กสม.ข้ามห้วย ตรวจสอบพนักงานขับรถพ่วงถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แนะกระทรวงแรงงานเพิ่มระเบียบให้นายจ้างรับฟังคำชี้แจงก่อนเลิกจ้าง เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานตามหลักสากล
07 ก.ค.2565 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ แถลงว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2565 ว่า ลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถพ่วงของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม สืบเนื่องจากพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวซึ่งมีหน้าที่ในการขับรถขนส่งปูนซิเมนต์ให้ทันตามรอบเวลาที่บริษัทกำหนด ในบางรอบด้วยเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจดำเนินการได้ทันเวลา เช่น สภาพรถไม่พร้อมใช้งาน หรือผู้เกี่ยวข้องไม่ได้เติมน้ำมันให้เพียงพอต่อการใช้งาน แม้พนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวจะได้แจ้งปัญหาให้กับหัวหน้างานทราบแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ต่อมาในการขับรถส่งงานครั้งหนึ่งได้เกิดเหตุระบบคลัตช์ของรถมีกลิ่นเหม็นไหม้ พนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวจึงไม่ได้ขับรถต่อไปเนื่องจากต้องรอการตรวจสอบสภาพรถ เป็นเหตุให้ฝ่ายบุคคลของบริษัทเอกชนผู้ถูกร้องบอกเลิกจ้างด้วยเหตุผลปฏิบัติงานล่าช้า แม้พนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวจะพยายามติดต่อบริษัทเพื่อชี้แจงเหตุผลแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับโอกาสให้ชี้แจงแต่อย่างใด ทั้งนี้ได้รับแจ้งว่าการเลิกจ้างระหว่างช่วงเวลาที่มีการปฏิบัติงานไม่ถึงสามเดือนไม่เป็นความผิด จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่บริษัทผู้ถูกร้องเลิกจ้างพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าว โดยไม่แจ้งล่วงหน้าหรือจ่ายค่าจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า โดยอ้างเหตุว่าพนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับหรือข้อสั่งการของบริษัทอันเป็นเหตุยกเว้นในการแจ้งการเลิกจ้างล่วงหน้า หรือจ่ายเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น การดำเนินการเลิกจ้างดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้มีการตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือแล้ว แต่จากการตรวจสอบไม่ปรากฏว่าบริษัทเคยมีหนังสือตักเตือนพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวแต่อย่างใด แม้บริษัทระบุว่าได้มีการตักเตือนด้วยวาจาโดยหัวหน้างานแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏบันทึกการตักเตือนด้วยวาจาตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับระเบียบการทำงานของบริษัทแต่อย่างใด จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ให้การรับรองไว้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังมิได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 158 ว่าด้วยการเลิกจ้าง ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) ซึ่งได้รับรองสิทธิในการชี้แจงเหตุผลต่อข้อกล่าวอ้างอันเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างด้วยจากการกระทำหรือผลการปฏิบัติงานของตน และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่พบว่ามีข้อบัญญัติมาตราใดที่กำหนดให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบ หรือให้ลูกจ้างได้ชี้แจงต่อการกระทำของตนอันเป็นเหตุในการถูกเลิกจ้างก่อนการพิจารณาเลิกจ้างไว้เป็นการเฉพาะ แต่การถูกเลิกจ้างโดยไม่มีการตรวจสอบ หรือไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริง เหตุผล ข้อโต้แย้งจากลูกจ้าง ย่อมเป็นการพิจารณาตัดสินที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ซึ่งนอกจากลูกจ้างจะต้องรับสภาพการถูกเลิกจ้างดังกล่าวแล้ว ยังต้องได้รับผลกระทบด้านประวัติการทำงานและโอกาสในการถูกพิจารณาเข้ารับการว่าจ้างในที่ทำงานแห่งใหม่ และแม้สภาพการจ้างงานจะเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสถานะของลูกจ้างย่อมมีอำนาจในการต่อรองที่ด้อยกว่านายจ้าง อันเป็นที่มาของบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างจากการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม
เพื่อให้เกิดการแก้ไขและป้องกันการกระทำซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในลักษณะเดียวกันนี้กับลูกจ้างรายอื่นอีก กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงแรงงาน บริษัทผู้ถูกร้อง และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช สรุปได้ดังนี้
1.มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้บริษัทผู้ถูกร้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับระเบียบการทำงานของบริษัทอย่างเคร่งครัด รวมทั้งแจ้งสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับทั้งก่อนการว่าจ้างและเมื่อสิ้นสุดการว่าจ้าง และให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาให้บริษัทผู้ถูกร้องดำเนินการเยียวยาพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้
นอกจากนี้ ให้กระทรวงแรงงานพิจารณาให้มีการเพิ่มเติมกฎ ระเบียบ หรือข้อกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีการสอบสวน หรือต้องรับฟังคำชี้แจงของลูกจ้างต่อข้อกล่าวอ้างอันเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างก่อนเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 158 ว่าด้วยการเลิกจ้าง ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) อันเป็นไปตามที่แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (พ.ศ. 2562 - 2565) ได้กำหนดให้กระทรวงแรงงานทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานที่ยังมีช่องว่างระหว่างกฎหมายและทางปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้
2.มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงแรงงานกำชับให้สำนักงานส่วนภูมิภาคส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในพื้นที่รับผิดชอบนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practice: GLP) ไปใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจของตน ตามที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (พ.ศ. 2562 - 2565) และให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงานแก่นายจ้างและลูกจ้างในพื้นที่ความรับผิดชอบ โดยเฉพาะสิทธิในการได้รับการคุ้มครองจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมรวมทั้งช่องทางการร้องเรียน และกำชับให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงเก็บเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ชดเชย 2 กรณี ลาออก-ตาย
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) และร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
'พิพัฒน์' รมว.แรงงาน ห่วงทายาทพนักงานกวาดถนนเทศบาลนครอ้อมน้อย ประสบเหตุถูกรถกระบะชนเสียชีวิต 2 ราย มอบประกันสังคม จ่ายเงินทดแทนกรณีตายในงาน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยและแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมมอบหมายให้ นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เร่งดำเนินการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ
"พิพัฒน์" ขออภัย APP SSO PLUS กู้เพื่อที่อยู่อาศัย ล่ม ! สั่งการปลัดฯ เร่งแก้ไข เกาะติดหลังผู้ประกันตนแห่ลงทะเบียน 1 พ.ย.67
1 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงโรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดทำ “
"พิพัฒน์" แสดงความเสียใจ 4 แรงงานเสียชีวิตในอิสราเอล สั่งการปลัดประสานเอกอัคราชทูต อพยพแรงงานภาคเหนือ ไปทางภาคใต้ของอิสราเอล ด่วน
1 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ออกมาแสดงความเสียใจ กรณีแรงงานไทยเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย จากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ว่า
“พิพัฒน์” ย้ำ ในเวทีรัฐมนตรีอาเซียน แรงงานไทยรุ่นใหม่ มีทักษะ รองรับงานท่องเที่ยว เทคโนโลยี เกษตรอัจฉริยะ พร้อมเป็นเจ้าภาพ ปี 69 ต่อจากสิงคโปร์
วันที่ 31 ตุลาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน
"พิพัฒน์” ห่วงใย เหตุการณ์ลูกจ้างถูกปั้นจั่นเฉี่ยวเสียชีวิตที่สมุทรปราการ มอบประกันสังคมเยียวยาทายาท 9.5 แสนบาท
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุลูกจ้างถูกปั้นจั่นเฉี่ยวชนเสียชีวิตในพื้นที่จัดเก็บสินค้าของการบินไทย บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์