ธ.ก.ส.จัดเต็มสินเชื่อช่วยเกษตรกรที่เจอภัยมู่หลาน

รองโฆษกรัฐบาล เผย ธ.ก.ส.เร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุมู่หลาน เตรียมสินเชื่อดอกเบี้ย 0% 6 เดือนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตวงเงิน 12,000 ล้านบาท

17 ส.ค.2565 – น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุมู่หลาน ทำให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกำลังขยายมาในพื้นที่ภาคกลางส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชน กำชับให้ส่วนราชการเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในทุก ๆ ด้าน

น.ส.รัชดากล่าวว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ขานรับนโยบายรัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรลูกค้า โดยมอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจลูกค้าและนำถุงยังชีพไปมอบเพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้น รวมถึงสำรวจข้อมูลความเสียหายและผลกระทบจากอุทกภัย เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบฯ สามารถผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 12 เดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ และสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 เมื่อดำเนินการสำรวจพื้นที่การเกษตรแล้วพบว่า มีความเสียหายเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ธ.ก.ส.จะเร่งประสานงานส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชดเชยความเสียหายโดยเร็วต่อไป

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นอกจากนี้ ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายจำเป็นฉุกเฉิน เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือน เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR คือ 6.50% วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 (ปัจจุบัน MRR = 6.50) จึงขอให้เกษตรกรอย่ากังวลในช่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดย ธ.ก.ส. พร้อมเข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่

“ขอให้ระมัดระวังมิจฉาชีพที่มักจะใช้โอกาสจากความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรเข้ามาหลอกลวง โดยแอบอ้างใช้สัญลักษณ์โลโก้ ธ.ก.ส. เพื่อสร้างความเข้าใจผิด ให้เข้ามากู้เงิน หรือหลอกให้โอนค่าธรรมเนียม เพื่อแลกกับการใช้บริการสินเชื่อ หรือโอนค่าประกันภัยจาก ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ไม่มีนโยบายจ่ายสินเชื่อผ่านสื่อโซเซียลหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส.สาขาในพื้นที่ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” น.ส.รัชดาย้ำ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลชวนปชช. จอง-แลกเหรียญเฉลิมพระเกียรติ 'ในหลวง' เริ่ม 24 ก.ค.

รัฐบาลเชิญชวนประชาชน จอง-แลกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติ 'ในหลวง' เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ตั้งแต่ 24 ก.ค.นี้

'ภูมิธรรม' ยันยังไม่เลิก 'ไร่ละพัน' แจง 'ปุ๋ยคนละครึ่ง' หวังช่วยชาวนาอีกทาง

'ภูมิธรรม' แจงไม่ได้ยกเลิกไร่ละพัน พร้อมดึงกลับมาใช้ถ้าราคาข้าวตก ย้ำคนละส่วนกับปุ๋ยคนละครึ่ง ชี้ สส. รุมค้าน เหตุไม่เข้าใจถ่องแท้ไปฟังเกษตรกรมา

สุดอึ้ง!จุลพันธ์ตีขลุมเสร็จสรรพบอกดิจิทัลฯ สุ่มเสี่ยงแสดงว่าไม่ผิดกฎหมาย

'จุลพันธ์' แจงเปลี่ยนแหล่งที่มาของเงิน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ให้มีความเหมาะสมขึ้น ยันปลายปีนี้เงินถึงมือ ปชช.แน่นอน ย้ำไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์

'คารม' แจงยิบยัน 'กยศ.' คิดดอกเบี้ยอัตรา 1%

'คารม' ย้ำ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาคิดดอกเบี้ยอัตรา 1% ตั้งแต่เริ่มกู้จนชำระเสร็จสิ้น ไม่มีการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ขอให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้ตามจำนวนที่แจ้งในหน้าแอปพลิเคชัน กยศ.Connect