1-2 ก.ย.จัดสมัชชาสิทธิมนุษยชนระดับชาติชู 5 ประเด็นใหญ่

สำนักงาน กสม.เตรียมจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ชู 5 ประเด็นสิทธิมนุษยชน ระดมภาคีเครือข่าย

18 ส.ค.2565 - นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม.มีนโยบายในการสร้างเสริมและสนับสนุนกระบวนการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) จัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน : เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษ กสม. ขึ้น ระหว่างวันที่ 1 – 2 กันยายน 2565 นี้ ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะ ที่จะทำให้ประชาชน กลุ่มเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นสำคัญ ตลอดจนร่วมกันกำหนดนโยบายและผลักดันไปสู่การปฏิบัติ

การจัดเวทีดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกที่ กสม.จะจัดให้มีกระบวนการทำงานในรูปแบบสมัชชา เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ทศวรรษของการก่อตั้งองค์กร กสม. โดยกำหนดประเด็นที่สำคัญในการพูดคุยและขับเคลื่อนเชิงนโยบายทั้งสิ้น 5 ประเด็น ได้แก่ 1.กระบวนการยุติธรรมทางอาญา 2.สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม 3.สถานะบุคคล 4.สถานการณ์โรคโควิด 19 กับกลุ่มเปราะบาง และ 5.ความหลากหลายทางเพศ

ในการทำงานตามกระบวนการสมัชชา ที่ผ่านมาสำนักงาน กสม. ได้ประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายแต่ละประเด็นย่อย เพื่อระดมความเห็น รวบรวมสถานการณ์ และข้อเสนอแนะจากเจ้าของปัญหา เพื่อเตรียมนำเสนอและมีมติร่วมกันในการประชุมสมัชชาสิทธิมนุษยชนดังกล่าว โดยการประชุมจะมีทั้งในห้องประชุม และผ่านทางออนไลน์

สำหรับเวทีกลาง จะมีเวทีพูดคุยทบทวนบทบาท ข้อท้าทาย และความคาดหวังต่อ กสม. รวมถึงการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ส่วนด้านนอกห้องประชุมจะมีนิทรรศการเหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษ กสม. และนิทรรศการจากภาคีเครือข่าย ทั้งองค์การระหว่างประเทศ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมด้วย

“นอกจากนี้ยังจะมีการเผยแพร่สื่อการเรียนรู้ออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ผ่านกิจกรรมการประกวดยุวทูตสิทธิมนุษยชน หรือ Young Human Rights Ambassador ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำนักงาน กสม. จัดร่วมกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย และ Wevis กลุ่มที่ทำงานด้านข้อมูลการเมืองอีกด้วย” เลขาธิการ กสม. กล่าวและว่า เชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนคนรุ่นใหม่ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมยุวทูตสิทธิมนุษยชนดังกล่าว โดยอัดคลิปวิดีโอผ่านแพลตฟอร์ม TikTok เล่าถึงความสำคัญของสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อชิงทุนขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษาต่อไป โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน กสม.

สำหรับความคืบหน้าในการเตรียมประเด็นกับทางภาคีเครือข่าย ในประเด็นสถานการณ์โรคโควิด 19 กับกลุ่มเปราะบาง ได้มีการเตรียมข้อมูลผลกระทบสถานการณ์โรคโควิด 19 กับกลุ่มเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ ที่ประสบความยากลำบากในสถานการณ์ดังกล่าว ได้แก่ (1) กลุ่มเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กเร่ร่อนต่างด้าวและเด็กติดตามแรงงาน ซึ่งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือต้องอยู่รวมกันอย่างแออัด รวมทั้งเด็กที่หลุดออกจากระบบการเรียนออนไลน์ (2) กลุ่มคนไร้บ้าน ที่ตกงานขาดรายได้ และเข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข (3) กลุ่มสตรีและความเปราะบางในครอบครัว ซึ่งเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การท้องไม่พร้อมและความรุนแรงทางเพศ (4) กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ และเข้าไม่ถึงวัคซีนในช่วงแรก (5) กลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ต้องขาดรายได้และบางส่วนเป็นผู้สูงอายุซึ่งเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยา ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์การสื่อสาร

(6) กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่ถูกเลิกจ้างและไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ทันเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้มีสถานะการทำงานที่ผิดกฎหมาย (7) กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด 19 และไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐผ่านระบบออนไลน์ได้ (8) กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ถูกเลิกจ้างจากมาตรการสั่งปิดสถานที่และสถานประกอบการบางประเภท (9) กลุ่มคนพิการ ซึ่งบางส่วนถูกเลิกจ้างมากขึ้นจากการปิดกิจการบางประเภท เช่น ร้านนวดแผนไทย และมีอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการเยียวยาผ่านระบบออนไลน์ และ (10) กลุ่มคนรายได้น้อย (รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) ซึ่งประสบปัญหารายรับลดลงสวนทางกับรายจ่ายด้านการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังได้มีการตระเตรียมข้อเสนอแนะและแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ด้วย

ส่วนประเด็นความหลากหลายทางเพศ มีการตระเตรียมข้อมูลเบื้องต้นกับภาคีเครือข่าย โดยมีข้อท้าทายและพัฒนาการใน 6 ประเด็น ได้แก่ (1) การผลักดันเรื่องการสมรสเท่าเทียม ซึ่งปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต อยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (2) การผลักดันร่าง พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ก่อนเสนอร่างกฎหมายสู่สภาฯ (3) สิทธิของพนักงานบริการ ที่เข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการตามกฎหมายแรงงาน (4) สิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศที่มีอัตลักษณ์ไม่เป็นไปตามกรอบชายหรือหญิงอย่างชัดเจน ซึ่งยังขาดนิยามที่ครอบคลุมในระบบกฎหมาย (5) การเคลื่อนไหวของเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสถานศึกษา และ (6) การถูกกีดกันในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อในกลุ่มชายรักชาย

ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายด้านความหลากหลายทางเพศจะได้สรุปประเด็นหลักที่จะนำเสนอในเวทีสมัชชาสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป้าหมายการขับเคลื่อนร่วมกันด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา

ที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​สิทธิมนุษยชน​แห่ง​ชาติ​ (กสม.)​ นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ

เปิดฉบับเต็ม! รายงานกสม. มัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วยทักษิณ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้อง      เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ 1โรงพยาบาลตำรวจที่ 2

กสม.แถลงค้าน ปิดศูนย์เรียนรู้เด็กข้ามชาติ ชี้สถานศึกษาในพื้นที่ ยังไม่มีความพร้อม

ตามที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

'ครูธัญ' โวยกลุ่มหลากหลายทางเพศ ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

'ครูธัญ' ชี้ กรณีกรรมการเวทีประกวดวิจารณ์เยาวชนหลากหลายทางเพศ เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม แนะ ศธ. ปรับปรุงหลักสูตรเรื่องเพศ บรรจุหลักปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม สร้างความเข้าใจกับครู-ผู้บริหาร

'ทวี' ขึงขัง! สั่ง 'กรมคุก' ตามดู 'นช.ทักษิณ​' รักษาตัวชั้น​ 14 ละเมิดสิทธิผู้ต้องขังภาพรวมหรือไม่​

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี​ สอดส่อง​ รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ​ (กสม.​) ส่งเรื่องให้

เอาแล้ว! ป.ป.ช.รับข้อมูล กสม. พิจารณา ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ รักษาตัวชั้น 14 

เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐานของคณะทำงานไต่สวนที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนพยานหลักฐาน ซึ่งสุดตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ส่งรายงานการพิจารณาของกสม.มาให้ป.ป.ช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา