กมธ.ฯ ถกงบเกษตร 1.26 แสนล้านบาท ยันเสริมแกร่งเกษตรกรชนบท 'ยุทธพงศ์' ขยี้ของแพง

“กมธ.งบฯ 66” ถกงบก.เกษตรฯ 1.26 แสนล้านบาท ทุ่มกรมการข้าวเพิ่มจากปีก่อน ฝ่ายตัวแทนก.เกษตรฯ ยันใช้สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชนบท ด้าน “ยุทธพงศ์” เล็งขยี้งบ ก.พาณิชย์ต่อ

17 มิ.ย.2565 - ที่รัฐสภา นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 แถลงว่า กมธ.งบประมาณฯปี 2566 ใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณปี 2566 มาแล้วทั้งหมด 7 วัน รวม 65 ชั่วโมง ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว รวม 2 กระทรวง 6 หน่วยงาน 2 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 7.4 ของหน่วยงานที่ต้องพิจารณาทั้งหมด โดยล่าสุดกมธ.งบประมาณฯปี 2566 ได้พิจารณางบประมาณภาพรวมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีงบประมาณทั้งสิ้น 126,067,052,900 บาท โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับงบประมาณ 1,085,703,400 บาท สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร 601,888,700 บาท สํานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 226,556,500 บาท กรมการข้าว 17,343,325,400 บาท กรมวิชาการเกษตร 3,068,502,800 บาท และกรมหม่อนไหม 525,782,700 บาท

นพ.บัญญัติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้มีกรรมาธิการบางคนสอบถามเกี่ยวกับงบประมาณของกรมการข้าว ซึ่งในปี 2566 ได้รับจัดสรรเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก รวมทั้งรายละเอียดงบประมาณของหน่วยงานที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงประมาณ 15,000 ล้านบาท ในโครงการลดต้นทุนการผลิตว่ามีการจัดสรรไปช่วยเหลือชาวนาเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ชาวนาหรือไม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวนโยบายอย่างไรถึงเพิ่มงบประมาณให้กับกรมการข้าวขึ้นอย่างมาก และบางโครงการมีการผูกพันงบประมาณต่อไปอีก ประมาณ 8-10 ปี เช่น โครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ งบประมาณ 49,706,000 บาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการถึง 8 ปี คือตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2569 หากหลังจากที่กรมการข้าวได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก หน่วยงานมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตอย่างไร เพื่อรับประกันได้ว่าเกษตรกรจะได้รับเมล็ดพันธุ์ที่ดีและได้รับจัดสรรอย่างเป็นธรรม เพราะเกษตรกรมักจะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเมล็ดข้าวจนต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวในราคาแพง

ขณะที่ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวชี้แจงว่า เดิมรัฐบาลใช้งบประมาณอุดหนุน เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ใช้งบประมาณจํานวนมาก แต่เป็นการช่วยเหลือแบบให้อุดหนุน ดังนั้นหน่วยงานจึงได้หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าหากหน่วยงานได้รับงบประมาณในส่วนนี้มาสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในชนบทน่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น

ทั้งนี้หน่วยงานจะได้นำงบประมาณมาใช้ในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรด้วยตัวเอง และคาดว่าจะลดต้นทุนได้ประมาณ ไร่ละ 300 บาทเศษ และมีการจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชนซึ่งเป็นศูนย์ที่ให้ชุมชนสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง โดยงบประมาณจำนวน 15,000 ล้านบาทลงไปให้เกษตรกร 5 พันตำบล ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน ศูนย์ละ 3 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจ ว่าจะใช้งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร สำหรับปลูกข้าว การเตรียมดิน และ การแปรรูป ตามความต้องการของแต่ละศูนย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวและสร้างความยั่งยืนให้กลุ่มเกษตรกร โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง ร่วมพิจารณาโครงการ

ขณะที่นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกกมธ. กล่าวว่า ส่วนในการพิจารณางบประมาณของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร งบประมาณ จํานวน 601,888,700 บาท กมธ.งบประมาณฯปี 2566 ได้มีการหารือเกี่ยวกับปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการนำเข้าส่งออกสินค้าทางการการเกษตรในหลายประเทศ จนทําให้ผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกขาดแคลน เช่น ข้าวสาลี

ทั้งนี้มีกมธ.งบประมาณฯปี 2566 บางคนสอบถามเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกว่าประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารหรือไม่ หากผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ที่กักเก็บไว้ในประเทศหมดไปนอกจากนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าทางการเกษตรจำานวนมาก การที่สินค้าทางการเกษตรขาดแคลนทั่วโลกประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้หรือไม่ และการที่ราคา พลังงานและปุ๋ยมีราคาเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นต้นทุนของเกษตรกร หน่วยงานมีแผนการในการช่วยเหลือเกษตรกรไทยอย่างไร

ทั้งนี้ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ชี้แจงว่า ประเทศไทยมีอาหารที่เพียงพอต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และมีเพียงพอที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศแต่ปัญหาที่สำคัญจากสถานการณ์โลกในขณะนี้ มี 3 ประเด็น 1. ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก หน่วยงานใช้ของเหลือใช้ในประเทศ เพื่อทดแทนอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น ข้าวสาลี 2. ต้นทุนด้านพลังงาน มีการส่งเสริมการใช้พลังงานชีวภาพซึ่งเป็นของเหลือทางการเกษตรมาผลิตพลังงานใช้ 3. ต้นทุนการขนส่ง โดยหน่วยงานกำลังจะร่วมมือกับหลายประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตามในวันนี้ที่ประชุมกมธ.งบประมาณฯปี 2566 จะพิจารณา 9 หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อจนถึงเวลา 16.00 น. วันนี้ (17 มิ.ย.)

ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกมธ.วิสามัญพิจารณร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กล่าวว่า กมธ.ฯยังได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพง และเกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ คือ ปัญหาปุ๋ยแพง ขณะนี้ราคากิโลกรัมละ 1,500 บาท 1 ตันราคา30,000 บาท ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ต้นทุนการผลิตสูงจะมาอ้างเพราะน้ำมันแพงเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ได้ เพราะเป็นกันทั้งโลก และปัญหาเกิดขึ้นก่อนมีสงคราม ขณะที่ปัญหาหมูแพง ราคา230บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้อาหารที่ผลิตจากหมูจำหน่ายราคาสูงขึ้น ทุกวันนี้กินต้มเลือดหมูราคา 70 บาท และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ขึ้นราคาเช่นกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร เพื่อหาช่องทางลดราคาไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ย ต้องมีการเจรจากับสมาคมผู้ผลิตปุ๋ย เรื่องหมูแพงก็ต้องลดต้นทุนอาหารเลี้ยงสัตว์ หรือเจรจาให้ราคาลดลง

นายยุทธพงศ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดแคลนอาหารทางภาคอีสาน เนื่องจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมาทำให้นาข้าวเสียหาย ประกอบกับโควิดทำให้สูญเสียรายได้ จะนำร้านธงฟ้าไปช่วยก็ไม่พอเพียง เพราะเดือดร้อนกันทั่วประเทศ รวมทั้งการส่งออกก็มีปัญหา ทั้งที่ค่าเงินบาทกำลังอ่อนตัวลง นายจุรินทร์จะมีมาตรการอย่างไรที่จะตรวจสอบ หรือรับผิดชอบ ดังนั้นในการพิจารณางบประมาณของหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ในสัปดาห์ถัดไปก็จะมีการซักถามปัญหาที่มีร้องเรียนเหล่านี้ด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แขวนงบดิจิทัลวอลเล็ต! กมธ.งบ 68 ข้องใจไม่มีเอกสารแจงรายละเอียด

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธาน

‘เทพไท’ สะกิดจับตา 'กมธ.งบประมาณ' แหล่งหาประโยชน์ ของนักตบทรัพย์  

ขอให้สังคมและสื่อมวลชน ได้จับตาการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้อย่างใกล้ชิด ว่ามีการหาประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ เหมือนกับการพิจารณางบประมาณในปีก่อนๆหรือไม่

‘พท.’ ถกเสนอชื่อ กมธ.งบฯ ก่อนชงเข้าวงประชุม 24 มิ.ย. คาด ‘พิชัย’ นั่งประธาน

พรรคเพื่อไทยจะมีการพูดคุยกันเรื่องการเสนอบุคคลที่จะนั่งตำแหน่งต่างๆ อีกครั้ง ในวันที่ 24 มิ.ย.ก่อนที่จะมีการประชุมกมธ.ฯ

กมธ.ติดตามงบฯ พบช่องโหว่โครงการบีซีจี อุดหนุนศูนย์พันธุ์ข้าว 829 ล้านบาท

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเชิญอธิบดีกรมการข้าวและกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เข้าชี้แจงในที่ประชุมกมธ.ฯ

กมธ.งบ 67 ถกแบ่งสัดส่วนตำแหน่ง 'ก้าวไกล' เมินเก้าอี้ วืดถ่ายทอดสดประชุม

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นัดแรก เพื่อแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ โดยที่ประชุมให้นายทวี สุระบาล สส.ตรัง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

‘ศิริกัญญา’ เผยถก กมธ.งบฯนัดแรก 8 ม.ค. เล็งชงดึงผู้เชี่ยวชาญร่วมตรวจสอบ

‘ศิริกัญญา’ จ่อถกประชุม ‘กมธ.งบฯ นัดแรก’ พรุ่งนี้ รอลงมติเน้นศึกษาให้รบ.หั่นงบลงหรือไม่ เหตุจัดงบมาก-น้อยเกินหลายหน่วยงาน ดึงผู้เชี่ยวชาญร่วมวิเคราะห์-ตรวจสอบ ตามสัดส่วน พร้อมหาแนวทางปฏิรูปทั้งระบบ