ผู้สูงอายุต้องการความรักและความเข้าใจ การหากิจกรรมที่ผู้สูงอายุชอบ หาโอกาสให้ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมสันทนาการบ้าง ใช้ยาเฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น สร้างบรรยากาศที่ดีในบ้านและในชุมชน จะทำให้สุขภาพกายและใจผู้สูงอายุดีขึ้น ที่สำคัญช่วยป้องกันโรค”อัลไซเมอร์” ความจำเสื่อมหรือหลงลืม ส่งผลช่วงเวลาที่เหลืออยู่เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด
แม้ในบ้านเราจะมีการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในพื้นที่ต่างๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในระดับชุมชน นำมาสู่การพัฒนาโครงการ ” ห่วงใยใส่ใจสุขภาพของผู้สูงอายุชุมชนประสานมิตรและชุมชนบางยี่เรือ เขตธนบุรี” โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) มีกิจกรรมต้นแบบ ”มิวสิควัคซีน” เพื่อป้องกันผู้สูงอายุเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม รวมถึงดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยใช้กิจกรรมดนตรีกระตุ้นสมองและฟื้นฟู ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและชุมชน ที่เห็นตรงกันในการการดูแลผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
ผู้สูงอายุชุมชนประสานมิตรร่วมกิจกรรม’มิวสิควัคซีน’ ลดภาวะสมองเสื่อม
ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า กิจกรรม “มิวสิควัคซีน” ใช้ศาสตร์แบบบูรณาการ ซึ่งมี รศ.ดร.เอกชัย พุหิรัญ และ ผศ.พนัส ต้องการพานิช อาจารย์จากวิทยาลัยการดนตรี มบส. เข้ามาดูแลกิจกรรมนี้ กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนพื้นที่ที่ทางมหาวิทยาลัยดูแลรับผิดชอบ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่เทศบาลตำบลท้าวอู่ทองใน 5 หมู่บ้าน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยมีบทบาทเข้าไปช่วยดูแลและทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงสามารถดำเนินชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีความสุข ด้วยการใช้ดนตรีมาเป็นตัวนำทำกิจกรรม เพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ ภายใต้ชื่อ “มิวสิควัคซีน” เป็นแบบอย่างที่สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ได้
อธิการบดี มบส. กล่าวด้วยว่า หากชุมชนอื่นๆ สนใจกิจกรรม”มิวสิควัคซีน” เพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ และต้องการจะขอเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยยินดี เพราะมีนโยบายให้บริการชุมชนและเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอยู่แล้ว โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ที่ มบส. รับผิดชอบ ติดต่อโดยตรงได้ที่วิทยาลัยการดนตรีพร้อมให้บริการเต็มที่
ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มบส.
“มิวสิควัคซีน”ไม่ใช่แค่ชวนผู้สูงอายุมาร้องรำทำเพลง รศ.ดร.เอกชัย พุหิรัญ วิทยาลัยการดนตรี บอกว่า เป็นการนำดนตรีมาประกอบในการทำกิจกรรมเสริมการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุ หรือการใช้ดนตรีบำบัด เช่น การทำท่าฤาษีดัดตน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ผู้สูงอายุแข็งแรง ไม่ล้มง่าย การออกกำลังกายด้วยตารางเก้าช่อง ซึ่งระหว่างที่ทำกิจกรรมจะมีดนตรีมาประกอบ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลายและยังเป็นการให้จังหวะด้วย
ความพิเศษของมิวสิควัคซีน อาจารย์บอกดนตรีที่ใช้คิดขึ้นมาเอง จะใช้การปฏิบัติดนตรีโดยสมอง 2 ซีกจากการเคาะจังหวะ โดยมีเครื่องช่วยประกอบจังหวะที่เป็นพื้นฐานมาจากปฏิบัติเครื่องกระทบ มีการเรียนรู้ตามหลักวิชาการในด้านการใช้อุปกรณ์ฝึก คือ ไม้กลองและแป้นตี มีแบบฝึกหัดที่เป็นลำดับขั้นตอน จากง่ายไปยาก เพื่อฝึกสมองและความจำ นอกจากนี้ การจับไม้กลองแล้วตีบนแป้นตี เป็นการฝึกให้มือซ้ายและมือขวาให้ทำงานสัมพันธ์กันอย่างมีอิสระ ในทางดนตรีเรียกว่า เป็นการแยกประสาทในการตีกลอง
วัยเก๋าฝึกเคาะจังหวะด้วยไม้กลอง กระตุ้นสมอง
มีการฝึกปฏิบัติเฉพาะเครื่องกระทบที่เรียกว่า paradiddle ที่เป็นการกำหนดการตีของมือซ้ายและขวาเป็นชุด ๆ เช่น ซ้าย-ขวา-ซ้าย-ซ้าย หรือ ขวา-ซ้าย-ขวา-ขวา เป็นต้น และมีการประพันธ์เพลงขึ้นใหม่โดยเฉพาะเพื่อประกอบจังหวะในการตี เป็นการประเมินผลขั้นสุดท้ายของการฝึก การปฏิบัติรูปแบบนี้สามารถนำไปสร้างสรรค์เป็นกระสวนจังหวะในรูปแบบอื่นได้อีก
“ เรามีคลิปวีดีโอการฝึกและแบคกิ้งแทรค สำหรับฝึกซ้อมประกอบ ทำให้ผู้สูงอายุสามารถฝึกฝน ทบทวนได้ด้วยตนเองหลังจากการเข้ารับการอบรมได้ด้วย “ รศ.ดร.เอกชัย กล่าวและว่า หากชุมชนสนใจสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลรวมถึงทักษะด้านดนตรีในการป้องกัน”อัลไซเมอร์”วัยเก๋า
สำหรับโรคอัลไซเมอร์มักเกิดขึ้นกับวัยเก๋าเป็นอันดับต้นๆ จากรายงานพบร้อยละ 10-15 ในประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี และพบร้อยละ 20-30 ในประชากรที่อายุมากกว่า 80 ปี ทั้งนี้ โรคอัลไซเมอร์เป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอย มีความบกพร่องด้านการรู้คิด ได้แก่ ความจำ การตัดสินใจ การวางแผน การบริหารจัดการ การใช้ภาษา สมาธิ ความสามารถในการรับรู้สังคมรอบตัว ทั้งยังกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคมด้วย ปี 2563 ไทยมีผู้ป่วยสมองเสื่อมมากกว่า 6.5 แสนคน
การฝึกเคาะจังหวะ ช่วยฝึกมือ และประสาทผู้สูงวัย
มุทิตา จอกแก้ว ผู้นำชุมชนประสานมิตร วัย 70 ปี ที่ช่วยดูแลสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุในชุมชน และร่วมกิจกรรม”มิวสิควัคซีน” พร้อมกับผู้สูงวัยแบบครบคอร์ส กล่าวว่า ชุมชนประสานมิตรเป็นชุมชนขนาดใหญ่กว่า 400 หลังคาเรือน มีประชากรกว่า 2,000 คน มีผู้สูงอายุกว่า 200 คน ในจำนวนนี้มีติดเตียงประมาณ 10 คน และน่าเศร้าที่เสียชีวิตไปในช่วงการระบาดของโควิด ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งอยู่ลำพัง และอยู่กับญาติบ้าง เป็นผู้สูงอายุมีรายได้น้อย รับเพียงเบี้ยยังชีพจากรัฐ ผลกระทบต่างๆ ทำให้มีความเครียด สุขภาพแย่ลง ที่ผ่านมา ในชุมชนจัดกิจกรรมกีฬาและนันทนาการ เพื่อดูแลสุขภาพและกระตุ้นสมองผู้สูงวัย เมื่อ มบส.ริเริ่มกิจกรรม”มิวสิควัคซีน” ชวนชุมชนเข้าร่วม ตนเองและสมาชิกผู้สูงวัยในชุมชนตอบรับ เพราะมีประโยชน์ด้านสุขภาพ
“ ได้ทำท่าฤาษีดัดตนประกอบเพลง เต้นออกกำลังกายด้วยตารางเก้าช่องประกอบดนตรี ทุกคนร่าเริง แจ่มใส หัวเราะอย่างสนุกสนาน ส่วนการฝึกเคาะจังหวะด้วยไม้กลองและแป้นตี ช่วยให้ผู้สูงอายุมีสมาธิมากขึ้น ดนตรีสามารถฟื้นฟู บรรเทาอาการสมองเสื่อม ทำให้ความทรงจำดีขึ้น เป็นดนตรีบำบัด หลังอบรมตนกลับมาฝึกฝนต่อที่บ้าน ถ้าเกิดทักษะชำนาญแล้ว มีแนวคิดจะจัดกิจกรรมมิวสิควัคซีนในชุมชนเอื้อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงกิจกรรมเพิ่มขึ้น ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ “ มุทิตา ย้ำดนตรีพัฒนาศักยภาพผู้สูงวัย
ดนตรีบำบัด ป้องกันอัลไซเมอร์จัดที่ มบส.
นอกจากกิจกรรมดนตรีบำบัดแล้ว ในการช่วยผู้สูงอายุรายได้น้อย ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อดีตประธานชุมชนประสานมิตร บอกว่า ในชุมชนส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนปลูกต้นหม่อน บำรุงดูแลต้นหม่อนให้เติบโต เพื่อเก็บใบชา รวบรวมเป็นวัตถุดิบทำชาใบหม่อน มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนประสานมิตรชาใบหม่อน ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงในหลวง ร.9 ทั้งนี้ ผู้สูงอายุได้เข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอนการผลิตชาใบหม่อน ไม่เพียงแต่ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพิ่มโอกาสประกอบอาชีพ มีรายได้บรรเทาความเดือดร้อน ยังสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจให้กลุ่มผู้สูงวัย อยากให้สังคมตระหนักความสำคัญผู้สูงอายุ ไม่ปล่อยให้โดดเดี่ยว ผู้สูงอายุยังมีพลังพัฒนาตนเองและชุมชนได้
มิวสิควัคซีนถือเป็นโมเดลที่ควรขยายผล อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้สูงวัยอยู่ในชุมชนที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และส่งเสริมจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุเน้นความยั่งยืน ให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งครอบครัว ชุมชน วิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อรองรับ’สังคมผู้สูงอายุ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'น้องวุฒิ'ตีกลองเปิดหมวกสร้างชีวิต
ความใฝ่ฝันของพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ อยากเห็นลูกได้รับการศึกษาที่ดี เพราะการศึกษาจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่นเดียวกับครอบครัว“กีรติชัยพันธ์” ใฝ่ฝันอยากเห็น ณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์ หรือน้องวุฒิ เด็กพิเศษดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome ) มีการศึกษาที่ดี แต่กว่าจะผ่านการศึกษาแต่ละระดับชั้นไปให้ได้ของเด็กพิเศษ
เทศกาลสร้างสรรค์'3 ศิลป์ 3 ศาสน์ ย่านกะดีจีน'
งานเฟสติวัลในย่านเก่าเป็นอีกกิจกรรมสร้างสรรค์ สร้างแรงกระเพื่อมให้มหานครมีมิติร่วมสมัยควบคู่ไปกับการดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม สีสันความสนุกที่เคลือบด้วยสาระและคุณค่าของย่านกะดีจีนจะเกิดขึ้นในงานเทศกาล ” 3 ศิลป์ 3 ศาสน์ ย่านกะดีจีน”
'หมอธีระวัฒน์' ปลุก สว. เลิก 'เนือยนิ่ง ทอดหุ่ย'
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า สว. เนือยนิ่ง ทอดหุ่ย กับสมองเสื่อม
'หมอธีระวัฒน์' ยกผลวิจัย พิชิตสมองเสื่อมด้วยยาเบาหวานลดน้ำหนัก
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "พิชิตสมองเสื่อมด้วยยาเบาหวานลดน้ำหนัก"
‘หมอธีระวัฒน์’ ยกหลักฐานผลทดลอง ออกกำลังขจัดโปรตีนพิษอัลไซเมอร์ได้
หลักฐาน ในหนูทดลองที่ปรับแต่งเป็นอัลไซเมอร์ เมื่อให้ขยันออกกำลังปรากฏว่าโปรตีนอมิลอยด์การขยุ้มตัวของตะกรัน plague ลดลงอย่างชัดเจน
ผลวิจัยชี้ 'รอบเดือน' สตรี มีผลต่อสมอง 'หมดระดู' เสี่ยงอัลไซเมอร์
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า รอบเดือนสตรีมีผลต่อสมอง