรูปประกอบ ระดับล้นตลิ่งคลองหลัก คลองแขนง ฝั่งหัวตะเข้-ลาดกระบัง ล้นมา 3 วัน เกิน 100% ที่จะรับได้ พูดง่ายๆ #น้ำทะลักแล้ว ไม่มีการช่วยระบายน้ำ เพื่อพร่องคลองประเวศฯ ที่เป็นคลองสายหลักของ #กรุงเทพตะวันออกเลย และไม่พร่องคลองแขนงเช่น คลองลำปลาทิว ดังนั้นต่อให้มี #เครื่องสูบน้ำ ก็สูบไปไหนไม่ได้ เพราะคลองรับไม่ได้แล้ว ถ้าไม่พร่องน้ำ ก็สูบหลอก สูบย้อนไปย้อนมา ทะลักเข้าบ้านเรือนชาวบ้านอีก

3. ไม่ทราบว่ามีการประสานกับ #จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือไม่ อย่างไร เพราะน้ำท่วมต้องระบายออกทางตะวันออกบ้าง เพื่อพร่องน้ำในคลองหลัก และคลองแขนง ระบายในระดับที่เพื่อนบ้านไม่เดือดร้อน ทำได้ครับ แม่น้ำบางประกงติดอ่าวไทย ไหลระบายลงเร็วมาก ช่วยได้ทันที แทนที่จะปล่อย #เขตลาดกระบัง และกรุงเทพตะวันออกให้จมมิดสนิท

4. แทบไม่เปิดประตูน้ำคลองประเวศฯ ให้น้ำผ่านไปขึ้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำพระโขนง เพราะเมื่อไม่ระบายทางตะวันออก ก็มีทางน้ำออกทะเลทางเดียวคือ ทางเจ้าพระยา ที่ไกลมากกว่า 20 กิโลเมตร จากที่นี่ ดังนั้นกว่าจะถึงพระโขนง ระดับน้ำในคลองก็ถูกลดระดับ เฉลี่ย จนแทบไม่มีผลกระทบต่อเขตชั้นใน ลองคำนวนดูก็ได้ ประตูน้ำถูกสร้างมาเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่กลับมาสร้างปัญหาน้ำท่วม ไม่น่าเลย

5. ไม่มีเซนเซอร์วัดระดับน้ำอัตโนมัติ? ในพื้นที่ลาดกระบัง จากที่ติดตามข้อมูลของสำนักระบายน้ำ น่าตกใจที่สุด ที่พื้นที่เสี่ยงที่สุด กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีข้อมูลจากสถานีตรวจวัด ในการจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ เพราะเมื่อไม่มีเซนเซอร์ ไม่มี #ระบบการวัดระดับน้ำ อย่างละเอียด ก็เหมือนคนตาบอด แก้ปัญหาไม่ตรงตามสถานการณ์ สูบน้ำก็พลาด เปิดประตูน้ำก็ผิดช่วงเวลา

6. เห็นกระสอบทรายมากั้นท่อระบายน้ำ ผิดที่ ผิดเวลา ไม่กล้าวิเคราะห์จริงๆ จะให้น้ำลงไปทางไหน ท่วมถนน จมขนาดนี้ เครื่องสูบก็แทบไม่มี

ฝนกำลังมาอีกระลอก ผมแนะนำด้วยความห่วงใย ไม่ทำเดี๋ยวนี้ ก็จะจมต่อไป จากนั้นถนนจะพัง ดินจะทรุด บ้านเรือนจะเสียหาย ไฟฟ้าจะดูด ผลกระทบต่อเนื่องน่ากลัวกว่าที่คิด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตราดระทม! จมบาดาล 1 เมตร เดือดร้อน 3 พันคน

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนรักษ์คลองบางพระ ชุมชนวัดโบสถ์ ชุมชนกิจสวัสดิ์ ถนนเทศบาล 3, 5 ถนนพัฒนาการปลายคลอง ถนนกิตติพัฒนา ซอยสืบแสวงทรัพย์ ซอยร่มไทร ซอยสุเหล่าแขกปลายคลอง ซอยสมจริง ซอยศาลเจ้าแม่ตาเหล ยังคงทรงตัว

‘อนุทิน’ สั่ง กทม.เร่งสอบที่มาป้ายโฆษณาขายพาสปอร์ตและสัญชาติ ย่านห้วยขวาง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ได้ทราบถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้เปิดเผยและวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงกรณีมีการติดตั้งป้ายโฆษณาภาษาจีน

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 5 อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อน 'พระพิรุณ'

นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “พระพิรุณ” ฉบับที่ 5 (145/2567) โดยมีใจความว่า