‘อนุสรณ์’ ชี้อุตสาหกรรมกัญชาโลกมูลค่ามหาศาล แต่ไทยอาจไม่คุ้มกับความเสียหายทางสุขภาพ

‘อนุสรณ์’ ร่ายยาวอุตสาหกรรมกัญชาในตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 1.9-2.1 ล้านล้านบาท มูลค่าเบื้องต้นของธุรกิจอุตสาหกรรมและกิจการต่อเนื่องในไทยไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท แต่หากกลไกไม่พร้อมกำกับดูแล การใช้สารสกัดจากกัญชาอจาจส่งผลต่อสุขภาพ

19 มิ.ย.2565-รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ แสดงความเห็นถึง นโยบายกัญชาเสรีว่า แม้นนโยบายกัญชาเสรีจะเปิดโอกาสให้มีการใช้สารสกัดจากกัญชาในทางการแพทย์และเพื่อความจำเป็นทางสุขภาพได้ง่ายขึ้น เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตและการรักษาผู้เจ็บป่วยที่จำเป็นต้องใช้สารสกัดจากกัญชา แต่หากต้องการให้สามารถใช้ “กัญชา” ในการผสมอาหาร เครื่องดื่ม และ ใช้เสพเพื่อสันทนาการแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาผลดีผลเสียอย่างละเอียดรอบคอบ

มีการคาดการณ์ว่า ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ทั่วโลก อาจมีมูลค่าสูงถึง 1.9-2.1 ล้านล้านบาท ภายในปี ค.ศ. 2025 การทำให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายว่า เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรช่วยกำหนดแนวทางที่เหมาะสมว่า อะไรคือประโยชน์สูงสุดต่อสังคม คุณภาพชีวิตของผู้คน และเศรษฐกิจ กรณีรัฐแคลิฟอร์เนียอนุญาตเสพกัญชาเพื่อความบันเทิงหรือสันทนาการ มีเงินสะพัดในอุตสาหกรรมกัญชาในสหรัฐฯ มากถึง 5,100 ล้านดอลลาร์ ในปี ค.ศ. 2018 และอุตสาหกรรมนี้อาจเติบโตถึง 3 เท่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมติดตามมามากเช่นเดียวกันหลังจากให้ใช้ “กัญชาเพื่อสันทนาการ” ได้ อุตสาหกรรมกัญชาถูกกฎหมายจะสร้างรายได้กว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ และสร้างงานกว่า 400,000 ตำแหน่งในสหรัฐฯ  รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้ 4,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงอุตสาหกรรมกัญชาเป็นธุรกิจใหญ่ที่นำรายได้มหาศาลเข้าสู่แคนาดามานับทศวรรษ หลังมีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้รักษาโรคได้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีบริษัทผลิตและจำหน่ายกัญชารายใหญ่ 2 บริษัท ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกกัญชาเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รองรับการเปิดกว้างมากขึ้นในการใช้กัญชา

ส่วนประเทศสเปนอนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้และปลูกเองภายในบ้านได้ตามจำนวนที่กำหนด แต่ห้ามนำออกมาขายและซื้อ พร้อมสามารถพกติดตัวได้สูงสุด 40 กรัม ขณะที่กรุงปรากของสาธารณรัฐเช็ค เป็นอีกเมืองที่สามารถปลูกกัญชาในครอบครองได้ 5 ต้น ซึ่งการเสพกัญชาอย่างถูกกฎหมายอาจช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ อย่างเช่น ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีชื่อเสียงด้านการเสพกัญชาถูกกฎหมาย นำมาสู่การดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการเสพกัญชา ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศให้เติบโต อย่างไรก็ตาม หากมีการเสพกัญชาเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกกฎหมาย และไม่สามารถกำกับให้ดีพอ มีการแพร่ระบาดจนไม่สามารถควบคุมได้ มีการเสพเกินขนาดแล้วเกิดปัญหาทางด้านสุขภาพ ย่อมมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและครอบครัวของผู้เสพ และแน่นอนย่อมส่งผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยให้รอบคอบก่อนจะเปิดให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดให้มีการเสพกัญชาเพื่อสันทนาการ

สำหรับกรณีของประเทศไทย เนื่องจากประเทศเรามีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย หากการบังคับใช้กฎหมายไม่ดี การกำกับควบคุมไม่ดี อาจนำมาสู่ผลเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพมากกว่าผลดี ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและมูลค่าทางเศรษฐกิจ เมื่อทำให้ “กัญชา” เป็น “พืชเศรษฐกิจ” ทั้งทางด้านการค้าและการผลิตอาจมีมูลค่าเบื้องต้นในไทยอยู่ในระดับหมื่นล้านบาททีเดียว ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว อาจไม่คุ้มค่ากับ ความเสียหายทางด้านสุขภาพ ค่าใช้จ่ายทางด้านรักษาพยาบาล การถดถอยลงของผลิตภาพการผลิตของแรงงาน และปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆที่จะติดตามจากการปล่อยให้ มีการใช้ “กัญชา” เป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องดื่ม หรือ เสพเพื่อสันทนาการ การศึกษาวิจัยผลกระทบจาก “นโยบายกัญชาเสรี” ยังมีอยู่ไม่มาก แต่งานวิจัยเท่าที่มีอยู่ในประเทศที่มีนโยบายกัญชาเสรีและเปิดให้มีการใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการและเพื่อการบริโภคบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” หากมีระบบการกำกับควบคุมการใช้ไม่ดีพอ ประเทศส่วนใหญ่จึงไม่มีนโยบายกัญชาเสรี และ หากจะเปิดเสรีก็จะจำกัดให้ใช้ในทางการแพทย์และประโยชน์ทางด้านสุขภาพเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อสันทนาการ ไม่ใช่เพื่อนำไปผสมในเครื่องดื่มหรืออาหาร ซึ่งก่อให้เกิดการเสพติดและเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว หลายประเทศหรือหลายสังคม ก็ไม่สนับสนุนนโยบายนี้ด้วยเหตุผลทางศาสนาและเหตุผลทางด้านศีลธรรมจรรยา

หากต้องการเดินหน้านโยบาย กัญชาเสรี ต่อไปต้องมีระบบ กลไก มาตรการและแนวทางในการควบคุม “กัญชา” ซึ่งถือเป็นสินค้าบริการที่เป็นภัยต่อสุขภาพและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว การที่ กระทรวงสาธารณสุขมีการประกาศให้ “กัญชา” เป็น “สมุนไพรควบคุม” ก็เป็นเรื่องที่ควรกระทำอย่างยิ่ง สินค้าบริการที่เป็นภัยต่อสุขภาพ (Hazardous Commodities) อันได้แก่ ฝิ่น (เคยถูกกฎหมาย) กัญชา ยาสูบ (บุหรี่) สุรา และสารเสพติดทั้งหลาย นักเศรษฐศาสตร์สุขภาพพิจารณาว่า สินค้าที่เป็นภัยต่อสุขภาพเหล่านี้ เป็นสินค้าที่หากมีการซื้อขายในตลาดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือความตายในอนาคต รวมทั้ง ความเสี่ยงในด้านอื่นๆ ทั้งปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเด็กและเยาวชน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาผลิตภาพแรงงานลดลง เป็นต้น สินค้าที่เป็นภัยต่อสุขภาพนี้ มักมีลักษณะดังนี้ ประการแรก เป็นสินค้าที่มีขายในท้องตลาด แต่มีการจำกัดอายุและการเข้าถึงเพื่อเสพหรือบริโภค สังคมหรือประเทศไหนที่มีการบังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน เจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานแบบหละหลวมและมีการทุจริตติดสินบนง่าย สังคมนั้นไม่ควรให้เปิดให้มีการซื้อขายในท้องตลาดทั่วไป ประการที่สอง ผลการบริโภคหรือเสพสินค้าอาจไม่เกิดผลต่อสุขภาพหรือชีวิตในทันทีทันใดก็ได้ ตลอดจนอาจมีความไม่แน่นอนของผลที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้เสพหรือบริโภค ทำให้รัฐเข้าควบคุมยาก แต่มีงานวิจัยชี้ชัดว่า กัญชา ยาสูบ สุรา มีผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กและเยาวชนอย่างมากและมีผลระยะยาว ทำให้ คุณภาพโดยเฉลี่ยของประชากรด้อยลง กรณีนี้รัฐสามารถใช้ผลงานวิจัยไปเป็นหลักฐานสนับสนุนการควบคุมและแทรกแซงตลาดสินค้าเหล่านี้อย่างเข้มงวด แต่ปัญหาจะอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย     

สินค้าที่เป็นภัยต่อสุขภาพ เช่น ยาสูบและบุหรี่ ก่อให้เกิดมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ขณะที่ สุรา ก่อให้เกิดโรคตับแข็ง โรคความดันโลหิตสูง และ เป็นตัวกระตุ้นในให้เกิดโรคอื่นๆอีกมากมาย ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ความรุนแรงและอาชญากรรม ส่วนกรณีของ กัญชา หรือ สารสกัดจากกัญชา ภาวะพิษจากกัญชานั้นเกิดขึ้นได้สองรูปแบบ คือ ภาวะพิษเฉียบพลัน หากได้รับสารพิษเกินขนาดอาจถึงเสียชีวิตได้ ขณะนี้ยังไม่มียาต้านพิษจำเพาะ ภาวะพิษเรื้อรังมักมีการเสพกัญชาเป็นยาเสพติด ส่วนใหญ่เป็นผลเสียหายต่อระบบสมองและจิตประสาทเป็นส่วนใหญ่ การสูบกัญชาร่วมกับบุหรี่ไฟฟ้า ทำปอดอักเสบเฉียบพลันและมีอันตรายมากถึงเสียชีวิตได้ การใช้และเกิดผลในระยะยาวนั้น ยังไม่มีการทำวิจัยหรือเก็บข้อมูลมากเหมือนกรณียาสูบหรือบุหรี่  เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยสุขภาพของเด็กและเยาวชน ผลกระทบเสียหายทางเศรษฐกิจและความถดถอยของผลิตภาพแรงงาน รัฐบาลต้องมีแนวทางหรือมาตรการเพื่อกำกับควบคุมการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น หากต้องการเปิดให้มีการเสพหรือบริโภค ต้องมีมาตรการหรือแนวทางดังนี้ มาตรการที่หนึ่ง ต้องเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราสูง และนำเงินบางส่วนไปใช้ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน และ เผยแพร่ให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ประโยชน์จากสารสกัดจากกัญชา มาตรการที่สอง ต้องมีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อหรือเสพกัญชา อย่างต่ำต้องอายุ 25 ปีขึ้นไป มาตรการที่สาม ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาใดๆ รวมทั้ง โฆษณาแฝง ในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสารสกัดจากกัญชาที่มีผลเสียต่อสุขภาพ มาตรการที่สี่ การกำหนดให้มีคำเตือนถึงภัยและผลกระทบจากเสพสารสกัดจากกัญชา เผยแพร่ข้อมูลประโยชน์และโทษของกัญชา มาตรการที่ห้า การบังคับให้ผู้ประกอบการหรือผู้ขายต้องเปิดเผยส่วนผสมของกัญชาในอาหาร หรือ เครื่องดื่ม อย่างชัดเจน มาตรการที่หก กำหนดพื้นที่และเวลาสำหรับเป็นเขตปลอดกัญชา มาตรการที่เจ็ด จำกัดการนำเข้าและส่งออกกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชา ยกเว้นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และการผลิตยารักษาโรคเท่านั้น

นักเศรษฐศาสตร์สุขภาพได้ประเมินผลของการควบคุมต่างๆต่อสินค้าบุหรี่ สุรา กัญชา ที่มีต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคหรือเสพสิ่งเหล่านี้ ด้วยการประเมินออกเป็นสองส่วนสำคัญ ส่วนแรก คือ การศึกษาผลของการควบคุมที่มีต่อการบริโภค ใช้การวิเคราะห์อุปสงค์โดยเฉพาะค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา ต่อระดับรายได้ ส่วนที่สอง การศึกษาถึง ความสัมพันธ์ระหว่างการลดลงการบริโภคกับการลดลงของการเจ็บป่วยหรือ ศึกษาความสัมพันธ์ที่มีต่อสุขภาพและความยืนยาวของชีวิต ส่วนกรณี กัญชานั้น งานวิจัยล่าสุดจะศึกษาถึง ผลของเปิดกัญชาเสรีต่อผลิตภาพแรงงาน ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ผลประโยชน์และความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุสรณ์' หนุนพนันถูกกฎหมายแต่ต้องระวังผลกระทบทางสังคม

ประเมินเศรษฐกิจนอกระบบของไทย ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การจัดการเศรษฐกิจนอกระบบและนอกกฎหมาย การพนันถูกกฎหมายเป็นส่วนหนึ่ง แต่ต้องป้องกันผลกระทบทางสังคมให้ดี

เอกชนแนะ สร้าง Ecosystem ด้านสุขภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลาง Medical Hub ของอาเซียน

ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ผ่านการพัฒนา Ecosystem ด้านสุขภาพที่ครบวงจร ซึ่งไม่เพียงส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ

‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น

ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า