นายกฯ มุ่งประสานความร่วมมือกับ UNCTAD เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และยกระดับมาตรฐานการดูแล
19 ก.ค.2565 - เวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างรัฐบาลด้านกฎหมายและนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (The United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ภายใต้ระเบียบวาระกระบวนการประเมินนโยบาย (Voluntary Peer Review) โดยสมัครใจของประเทศไทย ผ่านการบันทึกเทปวีดิทัศน์
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการเสวนากับผู้แทนจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างรัฐบาลด้านกฎหมายและนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกระบวนการประเมินนโยบายโดยสมัครใจของประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญอีกขั้นของรัฐบาลในการมุ่งพัฒนาประเทศและยกระดับนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับการยอมรับในเวทีสากล และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 5 ของโลก และเป็นประเทศที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียที่ได้เข้าร่วมในกระบวนการดังกล่าวของ UNCTAD โดยสมัครใจ ซึ่งเป็นโอกาสให้รัฐบาลได้พิจารณาแนวทางการทบทวนกฎหมายและนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวมของทั้งประเทศ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผ่านการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 20 หน่วยงาน
นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณผู้ประเมินจากสวีเดน เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ ที่ได้ร่วมจัดทำข้อเสนอแนะต่าง ๆ อย่างเป็นอิสระ สร้างสรรค์และเป็นกลาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย และถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างประเทศต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก UNCTAD ทั้งนี้ กระบวนการประเมินนโยบายฯ ครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การกระชับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันจำเป็นต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติที่เสนอให้รัฐสมาชิกและหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคใช้ประโยชน์จากเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิม และเข้าร่วมในข้อตกลงทวิภาคี หรือพหุภาคี ตลอดจนข้อริเริ่มต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อประกอบการอนุวัติแนวปฏิบัติดังกล่าว
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ต่อผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสและบทเรียนสำคัญสำหรับทุกรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งพัฒนาและกำหนดนโยบายใหม่ ๆ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน เพื่อรับมือกับการดำเนินธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม ป้องกันการบิดเบือนตลาด และส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง รู้เท่าทัน และสามารถปรับตัวกับความปกติใหม่ได้ ขณะเดียวกัน ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้บริโภคกับนักลงทุนในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิดฯ ในอีกทางหนึ่ง
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของหน่วยงานด้านการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคของ UNCTAD ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูงในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้กรอบแนวปฏิบัติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติโดยรวม ซึ่งที่ผ่านมามีหลายโครงการที่ให้การสนับสนุนประเทศสมาชิกหลายประเทศ ในการเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรคุ้มครองผู้บริโภคผ่านเครื่องมือเชิงนโยบายและความร่วมมือเชิงวิชาการต่าง ๆ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยจึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือของ UNCTAD เพื่อยกระดับกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่เดิม ให้มีความสอดคล้องทัดเทียมมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น
โดยหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการประเมินนโยบายฯ แล้ว สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีแผนที่จะยกระดับเรื่องการระงับข้อพิพาทออนไลน์ตามที่รัฐบาลได้ริเริ่มไว้เมื่อปี ค.ศ. 2019 นอกจากนี้ รัฐบาลจะเริ่มนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส และทั่วถึง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายในปีนี้ด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการความร่วมมือของ UNCTAD เรื่อง “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการค้าดิจิทัลและการระงับข้อพิพาทออนไลน์สำหรับผู้บริโภค เพื่อเป็นหนทางไปสู่การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งความมุ่งมั่นในการพัฒนากระบวนการระงับข้อพิพาทออนไลน์นั้น ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของอาเซียนในการเร่งสร้างเครือข่ายระบบระงับข้อพิพาทออนไลน์ให้ครอบคลุมทุกประเทศสมาชิกภายในปี ค.ศ. 2025 ตามแนวปฏิบัติอาเซียนว่าด้วยการระงับข้อพิพาทออนไลน์อีกด้วย
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณกลุ่มเส้นทางสายไหมจีนและ UNCTAD สำหรับการสนับสนุนทางเทคนิคมาโดยตลอด และขอขอบคุณผู้ร่วมประเมิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดการข้อพิพาทผู้บริโภคแห่งสวีเดน สำนักงานอัยการกลางด้านคดีผู้บริโภคแห่งเม็กซิโก และคณะตุลาการผู้บริโภคแห่งชาติแอฟริกาใต้ พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเข้าร่วมการเสวนาจะบรรลุวัตถุประสงค์ของกระบวนการประเมินนโยบายโดยสมัครใจของประเทศไทย และจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะช่วยผลักดันให้กระบวนการการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ตุรเกีย' ออกโรงเรียกร้องให้ยูเอ็นคว่ำบาตรการส่งอาวุธให้อิสราเอล
กระทรวงการต่างประเทศของตุรเกียแถลงการณ์ว่า ได้ส่งจดหมายถึงสหประชาชาติที่ลงนามโดย 52 ประเทศและสององค์กร
‘เวชระเบียน’หลอนทักษิณ โยนรพ.ตำรวจมอบให้ปปช.
นายกฯ พยักหน้ารับปม "ป.ป.ช." ทวงถามเวชระเบียนรักษาตัว
'อิ๊งค์' แค่พยักหน้า ปม รพ.ตร. ไม่ยอมส่งเวชระเบียน 'พ่อนายกฯ' ให้ ป.ป.ช.
'นายกฯอิ๊งค์' ปฏิเสธตอบคำถาม ปม รพ.ตำรวจ ไม่ส่งเวชระเบียนรักษาตัว 'ทักษิณ' หลัง ‘ป.ป.ช.’ ทวงแล้ว 3 ครั้ง ทำแค่พยักหน้ารับทราบ
'นายกฯอิ๊งค์' ถกหัวหน้าส่วนราชการ ลุยลงทุน 9.6 แสนล้าน กระตุ้นจีดีพีประเทศ
นายกฯ ถกหัวหน้าส่วนราชการฯ กำชับผลักดันเม็ดเงินลงทุน 9.6 แสนล้าน สู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้น ‘จีดีพี’ ประเทศ
เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม
หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ
'กกร.เชียงใหม่' จ่อชง 'ครม.สัญจร' เยียวยาผู้ประกอบการน้ำท่วม
นายอาคม สุวรรณกันทา ประธานสมาพันธ์ SMEs ไทย จังหวัดเชียงใหม่ และรองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มาหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับเชียงใหม่ปีนี้