ชำแหละที่มาต้นทุนค่าไฟพุ่ง! สอนรัฐ 3 วิธี ลดภาระประชาชน

29 ก.ค. 2565 – นายนพดล มังกรชัย ประธานฝ่ายวิชาการ พรรคไทยสร้างไทย และอดีตผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงตัวเลขกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่ทำให้ทุกคนต้องประหลาดใจโดยพบว่า ประเทศเรามีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งระบบอยู่ที่ 46,803 เมกะวัตต์ แต่ที่จริงแล้ว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ใช่หน่วยงานหลักในการผลิตไฟฟ้า เพราะมีความสามารถผลิตได้เองแค่ 33.16% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นการผลิตโดยภาคเอกชนและนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ รวม 30,600 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 66.84% อันนี้เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐขาดอำนาจในการถ่วงดุลเรื่องราคาค่าไฟฟ้า

หากพิจารณาโครงสร้างค่าไฟฟ้า จะพบว่ามีอีกเรื่องหนึ่งที่ควรมีการทบทวนโดยเร่งด่วน คือ เรื่องตัวเลขการสำรองไฟฟ้า ซึ่งปกติแต่ละประเทศจะผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน กำหนดค่าการสำรองไว้ไม่เกิน 15% (ประมาณ 4,500 เมกะวัตต์) แต่จากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา กลับมีการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินความต้องการ ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 2559 มีการผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ 7,000 เมกะวัตต์ พอมาปัจจุบันตัวเลขการสำรองสูงขึ้นไปอีกถึง 12,000 เมกะวัตต์ ทำให้ต้องใช้ต้นทุนการผลิตสูง และกลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าส่วนเกินสูงถึง 48,929 ล้านบาท/ ต่อปี ที่ประชาชนต้องแบกรับภาระในปัจจุบัน หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้าที่คนไทยต้องจ่ายโดยเฉลี่ยที่ 2,000 บาท/ ต่อคน/ ต่อปี

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเรื่องการประกันค่าตอบแทนการลงทุนในรูปของการชำระ “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของสัญญาการผลิตไฟฟ้าป้อนรัฐ ซึ่งทำไว้กับภาคเอกชนหลายราย บางรายก็เป็นบริษัทในกลุ่มในเครือของ กฟผ. เอง โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าแม้ไม่ใช้ไฟก็ต้องจ่ายค่าตอบแทน (ไม่ว่าจะเดินเครื่องการผลิตหรือไม่ก็ตาม) ทำให้ประชาชนต้องชำระค่าความพร้อมจ่ายสูงถึง 2,550 ล้านบาท/ ต่อเดือน หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท/ ต่อปี

ในทุกกระบวนการกว่าจะมาเป็นค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับ มีตัวละครหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องผ่านขั้นตอนการซื้อการขายไฟฟ้ามาหลายทอด ทุกๆ ทอดมีการทำกำไรและบวกผลประโยชน์ของตนเข้าไปกว่าจะมาถึงประชาชนก็ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าพุ่งสูงไปลิบลิ่ว

พรรคไทยสร้างไทย ขอเรียกร้องให้รัฐเปลี่ยนวิธีคิดในการกำกับดูแลสาธารณูปโภคของรัฐจากการมุ่งเน้นการทำกำไรเข้ารัฐ มาเป็นการคิดหาทางออกเพื่อช่วยเหลือประชาชน หาทางลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เอาใจใส่ในเรื่องปากท้องของประชาชนมากกว่าเรื่องอื่นใด ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันยังพบว่าก๊าซจากอ่าวไทยซึ่งได้มีการนำไปผลิตเป็นก๊าซหุงต้ม (LPG) แต่ไม่ได้นำมาใช้เพื่อประโยชน์ของภาคประชาชนหรือในครัวเรือนทั้งหมด ภาคประชาชนได้ใช้ประโยชน์เพียงแค่ 35% เท่านั้น ที่เหลือถูกนำไปใช้ในธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งที่จริงแล้วรัฐควรให้ภาคประชาชนได้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในไทยก่อนภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า FT พบว่า มีค่าต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น 236.97 สตางค์/ต่อหน่วย (เพิ่มขึ้นมาจากเดิม 212.20 สตางค์/ต่อหน่วย) สาเหตุหลักนอกจากได้รับผลกระทบมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ยังได้รับผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากรัฐบาลยังคงกำหนดนโยบายแบบเดิม ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง คือใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ต้องปรับสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเพิ่มทุกข์ยากให้แก่ประชาชนในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นในปัจจุบัน

พรรคไทยสร้างไทย ขอนำเสนอแนวทางลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน 3 ประการ ดังนี้

1.ขอให้รัฐต้องเร่งเปิดเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มทุนไทย และบางส่วนเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. ให้มีการทบทวนนโยบายการสำรองพลังงาน (กำหนดอัตราส่วนการสำรองมากเกินไปหรือไม่) พร้อมทบทวนข้อสัญญาในเรื่องการประกันความเสี่ยง และเปิดเจรจาเพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายลงมา เพราะตรงจุดเหล่านี้ คือค่าใช้จ่ายมากที่สุดในระบบไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน

2.เร่งช่วยเหลือคนตัวเล็ก สำหรับบ้าน หรือร้านค้าขนาดเล็กที่ใช้ไฟ (ค่าไฟ) ไม่เกิน 1,000 บาท รัฐบาลช่วยจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง คือ 500 บาท โดยไม่ต้องลงทะเบียนให้ยุ่งยาก

3.ขอให้รัฐเร่งแก้ปัญหาการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศ จนประเทศขาดภูมิคุ้มกัน และอาจต้องเผชิญหน้ากับการเกิดวิกฤตพลังงานในอนาคตอันใกล้นี้ ต้องรีบทำการศึกษาอย่างจริงจังถึงพลังงานทางเลือกอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์โซล่าเซลล์ โซล่ารูฟท็อป โรงไฟฟ้าชุมชน โรงไฟฟ้าขยะในลักษณะเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หากมีไฟฟ้าเหลือแล้ว ก็สามารถนำไปขายต่อให้กับภาครัฐได้ นอกจากจะเป็นการช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ยังเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อม และสามารถนำ Carbon Credit มาขายได้อีกด้วย โดยรัฐต้องให้การส่งเสริมการลงทุน และช่วยเหลือในเรื่องภาระภาษีแก่กิจการเหล่านี้อย่างจริงจัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ถึงอุบลฯ ไหว้พระ เดินชมตลาด สส.ไทยสร้างไทยหน้าเดิม รอต้อนรับด้วย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กราบนมัสการพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง โดยนายกฯได้ถวายขันหมากเบ็ง จากนั้นได้กราบนมัสการและสนทนาธรรมกับพระวชิรกิจโกศล (พระครูสารกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม พระอารามหลวง รองเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี

รทสช. ชี้ข่าวยกเลิกสส.บัญชีรายชื่อ ไม่มีมูลเหตุ วอนทุกฝ่ายหยุดประเด็นทางการเมือง

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกเลิก สส.ระบบบัญชีรายชื่อ เหลือเพียง สส.ระบบแบ่งเขต ว่า การมี สส.ทั้ง 2 ระบบเป็นสิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้ว

นายกฯ เมิน 'หญิงหน่อย' จี้ทำสัญญาไม่โละ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ บอกอย่าสร้างประเด็น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ออกมาระบุว่าพรรคเพื่อไทย มีแนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โล๊ะทิ้งสส.บัญชีรายชื่อให้เป็น

ไม่พลาด! 'อนุสรณ์' ไล่อัด 'หญิงหน่อย' มโนไปเรื่อย ปูดแก้รธน.โละทิ้งสส.ปาร์ตี้ลิสต์

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) อ้างว่ามีความพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญให้ สส.มีที่มาจากระบบเขตทั้งหมด 500 ที่นั่ง

กฟผ.เสริมศักยภาพท่องเที่ยวเกาะสมุย เตรียมขยายเคเบิลใต้น้ำเพิ่ม 1 เส้นรองรับฮับท่องเที่ยว

เกาะสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและต่างชาติ เห็นได้จากหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย การท่องเที่ยวของเกาะสมุยกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

กฟผ. ลุยต่อโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เขื่อนศรีนครินทร์ เปิดขายเอกสารประกวดราคา วันนี้ – 3 ก.ค. 67

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.