11 ก.ค.2565 - ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหาร ว่า สำนักสิ่งแวดล้อม ได้เสนอการพิจารณากำหนดวันบังคับใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ.2562
นายชัชชาติ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันกทม.ใช้งบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี ในการจัดการขยะ แต่สามารถจัดเก็บค่าขยะได้เพียง 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากหากเทียบกับค่าจัดการขยะ ดังนั้นจึงจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) ในวันที่ 29 ส.ค. เพื่อขอความเห็นชอบการเลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยอัตราใหม่ จาก 20 บาท เป็น 80 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากเกรงว่าจะไปซ้ำเติมประชาชนด้วยเศรษฐกิจแบบนี้
“ทั้งนี้เห็นว่าควรลดต้นทุนในการจัดการขยะ ที่กทม.ต้องใช้งบประมาณหมื่นล้านต่อปี มากกว่าการไปเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียม โดยการรณรงค์แยกขยะ ด้วยแนวคิดขยะเป็นทองคำ โดยการเพิ่มแรงจูงใจ ในการแยกขยะ ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลและใช้ประโยชน์หรือนำไปขายได้ เชื่อว่าหากมีการคัดแยกขยะ จะสามารถลดค่าจัดการขยะที่กทม.ต้องเสียปีละ 8,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน “ นายชัชชาติ กล่าว
เมื่อถามถึง ความชัดเจนว่าหากมีการเลื่อนการจัดเก็บขยะครั้งนี้ออกไปอีก 1 ปี ในวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. 4 ปีนี้ จะมีการจัดเก็บตามอัตราใหม่หรือไม่ เพราะแม้จะมีการจัดเก็บค่าขยะอัตราใหม่ แต่ยังไม่เพียงพอต่อค่าบริหารจัดการขยะ ซึ่งกทม.ยังต้องใช้จ่ายงบประมาณในการบริหารจัดการขยะปีละหลายพันล้านบาท นายชัชชาติ กล่าวว่าปัจจุบัน กทม.จัดเก็บค่าขยะได้ประมาณ 500 ล้าน จึงอยากให้โฟกัสเรื่องการลดค่าใช้จ่ายมากกว่า เพราะการขึ้นค่าจัดเก็บขยะเป็นภาระของประชาชน ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่รัฐต้องให้บริการพื้นฐานอยู่แล้ว
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากมีการจัดเก็บค่าขยะอัตราใหม่ จะทำให้มีรายได้ในส่วนนี้ จาก 500 ล้าน เป็นประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ประชาชนต้องจ่ายมากขึ้น ซึ่งประชาชนอาจมีข้อจำกัดมากกว่าภาคเอกชน หากเราประกาศขึ้นค่าขยะอัตราใหม่ภาคเอกชนสามารถขายขยะ หรือรีไซเคิลขยะได้มีประสิทธิภาพมากกว่า อาจทำให้ขยะลดน้อยลงด้วย
“โดยตัวเลขปัจจุบัน ค่าขยะมาจากบ้านเรือนประชาชน คอนโด ที่อยู่อาศัย ประมาณร้อยละ 60 มองว่าประชาชนที่มีศักยภาพในการรีไซเคิลขยะหรือนำขยะไปขายได้น้อยกว่าภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องคิดให้รอบคอบ รูปแบบการจัดเก็บขยะที่เลื่อนการจัดเก็บตั้งแต่ปี2562 ยังนับน้ำหนักขยะเป็นหลัก ไม่ได้คิดถึงแรงจูงใจในการบริหารจัดการขยะ เช่นการคัดแยกขยะ จึงต้องคิดให้รอบคอบเรื่องข้อบัญญัติการจัดเก็บขยะอีกครั้งหนึ่ง” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 รายพื้นที่ทั่วไทย
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
คน กทม. เกินครึ่งไม่เห็นด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
นย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติด
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ 'เหนือ-กทม.' ยังอ่วม
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
67 พื้นที่ กทม. พบค่าฝุ่นสูงกระทบสุขภาพ
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร