บี้ ศธ. จับมือ ขบ. คุมเข้ม 'รถโรงเรียน' ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย

2 ก.ย. 2565 – นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงเหตุการณ์เด็กนักเรียนระดับชั้น ป. 2 ในจังหวัดชลบุรี ถูกลืมและติดอยู่ภายในรถตู้รับ-ส่งนักเรียนของโรงเรียนจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตในที่สุดว่า ขอแสดงความเสียใจกับผู้ปกครองของเด็กนักเรียนทีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจากความประมาทเลินเล่อที่สามารถป้องกันได้ และขอเรียกร้องให้มีการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน ทั้งในส่วนของตัวรถ และคุณภาพของคนขับรถและผู้ควบคุมฯ รถรับ-ส่งฯ อย่างเร่งด่วน

เหตุการณ์ลืมเด็กไว้บนรถรับ-ส่งนักเรียนนั้นเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากสถิติของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ระบุว่าระหว่างปี 2557-2563 ประเทศไทย เกิดเหตุลืมเด็กในรถรวมทั้งสิ้น 129 คน เฉลี่ยปีละ 18 คน ส่วนกรณีที่เด็กเสียชีวิตมากที่สุดเกิดขึ้นบนรถตู้หรือรถรับ-ส่งนักเรียน รวม 5 คน หรือเฉลี่ยปีละ 1 คน โดยการลืมเด็กไว้ในรถถือเป็นเรื่องที่อันตรายเพราะประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อน การติดอยู่ในรถเพียง 5 นาที เด็กจะอยู่ในสภาพที่ร้อนจนทนไม่ได้ และถ้านานถึง 30 นาที จะทำให้เด็กจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ช็อก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด

แม้ว่าตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 จะกำหนดให้มีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ทำหน้าที่ตรวจสอบจํานวนนักเรียนที่รับ-ส่งแต่ละเที่ยวให้ถูกต้องครบถ้วน และประจำอยู่กับรถรับ-ส่งฯ ตลอดเวลาเพื่อควบคุมดูแลและช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดความปลอดภัยขณะเดินทาง แต่หลายครั้งที่สาเหตุของเหตุการณ์อันน่าสลดใจเกิดจากการที่คนขับและผู้ควบคุมฯ ไม่ได้ตรวจสอบรถรับ-ส่งฯ อย่างละเอียด จนทำให้เด็กติดค้างอยู่ในรถ และส่วนใหญ่รถรับ-ส่งฯ มักจอดในบริเวณที่ห่างไกลเมื่อไม่ได้ใช้งาน หากมีเด็กติดค้างอยู่ในรถอาจจะขอความช่วยเหลือได้ยาก

นางสาวธิดารัตน์ กล่าวเสริมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกได้ ไม่ใช่แค่เพียงการหามาตรการเพื่อตรวจเช็กเด็กนักเรียนทั้งไปและกลับ แต่อุบัติเหตุจากรถรับ-ส่งฯ นั้นมีหลายรูปแบบมาก ไม่เพียงเฉพาะกรณีเด็กติดค้างภายในรถ แต่รวมไปถึงอุบัติเหตุรูปแบบอื่นๆ อย่างรถชนหรือพลิกคว่ำ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำเช่นเดียวกัน มาตรการจึงควรเป็นการยกระดับการกวดขันความปลอดภัยของรถรับ-ส่งฯ ทั้งระบบ ซึ่งมาตรฐานของรถรับ-ส่ง คนขับรถและผู้ควบคุมฯ ควรเข้าไปอยู่ภายใต้การควบคุมโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก ที่อนุญาตให้หน่วยงานอื่นๆ เข้าไปตรวจสอบมาตรฐานได้ อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน และเกาหลีใต้

กระทรวงศึกษาธิการจึงควรร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อบังคับให้คนขับรถและผู้ควบคุมฯ รถรับ-ส่งฯ ทุกคน ต้องสอบใบอนุญาตเฉพาะสำหรับคนขับรถและผู้ควบคุมฯ ในรูปแบบเดียวกับใบขับขี่รถสาธารณะ ที่ผู้ขับขี่ต้องอบรมระเบียบความปลอดภัยและสอบต่ออายุทุกปี รวมไปถึงมีโอกาสที่จะถูกยึดใบอนุญาตฯ หากทำผิดระเบียบหรือเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุ คนขับรถและผู้ควบคุมฯ รถรับ-ส่งฯ จำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายไปด้วย

อีกส่วนหนึ่งคือการปรับปรุงมาตรฐานของรถรับ-ส่งฯ ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยอาจร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์ปรับปรุงรถที่มีจำหน่ายอยู่เดิมให้เป็นมาตรฐานสำหรับเป็นรถรับ-ส่งฯ โดยเฉพาะ เช่น ออกแบบโครงสร้างให้ซับแรงกระแทกเมื่อถูกชนท้าย มีทางออกฉุกเฉินที่ออกแบบมาให้เด็กสามารถเปิดออกได้ง่าย ระบบล็อกและปลดล็อกกลอนประตูอัตโนมัติ ระบบติดตามพิกัด และสัญญาณเตือนเมื่อมีคนติดค้างภายในรถยนต์ เป็นต้น ทั้งยังต้องบังคับให้มีการตรวจสภาพรถรับ-ส่งฯ ในทุกภาคเรียน เพื่อรับประกันว่ารถที่ไม่ผ่านมาตรฐานจะไม่ถูกนำออกมาให้บริการ ซึ่งกระทรวงฯ หรือหน่วยงานท้องถิ่นจำเป็นต้องอุดหนุนให้โรงเรียนสามารถจัดหารถที่ได้มาตรฐานมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลชวนครู รับสิทธิ์ประกันอุบัติเหตุฟรี จ่ายสูงสุด 1 แสน

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ห่วงใยครูและบุคลากรทางการศึกษา

ครม.ปรับเงื่อนไขชดใช้ทุนของ รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย

ครม.มีมติปรับเงื่อนไขการชดใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น

"เพิ่มพูน" เดินหน้า "ปฏิวัติการศึกษาแก้ปัญหาประเทศ" อย่างเร่งด่วน เหตุกระแสโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ผศ. พิมล ศรีวิกรม์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และประธานอนุกรรมการพิจารณาจัดการสนับสนุนสมาคมกีฬาจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน

“รมช.สุรศักดิ์” ห่วงนักเรียน-เยาวชน “เล่นพนันบอล-สุขภาพแย่” ช่วงการแข่งขันบอลยูโร

เมื่อวันจันทร์ ที่ 17 มิถุนายน 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2024 ที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพ โดยมีการจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน - 14 กรกฎาคม ว่า กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.

"รมช.สุรศักดิ์​" เป็นประธานเปิดงาน“ความท้าทายของระบบการศึกษาไทยในยุค​ Digital Disruption”

เมื่อวันเสาร์ที่​ 15​ มิถุนายน​ 2567 นายสุรศักดิ์​ พันธ์เจริญวร​กุล​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ​ เป็นประธานเปิดงานโครงการสัมมนาวิชาการ