ครั้งแรกของโลก! 'นศ.ธรรมศาสตร์' คิดค้นวิธีหา 'Hidden Ownerships' ปฏิวัติองค์ความรู้ด้านตลาดทุน

ทุกวันนี้ เราสามารถข้ามโลกได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส หากแต่บริษัทหรือภาคธุรกิจที่อยู่ในประเทศไทย ก่อกำเนิดด้วยคนไทย และเป็นที่รู้จักเฉพาะในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามออกไปสู่ตลาดสากลได้

การนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าวัตถุประสงค์หลักคือการระดมทุน หากแต่สิ่งที่ควบคู่มาด้วยก็คือ แรงจูงใจที่ต้องการขายหุ้นให้กับชาวต่างชาติและตอกย้ำแบรนด์ในตลาดโลก แต่ก็อาจจะยังมีข้อจำกัดอยู่ คือการซื้อขายหุ้นไทยจะทำได้เพียงแค่ในตลาดซื้อขายหลัก (Main Board) เท่านั้น

ที่ปรึกษาด้านกฎหมายหรือการเงินของบริษัทนั้นๆ มักจะแนะนำทางออกให้โดยเสนอวิธีการแบ่งหุ้นของตนเองโอนไปจดทะเบียนในต่างประเทศ ซึ่งมักจะอยู่ในรูปแบบบริษัทการค้านอกอาณาเขต (Offshore Company) เพื่อใช้ในการถือหุ้นแทน

ทั้งนี้ การโอนหุ้นไปอยู่กับบริษัทการค้านอกอาณาเขตจะได้ประโยชน์ ได้แก่ 1. สามารถขายหุ้นให้กับทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยไม่ติดกฎเกณฑ์เรื่อง Main Board หรือ Alien Board (ตลาดซื้อขายสัดส่วนหุ้นของชาวต่างชาติ) เพราะบริษัทนั้นจะถือสถานะเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ 2. ผลประโยชน์ทางภาษีเมื่อขายหุ้นและได้กำไร

ทว่า การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า เจ้าของหุ้นซ่อนเร้น (Hidden Ownerships) ส่งผลให้นักลงทุนมักตั้งคำถามเสมอเกี่ยวกับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ (Ownerships Structure) ของบริษัทใดๆ ก็ตามในตลาดหลักทรัพย์ของไทย เพราะอาจส่งผลต่อธรรมมาภิบาลของบริษัท (Corporate Governance) ให้ด้อยประสิทธิภาพลง กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นใหญ่มีส่วนกำหนดทิศทางขององค์กร โดยตั้งอยู่บนผลประโยชน์ส่วนตัว

เนื่องจากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะทำให้เรารู้แค่ว่าบริษัทไหนมีใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาเหล่านี้มีเจ้าของหุ้นซ่อนเร้นถือผู้หุ้นของเขาไว้อีกเท่าไหร่ เพราะในไทยไม่มีกฎหมายกำกับว่าต้องแจ้งเรื่องใครถือหุ้น หรือเป็นนอมินีใคร ซึ่งต่างจากในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฯลฯ ที่มีกฎหมายกำกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือใดที่จะสามารถสืบเสาะหาเหล่าเจ้าของหุ้นที่ซ่อนเร้นได้เลยในไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชื่อ “Hidden Ownerships and Corporate Governance” โดย ณัฐวุฒิ แวงวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งเสนอวิธีในการวัดสัดส่วนที่ใช้ได้จริง และถือเป็นการปฎิวัติองค์ความรู้ด้านตลาดทุนอย่างพลิกฝ่ามือ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นด้านตลาดทุนจากงานส่งเสริมการผลิตงานวิจัยด้านตลาดทุนเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยในปี 2564/2565 โดยตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

“ที่ผ่านมามีการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างผู้ถือหุ้นและก็ธรรมมาภิบาลของกิจการค่อนข้างเยอะ แต่ว่าผลการศึกษาอาจจะไม่ถูกต้องเลยก็ได้ ถ้าไม่พิจารณาการถือหุ้นผ่านตัวแทน ดังจะได้จากผลของหลายๆ งานวิจัยที่ผ่านๆ มา ซึ่งมักจะขัดแย้งกับทฤษฎีแล้วก็ความเชื่อ ซึ่งเราเรียกความขัดแย้งนี้ว่า Puzzle สาเหตุหนึ่งก็เพราะว่ามักจะเกิดการ Ignore หรือ Exclude การถือหุ้นผ่านตัวแทนออกไป เพราะว่าเป็นข้อจำกัดของการหาข้อมูล รวมทั้งความยากในการวิธีเชื่อมโยงการถือหุ้นผ่านตัวแทน” ณัฐวุฒิ กล่าว

งานวิจัยชิ้นนี้ได้เสนอเทคนิคในการวัดสัดส่วนหุ้นที่ซ่อนเร้นอยู่เรียกว่า “Combinatorial Optimization” รวมถึงศึกษาผลกระทบในเรื่องธรรมมาภิบาลขององค์กร ผ่านการดำเนินโครงการของบริษัท ณัฐวุฒิ อธิบายว่าวิธีการที่ใช้เป็นการจัดกลุ่มเลือกโครงสร้างที่เหมาะสมที่สุด จากข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นเป็นพันเป็นหมื่นคน และข้อมูลการโหวตให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งทำอีกเป็นหมื่นรูปแบบแล้วมาดูว่าชื่อใครบ้างที่อยู่ในทุกรูปแบบ และแยกออกมาเพื่อที่จะรู้ว่านอมินีหรือผู้ถือหุ้นรายนั้นเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นใหญ่

ณัฐวุฒิ บอกต่อไปว่า การคิดวิธีวัดสัดส่วนการถือครองหุ้นที่แท้จริงของผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้านความรู้ทางวิชาการอาจช่วยในการทบทวนผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยชิ้นก่อนๆ หรือเสมือนการถอดรื้อความรู้เดิมที่อาจไม่ถูกต้อง อีกทั้งทำให้เข้าใจองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับโครงสร้างผู้ถือหุ้นกับธรรมมาภิบาลของบริษัทได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสร้างมาตรฐานในการศึกษาวิจัยในประเด็นนี้ในอนาคตได้

นอกจากนี้ ประโยชน์ในส่วนของผู้ประกอบการจะช่วยในการทำนโยบายยกระดับการเปิดเผยข้อมูล จัดทำรายงาน และการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน อีกทั้งสามารถนำไปใช้ในการเชื่อมโยงในการติดตามธุรกรรมหรือการซื้อขายที่เกี่ยวข้องกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และอาจารย์ที่ปรึกษาของงานวิจัยดังกล่าว บอกว่า ประเด็นเรื่องการโอนหุ้นไปเปิดบริษัทการค้านอกอาณาเขต จนทำให้เกิดเจ้าของหุ้นซ่อนเร้นมีมาค่อนข้างนานแล้ว ซึ่งเดิมไม่ใช่การกระทำที่เป็นเจตนาเลวร้ายเพื่อจะซ่อนธุรกรรม แต่เป็นไปเพื่อเอื้อในการทำธุรกรรมมากกว่า ซึ่งกฎหมายไทยก็เปิดช่องไว้ให้ ดังนั้นไม่ได้บอกว่าสิ่งนี้ดีหรือเลว แต่เรียกว่าเป็นธรรมเนียมทางธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายน่าจะเหมาะสมกว่า

อย่างไรก็ตาม การไม่เปิดเผยนอมินีทำให้เกิดภาพขุ่นมัวกับองค์กรแน่นอน เช่น บริษัทหนึ่งบริหารไม่ดี และผู้ถือหุ้นใหญ่ถือครองหุ้นไว้ 30% จากนั้นคนในบริษัทนั้นอยาก Take over จึงพยายามรวมกันให้ได้มากกว่า 30% แต่ปรากฎว่าตอนโหวตจริงๆ ผู้ถือครองหุ้นใหญ่มีหุ้นที่ซ่อนอยู่ในบริษัทการค้านอกอาณาเขตอีก ก็อาจทำให้การโหวตเพื่อล้มแพ้ไปได้ รวมถึงอีกแง่นึงจึงเป็นเหมือนการเบียดบังผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นรายย่อย ดังนั้นการหาวิธีที่จะคิดสัดส่วนจึงมีความสำคัญอย่างมาก

“ความเจ๋งของงานวิจัยก็คือว่าเราตั้งโจทย์ที่มัน Practical แล้วก็เราเสนอวิธีการคิดที่มันค่อนข้างใหม่ไม่มีใครทำมาก่อน คนโต้แย้งลำบาก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องค่อนข้างสุ่มเสี่ยง ลองนึกภาพว่าผมอุตส่าห์เอาหุ้นไปซ่อนไว้แล้ว แต่ดันมีอาจารย์กับลูกศิษย์มาบอกว่าพวกนั้นเป็นพวกเดียวกับผม ถ้าคุณไม่มีหลักฐานที่เข้มแข็งพอไปชี้หน้าว่าเขาพวกเดียวกันอันนี้เรื่องใหญ่

“ไม่เคยมีงานวิจัยมาก่อนทั้งในไทยและต่างประเทศที่จะสามารถมาบอกได้ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ไปซ่อนหุ้นไว้ที่ไหนยังไง งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นงานวิจัยแรกของโลกที่สามารถหาวิธีที่จะวัด Hidden Ownerships ได้” ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ กล่าว

ด้าน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สนับสนุนให้นักศึกษาที่สนใจผลิตงานวิจัยเพื่อส่งไปยังโครงการของทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ในทุกๆ ปี ซึ่งสำหรับจุดแข็งที่เรามองว่างานวิจัยของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีที่ส่งไปทั้ง 2 ครั้งและได้รางวัลดีเด่นทั้งคู่ เป็นเพราะโจทย์การวิจัยตั้งต้นมาจากภาคธุรกิจจริงๆ ฉะนั้นงานวิจัยที่ทำการศึกษาออกมาจึงมีความเป็นวิชาการที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงกับภาคธุรกิจ และแน่นอนว่าน่าจะสอดคล้องกับความตั้งใจของทางตลาดหลักทรัพย์ที่ทำโครงการเหล่านี้ออกมาอย่างสม่ำเสมอ

“หลังจากนี้น่าจะเป็นการนำไปสู่ความร่วมมืออื่นๆ อีกระหว่างธรรมศาสตร์กับตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น ในกรณีล่าสุดอย่างเรื่อง Hidden Ownerships ว่าควรจะมีการพัฒนาต่อไปดีไหม โดยสิ่งนี้ก็อาจจะเป็นโครงการที่ถ่ายโอนไปให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วยดำเนินการต่อ เพราะถ้าทำคนอื่นๆ ก็จะได้ประโยชน์ด้วย

“หากความร่วมมือเกิดขึ้นจริงกับภาคธุรกิจ เชื่อว่าไม่ใช่แค่ธรรมศาสตร์ที่จะได้ประโยชน์ แต่ทุกมหาวิทยาลัยน่าจะได้รับรู้โจทย์จริงๆ ของภาคธุรกิจ และจะนำไปสู่ค้นคว้าขยายขอบเขตขององค์ความรู้ที่กว้างขวางขึ้นเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป” รศ.เกศินี ระบุ

นายณัฐวุฒิ แวงวรรณ
ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

90 ปี สถาปนาธรรมศาสตร์ ก้าวสู่ 'มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำเพื่อสังคมแห่งอนาคต'

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 90 พร้อมมอบรางวัลเข็มเกียรติยศ ให้แก่ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” อดีต รมว.คลัง และ อดีต รมว.คมนาคม ในฐานะผู้ประกอบคุณงามความดีต่อสังคมและประเทศชาติ ขณะที่

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ คือผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองไทยไปอีก 5 ปี

อาจารรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ระบุ สว. ชุดใหม่ ยังมีอำนาจมากเกินไป และจะเป็นผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า

มธ. จัดเสวนารุมสับระบบเลือก สว.ชุดใหม่ เป็นปัญหามากที่สุด ซับซ้อน ทำให้งงอย่างจงใจ

ศูนย์นิติศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “การเลือก สว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับอนาคตประชาธิปไตยไทย” เนื่องในงานรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535

'ธรรมศาสตร์' เตือน! อย่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แจ้งเตือนบุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า ประชาคมธรรมศาสตร์ และประชาชน ระวังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ขณะนี้พบพฤติกรรมของมิจฉาชีพแอบอ้างว่าเป็น “เจ้าหน้าที่กอง

สำรวจบาดแผล 'เด็ก' ในยุคที่กลายมาเป็น 'คอนเทนต์' ของผู้ใหญ่

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชวนสำรวจบาดแผล ‘เด็ก’ ในยุคที่ต้องกลายมาเป็น ‘คอนเทนต์’ เพราะความเปราะบางของเนื้อหาจะทิ้งร่องรอยความบอบช้ำไว้เสมอ

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ ผงาดนั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 4/2567 ซึ่งเริ่มการประชุมตั้งแต่ในเวลา 09.00 น. ของวันนี้ ได้มีวาระการประชุมเพื่อเลือกอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนใหม่เป็นรอบสุดท้าย