นายกฯ ถกคกก.เฉพาะกิจฯ เห็นชอบแนวทางรองรับสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ

คกก.เฉพาะกิจฯ เห็นชอบแนวทางเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการระยะเร่งด่วน -มาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง นายกฯย้ำรัฐบาลจะทำงานให้ดีที่สุด

11 ส.ค.2565 - ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ภายหลังการประชุม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุมว่าการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในวันนี้ถือเป็นการประชุมที่มีความสำคัญอย่างมาก เพื่อให้คณะกรรมการได้ร่วมพิจารณาวางแผนแนวทางการปฏิบัติ ในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ให้สอดคล้องกับการทำงานของคณะกรรมการชุดอื่น ๆ รวมถึงคณะรัฐมนตรีและรัฐบาล โดยคณะกรรมการจะมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เตรียมแผนปฏิบัติการล่วงหน้า เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น ทั้งนี้ จากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รัฐบาลกำลังดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดูแลในทุกมิติแล้ว

นายธนกร ระบุว่า นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงมาตรการระยะเร่งด่วนขอให้แต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้เน้นว่าจะทำอะไรได้มากกว่าเดิมบ้าง ให้พิจารณาดำเนินการไปตามห้วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งมาตรการบางอย่างอาจจะดำเนินการต่อไป บางอย่างอาจจะต้องลดหรือเพิ่ม ต้องพิจารณาเตรียมการอย่างรอบคอบ ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่่มีอยู่ และต้องเตรียมสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจน ว่าแต่ละเรื่องจะเดินหน้าไปด้วยงบประมาณส่วนใด โดยขอให้นำข้อมูลแนวปฏิบัติทั้งหมดให้คณะอนุกรรมการ คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ได้ใช้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้การทำงานเกิดการประสานสอดคล้องกัน

"นายกรัฐมนตรีย้ำว่าในการทำงานบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะมีประเด็นหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง และมีผลกระทบกับหลายด้าน วันนี้รัฐบาลกำลังบริหารสถานการณ์วิกฤตที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีการติดตามประเมินสถานการณ์ และมีวิธีการทำงานแก้ไขสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยรัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด" นายธนกรกล่าว

นายธนกร กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ การประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจและข้อเสนอแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยสรุปได้ดังนี้ 1. จากการติดตามเครื่องบ่งชี้ที่อาจก่อให้วิกฤตล่าสุด 4 ด้าน ได้แก่ วิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ วิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs และ วิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยพบว่าปริมาณน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า และสินค้าที่จำเป็นยังไม่ขาดแคลน แต่มีราคาสูงขึ้น และรัฐบาลได้มาตรการช่วยเหลือ ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่อง นอกจากนี้วัตถุดิบด้านการเกษตร อาทิ ปุ๋ยและอาหารสัตว์ก็ไม่ขาดแคลน แต่มีราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าเกษตรบางรายการ มีราคาขายที่ต่ำกว่าต้นทุน

นายธนกร กล่าวว่า สำหรับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs พบว่าหนี้ครัวเรือนเริ่มลดลง ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ แต่รายจ่ายครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมวดค่าโดยสาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วน SMEs ในภาพรวมค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่ในบางสาขายังไม่กลับสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ผู้ประกอบการ SMEs ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนและกำไร ในส่วนของโครงสร้างเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการรองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต ที่ประชุมเห็นว่ายังควรเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

นายธนกร กล่าวว่า 2. ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่ (1) มาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล การตรึงราคาก๊าซ NGV การตรึงราคาน้ำมันดีเซล ตลอดจนการออกมาตรการรักษากำลังซื้อให้แก่ประชาชนต่าง ๆ รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (2) มาตรการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร อาทิ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ระยะที่ 2 มาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส.

นายธนกร กล่าวว่า (3) มาตรการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs อาทิ จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2565 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) และ (4) มาตรการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับคู่ค้าที่มีศักยภาพ การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การลงทุนในโครงสร้างภายในประเทศ โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมแนวเหนือ ใต้ ตะวันตก และตะวันออก เป็นต้น

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า 3. สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการต่อไป ประกอบด้วย มาตรการระยะเร่งด่วน (Quick win) ได้แก่ กลุ่มมาตรการประหยัดพลังงาน มาตรการระยะเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร อาทิ โครงการบริหารจัดการปุ๋ย โครงการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs มาตรการบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรในหลายมิติ และมาตรการทางการเงินเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า มาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-up Urgent Policy) ได้แก่ มาตรการต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ มาตรการประหยัดพลังงาน อาทิ ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และลดต้นทุนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง โดยมุ่งเน้นการขนส่งทางราง มาตรการต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร เช่น ศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุน/ร่วมทุน ในการจัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยโปแทส เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ มาตรการต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs อาทิ การพัฒนาทักษะทางการเงินในทุกช่วงวัย การดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และมาตรการต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

นายกฯ สั่ง ปปง.เร่งยึดทรัพย์แก๊งค้ายา

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ สั่ง ปปง.มีอำนาจพิเศษสูงต้องทำงานแบบล้วงลูก เร่งยึดทรัพย์ตัดตอนขบวนการค้ายาฯ อย่ามัวแต่ช้า หวั่นโอนเงินหนี กำชับอย่าทำงานแบบไซโลให้เป็นข้อครหา

'เศรษฐา' ฟุ้งเตรียมถกมะกันตัดตอนยาเสพติด

นายกฯ มอบอุปกรณ์ป้องกันและตอบโต้กลุ่มผู้ค้ายาเสพติด ย้ำให้ความสำคัญถือเป็นความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ กำชับดูแลการจ่ายรางวัลนำจับเหมาะสม ไม่ใช่รอนานจนเกษียณถึงได้ เตรียมคุย 'ทูตมะกัน' ตัดตอนยาบ้า