กสม.บี้สภาสูงเร่งคลอดกฎหมายป้องกันทรมานออกมาบังคับใช้

กสม.ประกาศให้ความสำคัญป้องกันการทรมานและสูญหาย ชงข้อเสนอแนะ 10 ข้อให้สภาสูง พร้อมเร่งให้ผ่านออกมาบังคับใช้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

30 มิ.ย.2565 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กสม.แถลงข่าว ว่าตามที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เสนอ และได้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา (ส.ว.) แล้วนั้น กสม.ให้ความสำคัญต่อร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สมควรได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ห้ามไม่ให้มีการกระทำทรมาน หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และในการจับกุมหรือคุมขังบุคคลจะต้องมีคำสั่งหรือหมายศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น อีกทั้งเป็นการสมควรที่จะต้องมีกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้

กสม. จึงเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้โดยเร่งด่วน และเพื่อให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในชั้นวุฒิสภาเป็นไปอย่างรอบด้านและสอดคล้องกับหลักการสากล กสม. โดย น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม.จึงมีหนังสือลงวันที่ 23 มิ.ย.2565 เรียนประธานวุฒิสภา เพื่อแจ้งข้อเสนอแนะของ กสม. ต่อการพิจาณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว สรุปได้ 10 ข้อดังนี้

1.การกำหนดฐานความผิด ควรกำหนดองค์ประกอบของการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยถูกบังคับให้สอดคล้องกับนิยามที่กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศบัญญัติไว้ เช่น ร่างมาตรา 5 ที่กำหนดว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ...” ยังไม่ครอบคลุมกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยการยุยง หรือยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ ตามนิยามที่อนุสัญญา CAT กำหนด

2. การใช้และตีความคำว่า “อย่างร้ายแรง” ตามร่างมาตรา 5 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้...” นั้น คำว่า “อย่างร้ายแรง” มีความหมายและขอบเขตที่ไม่ชัดเจน จึงควรกำหนดองค์ประกอบการกระทำความผิดให้ชัดแจ้งเพียงพอที่จะเข้าใจเกี่ยวกับการกระทำอย่างร้ายแรง เพื่อป้องกันปัญหาการตีความในการบังคับใช้กฎหมายอาญา

3.การกำหนดวัตถุประสงค์หรือเจตนาพิเศษของการกระทำทรมาน ร่างมาตรา 5 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการกระทำทรมานไว้อย่างจำกัดเพียง 4 กรณีเท่านั้น อันได้แก่ 1.ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพ 2.ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่าเป็นการกระทำของผู้นั้น 3.ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำ และ 4. เหตุผลอื่นใดบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด ซึ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับขอบเขตของวัตถุประสงค์หรือเจตนาพิเศษนี้อาจแคบกว่านิยามตามอนุสัญญา CAT ที่บัญญัติเกี่ยวกับวัตถุประสงค์หรือเจตนาพิเศษไว้ว่า “...for such purposes as...” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นเพียงตัวอย่างของวัตถุประสงค์หรือเจตนาพิเศษในการกระทำทรมานเท่านั้น

4.การห้ามกระทำ ห้ามการนิรโทษกรรมหรือข้อยกเว้นความรับผิด เนื่องจากการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นการกระทำที่เป็นที่ยอมรับในทางสากลว่ามีสถานะเป็น “หลักกฎหมายบังคับเด็ดขาด” (jus cogens) กล่าวคือ ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ จะไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถกระทำการดังกล่าวอันเป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จึงเห็นสอดคล้องว่าไม่ควรให้มีการนิรโทษกรรม หรือยกเว้นความรับผิดใด ๆ จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

5.การบันทึกภาพและเสียงในระหว่างการจับ การควบคุมตัว และการสอบสวน ควรมีการบัญญัติเรื่องมาตรการป้องกันหรือเฝ้าระวังมิให้เกิดการกระทำการทรมาน อาทิ การติดตั้งกล้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องตลอดการปฏิบัติหน้าที่ จัดให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูล และสามารถเข้าถึงได้เมื่อต้องการตรวจสอบ อันเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชน จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

6.การแจ้งเหตุการณ์จับและการควบคุมตัว และการแจ้งเหตุแห่งคดีให้พนักงานอัยการทราบ กรณีมีการจับกุมและควบคุมตัวบุคคล เห็นสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ว่า ควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องแจ้งเหตุการณ์จับและการควบคุมตัวไปยังพนักงานอัยการหรือฝ่ายปกครองโดยทันที เพื่อเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับกุมหรือควบคุมตัว และกรณีที่เป็นการสอบสวนโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่พนักงานอัยการ ควรให้พนักงานสอบสวนแจ้งเหตุแห่งคดีให้พนักงานอัยการทราบโดยทันทีเพื่อเข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน ซึ่งจะทำให้การดำเนินคดีมีความรวดเร็วและโปร่งใส

7.การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว ควรบัญญัติให้มีการบันทึกข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัวเกี่ยวกับสภาพร่างกายและจิตใจโดยแพทย์ของหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบการควบคุมตัวนั้น

8.ผู้มีอำนาจสอบสวน ควรบัญญัติให้มีหลักประกันความเป็นอิสระแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสอบสวนการกระทำความผิดตามร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยกำหนดให้มีมากกว่าหนึ่งหน่วยงานเข้าร่วมในกระบวนการสอบสวนที่ไม่ใช่หน่วยงานของผู้กระทำความผิด

9.ไม่ควรกำหนดให้เป็น “หน้าที่” ของประชาชนในการแจ้งเหตุการณ์กระทำการทรมาน หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย เนื่องจากการก่อเหตุมักเป็นการกระทำจากผู้มีหน้าที่และอำนาจ ซึ่งอาจกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน หรือเสี่ยงที่จะถูกร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดี อันเป็นการบัญญัติกฎหมายที่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร แต่ควรกำหนดมาตรการที่เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการแจ้งเหตุดังกล่าวแทน ทั้งนี้หากเป็นการแจ้งเหตุโดยสุจริต ควรกำหนดหลักประกันคุ้มครองให้บุคคลผู้แจ้งเหตุนั้น ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยด้วย

และ 10.เขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดี ในทางสากล ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติมีความเห็นว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น กรณีของการกระทำการทรมาน หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายนั้น ไม่ควรอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลทหาร แม้ว่าผู้กระทำความผิดจะเป็นทหารก็ตาม กสม. จึงเห็นสอดคล้องที่จะกำหนดให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ทุกกรณี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กเกรียง' ยันหากได้เป็นรองประธานสว.คนที่หนึ่ง จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ชี้ 'มงคล'เหมาะนั่งประธาน

ที่รัฐสภา พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว.สายสีน้ำเงิน เปิดเผยถึงความคาดหวังหลังจากได้รับเลือกให้ทำหน้าที่สมาวุฒิสภา ว่า เมื่อได้รั

'หมอเปรม' ชิงเก้าอี้ 'ประมุขสภาสูง' ลั่นมดแดงเคยล้มช้างมาแล้ว!

ที่รัฐสภา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเสนอตัวเป็นประธานวุฒิสภา ว่า การที่มีกลุ่ม สว.เสนอผู้ลงชิงตำแ

'นันทนา' คึก! ลั่นปฏิบัติการ สว.เล็กเปลี่ยนสภา

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในฐานะแกนนำสว.พันธุ์ใหม่ ซึ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ปฏิ

'ปลาหมอคางดำ'ต้องเป็นศูนย์ ก่อนนิเวศย่อยยับ

จากสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย   ซึ่งปลาหมอคางดำมีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ประเทศไทยเองมีบริษัทเอกชนนำเข้ามาเมื่อปี 2553  ซึ่งวงจรปลาหมอคางดำขยายพันธุ์รวดเร็ว ทุกๆ 22 วัน

เทวฤทธิ์ -กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ เสรีนิยมก้าวหน้า ปฏิรูปสภาสูง

สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดปัจจุบัน 200 คน จะประชุมร่วมกันนัดแรกในวันอังคารนี้ 23 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระสำคัญที่จะให้สว.ทั้งหมดร่วมกันประชุมลงมติ นั่นก็คือ

เปิดศึกชิงเก้าอี้ ประมุขสภาสูง เสร็จสว.นํ้าเงิน

ฝุ่นตลบ! ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาสูง ล็อบบี้กันเดือด "เทวฤทธิ์” ชี้ควรเป็นคนเปิดกว้าง ให้พื้นที่เสียงส่วนน้อย ยันกลุ่มพันธุ์ใหม่ส่งชิงแน่ พร้อมเล็งเก้าอี้ประธาน