“ธรรมศาสตร์” คว้ารางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ “The winner of universal Design Competition” จากผลงาน “รังสิตโมเดล” งานออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชนและการนำงานวิจัยมาบูรณาการกับบริการทางสังคม
9 มิ.ย.2565 - “รังสิตโมเดล” ผลงานของหน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จากประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ “The winner of universal Design Competition” ประจำปี 2565 ประเภท Expert จากสถาบัน Institute of universal design ประเทศเยอรมนี ในฐานะผลงานที่สร้างแรงขับเคลื่อนและเป็นประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่มได้จริง โดยการแข่งขันดังกล่าวเป็นรายการแข่งขันที่มีมายาวนานกว่า 10 ปี และในปี 2565 มีตัวแทนประเทศเข้าร่วมกว่า 10 ประเทศ อาทิ เยอรมนี อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ
รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ผลงานนี้เป็นการนำงานบริการสังคมมาถอดบทเรียนเป็นโมเดลการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้สูงอายุ หรือที่เรียกว่า “รังสิตโมเดล” โดยเน้นการออกแบบด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ผ่านแผน กลไก และการปฏิบัติ ด้านกายภาพ ตั้งแต่บ้าน ระบบขนส่งมวลชน ไปจนพื้นที่สาธารณะ ในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินการกว่า 15 ปี เกิดผลกระทบในการปรับบ้าน 178 หลัง ตลอดจนการปรับพื้นที่สาธารณะ และการนำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายของเทศบาลนครรังสิต และถ่ายทอดรับไปปฏิบัติในองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นๆ ตลอดจนเผยแพร่ในระดับนานาชาติ
ในส่วนของจุดเริ่มต้นรังสิตโมเดล มาจากงานบริการวิชาการสู่สังคมเมื่อปี 2550 โดยได้ลงพื้นที่เทศบาลนครรังสิตเพื่อดำเนินการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ด้วยการใช้แนวคิดที่ว่า พื้นที่ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางจะต้องรองรับการใช้งานผู้คนได้ทุกกลุ่ม จากนั้นได้นำแนวคิดเรื่องการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (universal design) เข้ามาประยุกต์ใช้ ทั้งในระดับนโยบายไปจนถึงการปฏิบัติจริง จนในปี 2555-2556 สามารถถอดบทเรียนจากแนวคิดดังกล่าวออกมาเป็นรังสิตโมเดล และในปี 2557 นำเสนอในงาน The 5th International Conference for Universal Design ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่นระดับดีมาก ในการสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 9 ประเทศไทย
สำหรับ “รังสิตโมเดล” คือการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อคนทั้งมวล โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ โดยเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชนนั้นๆ ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา การออกแบบ การแก้ไข การก่อสร้าง ไปจนถึงการประเมินผลและผลตอบรับเพื่อนำไปปรับปรุงต่อ ช่วงกระบวนการมีส่วนร่วมจะทำให้คณะทำงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ไม่คิดแทน และทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของต่องานที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อการช่วยกันดูแลรักษาในระยะยาว
สำหรับกระบวนการมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 4 ภาคีหลักในการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ได้แก่ เจ้าของพื้นที่ (Owner) ผู้ที่จะไปใช้งาน (User) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. (Local government) และ หน่วยงานสนับสนุน (Support) เช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ฯลฯ โดยรังสิตโมเดลถือเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) ในการทำให้เมืองน่าอยู่มากยิ่งขึ้น และเป้าหมายที่ 10 ที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequality) โดยช่วยให้คนมีความเท่าเทียมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
ทั้งนี้ จากการคำนวณบทบาททางสถิติของรังสิตโมเดลและหน่วยวิจัยที่ผ่านมา พบว่ามีที่อยู่อาศัยที่ได้รับการปรับปรุงจำนวน 178 หลัง และการอบรมจากหน่วยวิจัยมีคนที่ได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 1 แสนคน รวมถึงการออกแบบบ้านตัวอย่างอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรอีกจำนวน 2 หลัง และมีผลกระทบต่อสังคมโดยสามารถประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) จากการดำเนินโครงการในพื้นที่ พบว่า การบูรณาการงบประมาณที่ได้ลงทุนไป 1 บาท จะได้ผลตอบแทนทางสังคมกลับมา 10.04 บาท
รศ.ดร.ชุมเขต กล่าวอีกว่า ในปี 2561 คณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล โดยเป็นการนำงานวิจัยมาบูรณาการกับการบริการสังคมที่ชัดเจนขึ้น ทำให้สามารถขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมบนฐานของงานวิชาการและงานวิจัย รวมไปถึงแก้ไขปัญหาชุมชนท้องถิ่นอย่างจริงจัง เกิดเป็นผลงานวิจัยเชิงพื้นที่ มากกว่า 5 เรื่อง นำไปสู่การต่อยอดและขยายผลต่อไป
“ปัจจุบันพื้นที่ท้องถิ่นใกล้เคียงมีการรับรังสิตโมเดลไปเป็นแนวคิดเรื่องการออกแบบในการวางแผนนโยบายเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มธ. กล่าว
รศ.ดร.ชุมเขต กล่าวว่า ต้องขอบคุณ มธ. ที่เปิดพื้นที่ รวมถึงมีกลไกสนับสนุนการทำงานเช่น ด้านงบประมาณ บุคลากร พื้นที่ ฯลฯ ซึ่งเมื่อใดที่มหาวิทยาลัยดูแลบุคลากรได้ดี บุคลากรจะสามารถขับเคลื่อนหรือส่งต่อสิ่งดีๆ ให้ชุมชนและสังคมต่อได้
“เรื่องของสภาพแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องของอาคารสถานที่ แต่เป็นเรื่องของคน เมื่อเราเข้าใจคน เราจะเข้าใจงาน นั่นคือวิธีการแก้ปัญหาขั้นแรก ซึ่งมิติของคนที่จะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต้องมีทั้งเรื่องของสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมเคลื่อนไปพร้อมกัน” รศ.ดร.ชุมเขต กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ชวนลูกแม่โดมร่วมงาน “วันธรรมศาสตร์ 90 ปี 2567” ชมรายการพิเศษทางโทรทัศน์เนื่องในวันธรรมศาสตร์ 9 ธันวาคม และสังสรรค์รำลึกความหลัง “วันธรรมศาสตร์ 10 ธันวาคม”
สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคม ชวนลูกแม่โดมร่วมงาน “วันธรรมศาสตร์ 90 ปี 2567” ชมรายการพิเศษทางโทรทัศน์เนื่องในวันธรรมศาสตร์ คืนวันที่ 9
‘หมอยง’ สะท้อน จริยธรรมการใช้ AI กับงานทางวิชาการ งานวิจัย
ถ้าให้ AI ทำงานแทนเราทั้งหมด โดยไม่ได้ออกจากแนวความคิดเราเลย หรือเอา AI มาเป็นผู้ร่วมวิจัย ถือว่าไม่เป็นยอมรับ
'บ้านแสนอยู่ดี' ที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตร นวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อคนทั้งมวล
แม้ว่าที่อยู่อาศัยจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ หากแต่มีที่อยู่อาศัยจำนวนไม่น้อยที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 'ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์' ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ต้องไม่ยอมมัน! อดีตรองอธิการบดี มธ. ปลุกขวางแก้ รธน. ทำลายความถูกต้อง-เป็นธรรม
ความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราครั้งนี้ หากทำได้สำเร็จ จะเป็นลดความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต และมาตรฐานทางจริยธรรม
ธรรมศาสตร์ เปิดตัว 7 นวัตกรรมเพื่อสังคม ส่งมอบ 'SIT-TO-STAND' ดูแลผู้สูงวัย กทม.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัว “7 นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย” ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ เตรียมพร้อมรับมือ Super Aged Society พร้อมมอบนวัตกรรม SIT-TO-STAND TRAINER อุปกรณ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อ