ผลกระทบ‘แม่แรงงานย้ายถิ่น’ ปัญหาที่รอแก้!

การพัฒนาอุตสาหกรรมของโลก   ทำให้เกิดความต้องการแรงงานและการย้ายถิ่นระหว่างประเทศจำนวนมาก ในประเทศไทยมีทั้งอพยพจากชนบทเพื่อเข้ามาเป็นแรงงานในเมืองใหญ่  และเดินทางจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศ ซึ่งให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น  

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางและสัญญาจ้างงาน ยังมีข้อจำกัดหลายประการ  แรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้จะต้องอยู่ห่างไกลกับครอบครัวเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเราจะเห็นผลกระทบของปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับเด็กจากการที่ตัวพ่อแม่แรงงานสูญเสียการดูแล  และภาระดูแลตกอยู่กับคนสูงวัย ปู่ ย่า ตา ยาย   ทั้งๆ ที่ต้นตอของเรื่องควรกลับมาย้อนดูนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวกับการจ้างงานและมาตรการช่วยเหลือพ่อแม่ย้ายถิ่นว่า จะมีการเฝ้าระวังเด็กและครอบครัวอย่างไร ในสถานการณ์ที่มีแรงงานย้ายถิ่นระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในอีกด้านหนึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้นำเสนอการศึกษาวิจัยเรื่อง ” ผลกระทบจากการย้ายถิ่นระหว่างประเทศของแรงงานไทยต่อสุขภาพจิตของครอบครัวในประเทศต้นทาง : สถานการณ์การสูญเสียการดูแลและการส่งต่อภาระการดูแลของครัวเรือนที่มีการย้ายถิ่นในประเทศไทย “ โดย ดร.เบญจมาศ เป็นบุญ ซึ่งมี รศ.ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR)  ม.มหิดล  เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา งานวิจัยชี้ให้เห็นความเสี่ยงเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมเกเร เนื่องจากพ่อแม่ไปทำงานต่างแดน   โดยคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติประจำปี 2564 รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาสังคมวิทยา

ดร.เบญจมาศ เป็นบุญ ดุษฎีบัณฑิตของ IPSR ใช้ข้อมูลที่มีกลุ่มตัวอย่าง 1,000 ครัวเรือน เมื่อศึกษาลงลึกไปพบกรณีที่แม่ไม่อยู่กับครอบครัว ส่งผลกระทบมากกว่าพ่อไม่อยู่  พร้อมลุยลงพื้นที่สัมภาษณ์พูดคุยเก็บข้อมูล”แม่แรงงานย้ายถิ่น” ในต่างแดนด้วยตัวเอง ทำให้ได้เห็นมุมมองของแม่แรงงานย้ายถิ่น ซึ่งมีหลายประเด็นน่าห่วง

นักวิจัยบอกว่า ทุกวันนี้ยังคงมีแรงงานไทยไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  อีกทั้งมีกระแสคนรุ่นใหม่แสวงหาแนวทางไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น โดยหญิงไทยส่วนใหญ่ไปทำงานที่ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี และตะวันออกกลาง เป็นแม่บ้านและลูกจ้างทำความสะอาด บางครั้งอาจจะทำหน้าที่ที่มากกว่าทำงานบ้าน เป็นยิ่งกว่าคนรับใช้ ดูแลผู้สูงอายุ ดูแลเด็ก จนถึงสัตว์เลี้ยงของนายจ้าง แต่กลับไม่ได้ดูแลครอบครัวตัวเองเลย

ได้เก็บข้อมูลกับแม่ย้ายถิ่นฮ่องกง ซึ่งทำงานเกิน 5  ปี  10 ปี  ตั้งแต่ลูกยังเล็กจนโตเป็นวัยรุ่น พบว่า แม่ย้ายถิ่น ไม่ได้มองว่า การไปทำงานต่างแดนของตนเป็นการสูญเสียการดูแล  แต่กลับเป็นการดูแลลูกและครอบครัวอีกวิธี   มีการส่งเงินกลับ เพื่อให้ลูกได้รับการศึกษาและฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  แม่พยายามรักษาความใกล้ชิดด้วยการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร วิดีโอคอล รวมถึงพึ่งเครือญาติมาช่วยดูแลเด็กที่แม่ไปทำงานต่างประเทศ “ ดร.เบญจมาศ กล่าว

เมื่อศึกษาพบว่า ภาวะที่พ่อหรือแม่ไปทำงานต่างแดน เด็กผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมมากกว่าเด็กผู้หญิง เช่น ภาวะสมาธิสั้น และเกเร เพราะขาดพ่อแม่ต้นแบบในการดำเนินชีวิต เด็กชายส่วนมากเกรงใจพ่อและเรียนรู้สิ่งที่ดีจากพ่อ เจาะลงลึกไปพบกรณีที่แม่ไม่อยู่กับครอบครัว ส่งผลกระทบมากกว่าพ่อไม่อยู่ด้วย    

ดร.เบญจมาศ บอกว่า แม่ไม่อยู่กับครอบครัว เมื่อเด็กเติบโตเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งในบ้านมีแต่ปู่ ย่า ตา ยาย อยู่ด้วย ประสบปัญหาช่องว่างระหว่างวัย เด็กปรับตัวไม่ได้ เกิดผลกระทบทางจิตใจ มีความสับสน วิตกกังวล  บางคนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โกหก  หรือลักขโมย แม่แรงงานย้ายถิ่นหลายคนเห็นปัญหามากขึ้น และคิดว่า ถ้าอยู่ตรงนั้นก็จะสามารถดูแลลูกได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้น ครอบครัวต้องเฝ้าระวังและสังเกตเป็นพิเศษถ้าพ่อแม่เป็นแรงงานย้ายถิ่น

ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างแม่แรงงานย้ายถิ่นที่มีลูกสาวกำลังสับสนทางเพศ ลูกเป็นเพศที่สามหรือเปล่า   ตายายที่มีบทบาทดูแลไม่เข้าใจ ในตัวเด็กก็มีภาวะเครียด  ทำให้เขาอึดอัด เกิดผลเสียต่อจิตใจเด็ก  แม่รู้ลูกมีปัญหา ด้วยการทำงานที่อยู่ต่างประเทศ ไม่อยากห่างเหิน ก็ใช้เทคโนโลยีสื่อสารกับลูกมากขึ้น แบ่งปันมุมมองประสบการณ์ สุดท้ายลูกก็ปรับพฤติกรรมตรงตามเพศ ถ้าพ่อแม่ดูแลลูก ลูกจะเข้าใจมีที่ปรึกษา

 อีกเคสพ่อแม่ทำงานไกลบ้านจ้างคนไม่รู้จักดูแลเด็ก เพราะเครือญาติไม่สะดวกในการรับภาระดูแล ซึ่งรูปแบบนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  อาศัยคนข้างบ้าน คนไม่รู้จักเลี้ยงลูก รายนี้โชคดีที่คนเลี้ยงรักและดูแลเหมือนลูกหลาน เด็กก็ปรับตัวอย่างมากเรียกคนดูแลว่า “แม่” เวลาแม่ตัวจริงกลับมาเยี่ยม  ได้อยู่ใกล้ชิดกัน เมื่อถึงเวลาต้องกลับไปทำงานต่างประเทศ  ลูกร้องไห้แทบขาดใจ  ผู้ดูแลก็สะเทือนใจเหมือนต้องพรากลูกออกจากอกแม่ด้วยความจำเป็น    อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ไม่โชคดีแบบนี้ การจ้างคนดูแลเด็ก เสี่ยงเผชิญปัญหาความรุนแรง การล่วงละเมิด ท้ายสุดไม่มีใครดูแลและรับผิดชอบลูกได้ดีที่สุดเท่าที่พ่อแม่ดูแลลูกด้วยตนเอง  

“ ส่วนมากแรงงานจะได้กลับมาเยี่ยมครอบครัวทุกๆ 2 ปี  เป็นข้อตกลงจากสัญญาจ้างงาน  ซึ่งที่พูดคุยแม่อยากกลับถ้าไม่สูญเสียรายได้ พวกเขามองว่า ถ้าต้องแลกกับค่าใช้จ่ายเดินทางกลับบ้านเกิดที่เสียไป เก็บเงินไว้ให้ลูกเรียนหรือเป็นค่ารักษาพยาบาลครอบครัวยามเจ็บป่วยดีกว่า นอกจากนี้ ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการประกาศล็อกดาวน์ ทำให้แรงงานย้ายถิ่นไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้   “ ดร.เบญจมาศ กล่าว

แนวทางที่จะลดปัญหาและสร้างครอบครัวให้สุขสันต์เมื่อพ่อแม่เป็นแรงงานย้ายถิ่น ดร.เบญจมาศเสนอว่า แต่ละครอบครัวมีความจำเป็นและมีสภาพเศรษฐกิจในครัวเรือนแตกต่างกัน บางครอบครัวเลือกไม่ได้พ่อแม่ต้องไปทำงานต่างประเทศ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีเชื่อมสัมพันธ์เพิ่มความใกล้ชิด

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาระดับนโยบาย เธอเสนอว่า รัฐบาล กระทรวงต่างๆ ต้องสร้างนโยบายที่เป็นธรรม เท่าเทียม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานย้ายถิ่น และครอบครัวแรงงานย้ายถิ่น  ลดข้อจำกัดในการเดินทางกลับมาเยี่ยมครอบครัว  ปรับสัญญาจ้างงานและสวัสดิการแรงงาน ทำให้แรงงานกลับประเทศได้บ่อยขึ้น  โดยรักษาสถานภาพการจ้างงาน  สิ่งนี้จะเป็นแรงจูงใจให้เหล่าแรงงานย้ายถิ่นระหว่างประเทศกลับมาเยี่ยมบ้านประเทศต้นทาง  

นอกจากนี้ เสนอให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ พัฒนาระบบติดตาม เฝ้าระวังครอบครัวแรงงานย้ายถิ่นระหว่างประเทศ เพิ่มนักพัฒนาสังคมระดับจังหวัด นักสังคมสงเคราะห์เยี่ยมบ้านแบบสหวิชาชีพ ช่วยเหลือให้ครัวเรือนที่พ่อแม่ย้ายถิ่นมีการเฝ้าระวัง และตรวจสอบสุขภาพจิตใจของเด็กและผู้ดูแลด้วย ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่า จะเพิ่มโอกาสการดูแล ลดผลกระทบและปัญหาสังคมมิติอื่นๆ ที่จะตามมา

อย่างไรก็ดี ดร.เบญจมาศ เผยไทยยังคงมีประเด็นแรงงานอพยพจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากเข้ามาทำงานและมีเด็กติดตามมาด้วย ลูกของบรรดาแรงงานข้ามชาติขาดโอกาส ไม่มีสิทธิ ไม่เสียง เข้าไม่ถึงการคุ้มครองทางสุขภาพ ขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว อัตราการเกิดของเด็กไทยลดลง และคาดว่าจะลดลงไปเรื่อยๆ ไทยจะขาดแคลนแรงงาน ทำให้สนใจจะทำวิจัยแนวทางพัฒนาศักยภาพเด็กแรงงานข้ามชาติไปสู่แรงงานคุณภาพให้เกิดประโยชน์ต่อภาคแรงงานไทยในระยะยาว  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ไอซ์-โอม-เล้ง' รวมพลังช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส เนื่องในวันมหิดล

แฟนๆห้ามพลาด ไอซ์-ศรัณยู วินัยพานิช ศิลปินจีเอ็มเอ็ม มิวสิค โอม-ภวัต จิตต์สว่างดี และ เล้ง-ธนพล อู่สินทรัพย์ นักแสดงจีเอ็มเอ็มทีวี ชวนมาร่วมทำบุญ ในงานแถลงข่าว 24 กันยายน “วันมหิดล” ศิลปินรวมใจช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส รพ.ศิริราช

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แท็กทีม ศิลปิน-ดีเจ. ชวนคนไทยสมองดีด้วยการออกกำลังกาย

พลพล-ทชภณ พลกองเส็ง แท็กทีมศิลปินจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ไอซ์-ศรัณยู วินัยพานิช, จา สิงห์ชัย และ ไตเติ้ล-ธนธัช ทิพย์จักษุ พร้อมด้วย มิ้ลค์-พรรษา วอสเบียน, เลิฟ-ภัทรานิษฐ์ ลิ้มปติยากร นักแสดงจาก จีเอ็มเอ็มทีวี และ ดีเจ.เคเบิ้ล-ติณณภพ ผดุงธรรม, ดีเจ.เอไทม์ มีเดีย ร่วมใจชวนคนไทยใส่ใจสุขภาพสมองผ่านกิจกรรม “เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 10