ซูเปอร์โพล ชี้คนไทยใช้ความรุนแรงแก้ปัญหามากขึ้น เกิดความขัดแย้ง แบ่งขั้ว

10 ก.ค. 2565 – นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ความขัดแย้ง แบ่งขั้ว และทางออก กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 2,250 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5 – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.9 ระบุ คนไทยวันนี้ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหามากขึ้น และร้อยละ 73.4 ระบุ สื่อ โซเชียลมีเดีย ยุยง ปลุกปั่น แบ่งขั้วของคนไทย สั่นคลอนเสาหลักของชาติมาจากนอกประเทศ

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.7 ระบุ ความขัดแย้ง การใช้ความรุนแรงของคนในชาติคือ ตัวถ่วง ฉุดรั้ง การพัฒนาประเทศ โดยมีร้อยละ 58.5 ระบุ มีขบวนการปั่นกระแสเกลียดชัง แบ่งขั้วคนไทยในประเทศ และร้อยละ 53.6 ระบุ คนไทยมีน้ำใจ โอบอ้อมอารีต่อกัน ลดน้อยลง

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงทัศนคติต่อความขัดแย้ง แบ่งขั้วของคนไทยวันนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.5 ระบุความขัดแย้ง แบ่งขั้ว เป็น ตัวทำลายชาติบ้านเมืองและความสุขของประชาชน หากนำไปสู่ การแบ่งขั้ว มีอคติ สร้างความเกลียดชัง ใช้ความรุนแรงบานปลาย ร้อยละ 88.2 ระบุ การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เป็นตัวเร่งสร้างความขัดแย้งของคนในชาติ และร้อยละ 82.4 ระบุ ความขัดแย้งทางความคิดของคนในชาติ เป็น พลังบวก สร้างสรรค์สู่การพัฒนา หากหาทางออกร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.5 ระบุทางออกของปัญหาขัดแย้งของคนในชาติ คือ เปิดใจพูดคุยกัน ไม่โทษกัน ยอมรับความหลากหลายและหาทางออกร่วมกัน ร้อยละ 87.6 ระบุ เปิดกว้างมีส่วนร่วม ไม่ผูกขาดแก้ความขัดแย้งของคนในชาติอยู่ที่เฉพาะกลุ่มและหน่วยงาน โดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ร้อยละ 85.5 ระบุ ใส่ใจ รับฟัง ให้ความสำคัญ เสียงส่วนน้อย เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 64.7 ระบุ อื่น ๆ เช่น กระจายอำนาจและผลประโยชน์ให้คนตัวเล็กตัวน้อย อย่าให้องค์กรต่างชาติแทรกแซง และสกัดกั้นการผูกขาดกลุ่มทุนผลประโยชน์ ไม่เอาเปรียบประชาชนคนรากหญ้าของสังคม เป็นต้น และที่น่าเป็นห่วงคืออันดับรั้งท้ายของทางออก คือ ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 43.1 หวังพึ่งใช้ สภาผู้ทรงเกียรติเป็นทางออก แก้ความขัดแย้งของคนในชาติ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทย มีการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหามากขึ้น มีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียจากในและนอกประเทศ ยุยงปลุกปั่น แบ่งขั้วสั่นคลอนเสาหลักของชาติ ความขัดแย้ง กลายเป็นตัวถ่วงฉุดรั้งการพัฒนาประเทศที่มีขบวนการปั่นกระแสความเกลียดชังแบ่งฝ่ายของคนไทย เป็นเหตุปัจจัยสำคัญซ้ำเติมวิกฤตแห่งความขัดแย้งของคนในชาติ ขณะที่ความมีน้ำใจโอบอ้อมอารี ต่อกันของคนไทยลดน้อยถอยลง

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่มีทัศนคติว่า ความขัดแย้งแบ่งขั้วของคนในชาติ เป็นตัวทำลายชาติบ้านเมืองและความสุขของประชาชนหากนำไปสู่การแบ่งขั้ว มีอคติ สร้างความเกลียดชัง สู่การใช้ความรุนแรงบานปลาย ซึ่งทัศนคติของประชาชนและความตระหนักเช่นนี้ อาจจะทำให้เห็นความหวังในการนำความขัดแย้งทางความคิดของคนในชาติไปสู่พลังบวกที่สร้างสรรค์สู่การพัฒนา หากหาทางออกร่วมกัน แต่การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม กลับเป็นตัวเร่งสร้างความขัดแย้งของคนในชาติที่สำคัญ

“ทางออกคือ การเปิดใจพูดคุยกัน ยอมรับและหาทางออกร่วมกัน เปิดกว้างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ไม่ผูกขาด รอการแก้ปัญหาความขัดแย้งของชาติไว้กับ เฉพาะกลุ่มและหน่วยงาน ความขัดแย้งของสังคมที่ลงลึกและขยายกว้าง ควรจะอยู่ในมือของทุกคนที่ร่วมกันหาทางออก โดยยึดเอาประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีอคติเป็นหลัก ร่วมสกัดกั้นขบวนการยุยง ปลุกปั่นก่อวิกฤตความขัดแย้งของคนในชาติ โดยผู้มีอำนาจ ต้องให้ความสำคัญใส่ใจ รับฟังเสียงส่วนน้อย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างจริงจังต่อเนื่อง ที่สำคัญ สภาผู้ทรงเกียรติ ต้องเป็นตัวอย่างของทางออกและความสำเร็จของการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เป็นต้นตอแห่งความขัดแย้งและการปลุกปั่นกระแสเกลียดชัง แบ่งขั้วของคนในชาติเสียเอง” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปมขัดแย้งภายในเพื่อไทย บทพิสูจน์ภาวะผู้นำ 'อุ๊งอิ๊ง'

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ความขัดแย้งในพรรคเพื่อไทย : บทพิสูจน์ภาวะผู้นำของอุ๊งอิ๊ง

'ดุสิตโพล' เผยคนไทยเบื่อความขัดแย้งในสตช.

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “หัวอกของคนเสพข่าวความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,040 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 25-28 มิถุนายน 2567

กลุ่ม LGBTQ ยังไม่เข้าใจกม.สมรสเท่าเทียม

นายนพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง เสียงของ LGBTQiA+ กรณีศึกษาตัวอย่างกลุ่ม LGBTQiA+ ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)