'ชัชชาติ' รับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นปัญหาหนักอกที่สุด กทม.ตัดสินใจเองไม่ได้

ผู้ว่าฯกทม. เข้าสภาฯ แจง “กมธ.คมนาคม” ยัน รถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.ตัดสินใจเองไม่ได้ ต้องปรึกษา “เคที” ก่อน ด้าน “โสภณ” เผย เตรียมตั้งอนุกมธ.แก้ปัญหาด่วน

30 มิ.ย.2565 - ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นประธาน กมธ. ได้เชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เข้าชี้แจงเกี่ยวกับระบบขนส่งและการจัดการคมนาคมทั้งระบบในกทม. เพื่อฝ่ายนิติบัญญัติจะได้สนับสนุนให้งานของกทม.เดินไปได้

ด้าน นายชัชชาติ ชี้แจงว่า กทม.มีหลายหน่วยงานที่ต้องดูแลเรื่องคมนาคมและการจราจรทางถนน โดยกทม.รับผิดชอบเพียงแค่ฟุตปาธเป็นหลัก ส่วนไฟจราจรเป็นหน้าที่ของตำรวจจราจร ส่วนถนนเส้นหลักเป็นหน้าที่ของกรมทางหลวงดูแล ส่วนคลองกรมเจ้าท่าดูแล ส่วนรถไฟฟ้า กทม.ดูแลแค่สายเดียวคือสายสีเขียวเพราะเป็นสายหลัก ส่วนสายอื่นๆ 7-8 สายและแอร์พอร์ตลิงก์ กทม.ไม่ได้ดูแล ซึ่งนโยบายของกทม.คือเป็นผู้ประสานงาน เช่น การจราจรทางถนน ตนได้ไปหารือกับตำรวจ เพราะปัจจุบันตำรวจเป็นผู้ควบคุมไฟจราจร แต่ใช้ระบบแมนนวล ต่างคนต่างดู แต่ทรัพยากรเรามีจำกัดจึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยกทม.พร้อมที่จะตั้งงบประมาณ เพราะทางตำรวจคงไม่สามารถตั้งงบประมาณในส่วนนี้ได้ เพื่อที่จะสามารถดูระบบการจราจรที่ดีขึ้น รวมถึงเรื่องการจ่ายใบสั่งเพื่อเก็บค่าปรับ ซึ่งค่าปรับตรงนี้ช่วยซัพพอร์ตระบบการเงิน ซึ่งกทม.เริ่มดำเนินการที่จะทำระบบอัจฉริยะแล้ว และหากกมธ.จะให้งบประมาณมาดำเนินการ กทม.ก็ไม่ขัดข้อง เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ของประชาชน นอกจากนั้นยังต้องปรับปรุงถนนหาจุดตัดต่างๆ และให้เทศกิจมาช่วยจราจร ซึ่งอนาคตมีแนวคิดที่จะโอนตำรวจจราจรมาให้กทม. ซึ่งเราต้องดูอีกครั้ง เพราะตำรวจจราจรมีภารกิจหลายอย่างที่อาจจะมีเรื่องขัดข้องอยู่ และต้องดูว่าหากโอนมาเขามีความพร้อมแค่ไหน

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า เรื่องระบบขนส่งมวลชน ทางกทม.กำลังพิจารณาเดินรถเมล์บางจุดเสริมกับ ขสมก. เพราะขณะนี้ใบอนุญาตอยู่ที่กรมขนส่ง ไม่ได้อยู่ที่ ขสมก. ดังนั้น กทม.สามารถขออนุญาตเดินรถในบางเส้นทางได้ ซึ่งเวลานี้บางเส้นทาง ขสมก.ขาดระยะ รถของกทม.ก็จะเข้าไปเสริม ซึ่งอาจจะเลือกเส้นทางที่มีความสอดคล้องกับรถไฟฟ้า รวมทั้งเสริมรถให้กับคนพิการที่มีการร้องเรียนว่ารถไม่พอด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนักอกที่สุดคือ เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเฉพาะที่กทม.อยู่ในแผนคือสายสีเทา จากเรียบด่วนรามอินทราไปพระราม 3 และสายสีเงินบางนาสุวรรณภูมิ ซึ่งแนวคิดของตนที่ยังไม่ได้นำเข้าหารือในสภาฯ กทม. เราคิดว่าในโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้จะให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน เพราะกทม.ไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ส่วนเรื่องตั๋วร่วมเป็นตั๋วเดียวแต่ราคาเดียวกัน โดยมีผู้รับผิดชอบคนเดียวซึ่งจะเป็นผู้เคาะราคา โดยจะมีการเจรจาให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน

ส่วนสายสีเขียวที่ยังมีปัญหาค้างอยู่คงมีปัญหาต่อเนื่องเยอะ เพราะสัญญาที่ทำผูกพันเยอะ เพราะสัมปทานจะหมดสัญญาปี 72 และหลังจากนั้นจะมีการประมูลใหม่จะใช้ระบบอย่างไร จะเอาไปรวมแล้วคิดระบบตั๋วร่วมกัน แต่บังเอิญว่าปี 72-85 เขาเซ็นสัญญาล่วงหน้าไปแล้วในการจ้างเอกชนเดินรถ ซึ่งเป็นสัญญาผูกพันกับเอกชน ซึ่งต้องดูเงื่อนไขว่าเราจะทำอะไรตามที่ควรจะเป็นไม่ได้และเรามีภาระเรื่องหนี้ที่รัฐบาลลงทุนไปแล้วโอนให้กทม. รวมกับหนี้ที่ไปจ้างเดินรถแล้วยังไม่ได้จ่ายเขาอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมาดูอีกครั้งว่าจะจ่ายหนี้อย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาแล้วเราก็ต้องดูแลต่อไป

“หลายเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว เราตัดสินใจเองไม่ได้ เพราะเกิดภาระหนี้จำนวนมาก เราจึงต้องเอาเข้าสู่สภาฯกทม. เพื่อให้ช่วยตัดสินใจ ส่วนข้อเสนอเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเพดานไม่เกิน 59 บาทนั้น รถไฟฟ้าแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนขยายที่ 1 เราเก็บค่าโดยสาร 15 บาท ส่วนไข่แดงเก็บค่าโดยสาร 44 บาท แต่ส่วนขยายที่ 2 ไม่เคยเก็บเลย แต่ไม่ได้ฟรีเนื่องจากกทม.จ้างเอกชนเดินรถ ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI จึงเสนอให้ขยายเพดานเป็นไม่เกิน 59 บาท ในทั้ง 3 ส่วน

ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาระบุ มีประชาชนเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้บริการรถไฟฟ้า หากเอาภาษีประชาชนไปใช้จ่ายในส่วนนี้อาจจะไม่ค่อยแฟร์นั้น ยืนยันว่าแนวคิดการเก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 59 บาท เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นในส่วนขยายที่ 2 เท่านั้น ดังนั้นข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ให้เก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 44 บาท จึงเป็นไปได้ยาก เพราะแค่ในส่วนไข่แดงเก็บ 44 บาทก็ขาดทุนแล้ว

นอกจากนี้แนวคิดตั๋วร่วม อย่าเข้าใจผิดว่าจะเป็นวิธีแก้ไขปัญหาราคารถไฟฟ้าได้เพราะตั๋วร่วมเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในการชำระเงิน แต่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างราคา ปัจจุบันมีการใช้ระบบเทคโนโลยีต่างๆ เพียงใช้บัตรเครดิตก็สามารถใช้บริการได้ทุกที่” ผู้ว่ากทม. กล่าว

จากนั้น นายโสภณ ให้สัมภาษณ์ว่า ในฐานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เราอยากทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. คือมาเอ็กซเรย์ปัญหาและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานในกทม. โดยทางกมธ.จะตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยทางผู้ว่าฯ กทม. จะส่งคนมาร่วมเป็นอนุกรรมาธิการด้วย

ขณะที่นายชัชชาติ กล่าวว่า การทำงานของกทม.ต้องประสานกับหลายหน่วยงานรวมทั้งรัฐบาลด้วย เพราะหลายอย่างไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา รวมทั้งกฎหมายต่างๆ บางครั้งอาจจะต้องมีการปรับแก้เพื่อให้กฎหมายที่ทันสมัย สามารถตอบโจทย์คนกทม.ได้ จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่กมธ.เชิญมาเพราะสุดท้ายแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ และการตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อที่จะได้เห็นปัญหาและแก้ปัญหาได้เลย ส่วนเรื่องปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในสัปดาห์หน้าน่าจะมีความคืบหน้า โดยตนจะพบนายธงทอง จันทรางศุ ประธานบริษัท กรุงเทพธนาคมจำกัด (เคที) ในวันที่ 2 ก.ค.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.รทสช. จี้ ‘ผู้ว่าฯกทม.’ เร่งแก้ปัญหาคนแร่ร่อน นอนเกลื่อนถนนริมคลองหลอด

สส.เกรียงยศ จี้กทม.เร่งแก้ปัญหาคนแร่ร่อนนอนเกลื่อนถนนริมคลองหลอดใกล้ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแค่เอื้อม หวั่นชาวต่างชาตินำภาพไปเผยแพร่จะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับเมืองท่องเที่ยว ดักคออย่าโยนให้แต่กระทรวงพม.

ดร.สามารถ : เก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจ หาเงินซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “เก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจ หาเงินซื้อ

กมธ.คมนาคม สว. เรียกหน่วยงานชี้แจงเหตุไฟไหม้รถบัส ขนส่งฯไม่รู้เปลี่ยนใช้แก๊สเมื่อไหร่

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา มีการประชุม เพื่อพิจารณากรณีเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษานักเรียน โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม