7 ก.ย.2565 - น.ส.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Working Group: APEC SMEWG) ครั้งที่ 54 ว่า เป็นการประชุมระดับคณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงเอเปค SME โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อระดมความคิดเห็นและรวบรวมผลสรุป ทั้งด้านความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ ประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อนำเสนอและรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9-10 กันยายน
การประชุมครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมให้ MSMEs ทั่วเขตเศรษฐกิจ ฟื้นตัวจากได้อย่างรวดเร็วและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยประเด็นแลกเปลี่ยนที่สำคัญ มี 3 เรื่อง ดังนี้
1. สำนักงานเลขาธิการเอเปค ได้นำเสนองานวิจัยที่สรุปว่า MSMEs ทั่วเอเชียแปซิฟิค ยังส่งออกได้น้อยมาก แม้ว่าต้นทุนของการทำการค้าทั่วโลกและเอเชียแปซิฟิคลดลง แต่กลับพบว่าต้นทุนในการทำการค้าของ MSMEs สูงขึ้น เพราะฉะนั้น ข้อแนะนำ คือ ให้รัฐบาลของเขตเศรษฐกิจเร่งลดอุปสรรคในการทำการค้า โดยเฉพาะต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้ MSMEs ในภูมิภาคเอเปค ส่งออกได้มากยิ่งขึ้น
2. สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ซึ่งเป็นกลุ่มภาคเอกชนที่รวมตัวกัน ได้เน้นย้ำถึงดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ว่าการปรับตัวของ MSMEs เปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกดิจิทัล ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ MSMEs ฟื้นตัวได้ ขณะเดียวกัน การจะทำให้ MSMEs อยู่บนเศรษฐกิจดิจิทัล ยังมีอุปสรรคสำคัญด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ยิ่งผ่านพ้นโควิด-19 MSMEs ส่วนใหญ่จะขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อเพื่อการค้า ควรอาศัยข้อมูล แทนการอาศัยหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยภาคธุรกิจของเอเปค นำเสนอว่า เขตเศรษฐกิจต่างๆ ควรจะเร่งรัดส่งเสริม Supply Chain Financing แพลตฟอร์ม (สินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ) เพื่อให้ MSMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยอาศัยข้อมูลเรื่องการค้าแทนหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนเรื่องที่ 3 เป็นการแลกเปลี่ยนกรณีศึกษา ประสบการณ์ต่างๆ ว่าแต่ละเขตเศรษฐกิจใช้มาตรการใดบ้างในการแก้ไขปัญหา โดยในส่วนของไทยได้เน้นย้ำมาตรการหลักๆ ที่ช่วยเหลือ MSMEs ซึ่งเป็นมาตรการที่มีผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจ อันได้แก่ การส่งเสริมให้ MSMEs เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ-ภาคเอกชน การลดระยะเวลาของบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัทขนาดเล็ก หรือ MSMEs ให้สั้นลง (Credit Term) โดยมาตรการเหล่านี้ไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐแต่กลับมีผลกระทบสูง ทำให้ MSMEs สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม MSMEs โดยบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ที่ครอบคลุมการดำเนินงานด้านการส่งเสริม MSMEs ของกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นไทยจึงมีเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน MSMEs ไม่ใช่เพียงกระทรวงเดียว แต่กว่า 10 กระทรวงที่ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน
“การประชุมในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ MSMEs ไทยอย่างมาก โดยเฉพาะการที่ได้นำผู้นำเศรษฐกิจต่างๆ มาร่วมการประชุมที่จังหวัดภูเก็ตนี้ ซึ่งทั่วโลกต่างรับทราบว่า จังหวัดภูเก็ตได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างรุนแรง เนื่องจากพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่เมื่อได้มาสัมผัสภูเก็ตจะเห็นได้ว่า ภูเก็ตมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และหลังจากได้พูดคุยกับผู้กำหนดนโยบายจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ เขาจะรู้สึกประหลาดใจเพราะภูเก็ตกลับมาสู่สภาพเดิม เหมือนไม่เคยได้รับผลกระทบใดๆ” น.ส.วิมลกานต์ กล่าว
สำหรับผลการประชุม APEC SMEWG คาดว่าจะมีข้อเสนอร่วมกันใน 4 ด้าน ดังนี้ 1. วิธีการส่งเสริมให้ MSMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น รวดเร็วมากขึ้น โดยผ่าน Fin Tech หรือ เทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ 2. การเข้าถึงตลาด โดยการลดต้นทุนทางการค้าและส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและภาคเอกชน 3. ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ซึ่งมีประเด็น คือกลุ่มธุรกิจที่ใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา จะมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีการขยายธุรกิจ จึงไม่ต้องปลดคนงานอีกทั้งยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย และ 4. การปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการหารือร่วมกัน โดย Green Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทานที่จะเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy - BCG) ซึ่งเป็นเทรนด์ทั่วโลกให้ความสนใจ อย่างไรก็ดี ข้อเสนอที่ได้จากการประชุม APEC SMEWG นี้ จะนำเข้าสู่การประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค (APEC SME Ministerial Meeting) ครั้งที่ 28 ซึ่งจะจัดในวันที่ 9-10 กันยายนนี้ ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พิษน้ำท่วม SME ยังไม่คลายกังวล ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าฐานต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
ผลกระทบน้ำท่วม สภาวะเศรษฐกิจทรงตัว การท่องเที่ยวชะลอตัวตามฤดูกาล ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMESI ก.ย. 67 ต่ำกว่าระดับค่าฐานต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แม้เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาของกำลังซื้อในระยะสั้น แต่ค่าคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงปลายปีและเทศกาลเฉลิมฉลองต่าง ๆ จะสามารถดึงความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME กลับมาได้
‘สสว.’ จับมือ ‘INET’ เปิดพื้นที่ขาย ผ่าน Nex Gen Commerce Platform ช่วย SME
สสว. และบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ลงนาม MOU ให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกอบการที่ลงทะเบียน SMEs ผู้รับบริการภาครัฐ เปิดพื้นที่ขาย ผ่าน Nex Gen Commerce Platform “พร้อมฟรี E-Tax Invoice และ E-Factoring”
สสว. แถลงข่าว “SME Privilege Club” เดินหน้าผนึกพันธมิตร เสริมแกร่งผู้ประกอบการ
สสว. แถลงข่าวความสำเร็จงานพัฒนาสิทธิประโยชน์ “SME Privilege Club คลับพิเศษสำหรับ SME” โครงการที่เพิ่มความร่วมมือพันธมิตร 3 ด้าน ทั้งเพิ่มผลิตภาพ/ลดต้นทุน ขยายช่องทางการตลาด เชื่อมโยงแหล่งเงินทุน
สสว. ผนึก LINE ผลักดันสิทธิประโยชน์ เสริมแกร่ง UPSKILL SME
สสว. ลงนามความร่วมมือ เดินหน้าพัฒนาสิทธิประโยชน์เพิ่มผลิตภาพ/ลดต้นทุน ภายใต้ “SME Privilege Club คลับพิเศษสำหรับ SME” จัดสัมมนา UPSKILL SME “ยอดขายโตทั่วไทย ด้วยโซลูชันจาก LINE”
สสว. เดินหน้าจับมือ ช้อปปี้ ผลักดันสิทธิประโยชน์ SME เน้นเสริมตลาดออนไลน์ ติดอาวุธองค์ความรู้สู่ตลาดสากล
สสว. เดินหน้าประสานความร่วมกับช้อปปี้ เสริมแกร่ง SME ภายใต้แนวคิด “SME Privilege Club คลับพิเศษสำหรับ SME” มุ่งเน้น 3 ด้านสำคัญ การเพิ่มผลิตภาพ/ลดต้นทุน การขยายช่องทางการตลาด และการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน พร้อมสนับสนุนกิจกรรมเสริมประสบการณ์ตลาดออนไลน์แข่งขันในระ
สสว. หนุน SME ขยายตลาดส่งออก เดินหน้าสิทธิประโยชน์ “SME Privilege Club”
สสว. นำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจ HKTDC Food Expo 2024 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ผลักดันสิทธิประโยชน์ SME ภายใต้ “SME Privilege Club