กสม. เผยผลสอบเหตุสลายม็อบจะนะรักษ์ถิ่น จนท.ละเมิดเสรีภาพชุมนุม แนะทบทวนแนวปฏิบัติ

กสม. เผยผลการตรวจสอบเหตุสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ชี้เจ้าหน้าที่ละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ แนะ สตช. ทบทวนแนวปฏิบัติในการจัดการการชุมนุม

16 มิ.ย.2565 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 22/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาล สืบเนื่องจากเครือข่ายฯ กว่า 30 คน ได้เดินทางมารวมตัวเพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา โดยให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) แบบมีส่วนร่วมก่อนดำเนินการโครงการ นั้น

กสม. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า เหตุการณ์การสลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ผู้ถูกร้อง และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดุสิต มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นหรือไม่ โดยพิจารณาออกเป็น 3 ประเด็น ได้ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า การชุมนุมของเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธที่ไม่ถือว่าเป็นความรุนแรง ในส่วนของเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมการชุมนุมเป็นไปตามแผนปฏิบัติการ โดยมีการเจรจากับผู้ชุมนุมหลายครั้งเพื่อขอให้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมนอกบริเวณพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล แต่เมื่อล่วงเลยเวลาที่กำหนดให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้าย กลับใช้วิธีเข้าสลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยอ้างว่า เนื่องจากในวันที่ 7 ธันวาคม 2564 เป็นวันเปิดทำการ จะมีการใช้เส้นทางหนาแน่น และการชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยผิดกฎหมาย กสม. เห็นว่า เหตุผลตามที่กล่าวอ้างนี้ยังไม่อาจพิจารณาได้ว่า เป็นเหตุแห่งความจำเป็นในการเข้าสลายการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองและคุ้มครองไว้ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สอง การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิตต่อผู้ชุมนุมมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะอยู่ภายใต้การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายควรพิจารณาถึงความได้สัดส่วนเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม ตลอดจนไม่กระทำการอันใดที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้เสรีภาพดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหาผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวในฐานความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 ส่งผลให้ผู้ชุมนุมที่ถูกจับต้องเดินทางไปรายงานตัวตามหมายเรียกอยู่เป็นระยะจนถึงปัจจุบัน กสม. เห็นว่า การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมกรณีนี้ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เนื่องจากการชุมนุมมีวัตถุประสงค์เพื่อการติดตามทวงถามการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งสุดท้ายแล้วรัฐบาลได้รับข้อเสนอของผู้ชุมนุมไว้เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง การกระทำของพนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุและสร้างภาระแก่ผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่ 3 การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์การชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสื่อมวลชนหรือไม่ จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริง พบว่า ในการสลายการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่การชุมนุมและมีการใช้อุปกรณ์ยิงแสงเลเซอร์ส่องไปยังสื่อมวลชนและอุปกรณ์ถ่ายภาพ ทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถถ่ายภาพขณะเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการสลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมได้ ทั้งยังอาจทำให้เซ็นเซอร์กล้องได้รับความเสียหายและมีผลต่อการมองเห็นชั่วคราวของดวงตาได้ ดังนั้น หากการใช้สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่จะต้องอำนวยความสะดวกและไม่ปิดกั้นสื่อมวลชนในการทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และข้อเท็จจริงอย่างเสรี โดยไม่สร้างอุปสรรคอันเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนเกินความจำเป็น จึงเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ เป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองและคุ้มครองไว้ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 จึงมีข้อเสนอแนะแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปได้ดังนี้

1) ทบทวนแนวทางปฏิบัติในการควบคุมและจัดการการชุมนุมซึ่งจะต้องไม่กระทำการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุม และจัดสถานที่ที่ปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ

2) กำชับแนวทางปฏิบัติต่อการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอันสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ โดยให้ดำเนินการอย่างระมัดระวังซึ่งต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วนและความจำเป็นตามแต่ละกรณี โดยหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาหรือฐานความผิดที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ

3) กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมและดูแลสถานการณ์การชุมนุม อำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และข้อเท็จจริงอย่างเสรี โดยไม่สร้างอุปสรรคอันเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่เกินความจำเป็น หากการใช้สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้

ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบกรณีนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จตุพร' หวด ป.ป.ช.-แพทยสภา เร่งสอบชั้น 14 ข้องใจลากเวลาให้ประเทศย่อยยับจึงตื่นตัว?

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่รายงานฉบับเต็

เปิดฉบับเต็ม! รายงานกสม. มัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วยทักษิณ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้อง      เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ 1โรงพยาบาลตำรวจที่ 2

กสม.แถลงค้าน ปิดศูนย์เรียนรู้เด็กข้ามชาติ ชี้สถานศึกษาในพื้นที่ ยังไม่มีความพร้อม

ตามที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

'ทวี' ขึงขัง! สั่ง 'กรมคุก' ตามดู 'นช.ทักษิณ​' รักษาตัวชั้น​ 14 ละเมิดสิทธิผู้ต้องขังภาพรวมหรือไม่​

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี​ สอดส่อง​ รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ​ (กสม.​) ส่งเรื่องให้

เอาแล้ว! ป.ป.ช.รับข้อมูล กสม. พิจารณา ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ รักษาตัวชั้น 14 

เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐานของคณะทำงานไต่สวนที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนพยานหลักฐาน ซึ่งสุดตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ส่งรายงานการพิจารณาของกสม.มาให้ป.ป.ช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

'จตุพร' รู้ทัน 'ทักษิณ' ขอเดินทางออกนอกประเทศ เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์!

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รายงานผลบสอบสวน