ประมงพื้นบ้านบุกรัฐสภา 'สมาคมรักษ์ทะเลไทย' รณรงค์เร่งบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

'สมาคมรักษ์ทะเลไทย' ผุดแคมเปญรณรงค์ เร่งบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ชี้ไทยมีกฎหมายมาตรา 57 อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมารัฐบาลอิดออดที่จะเอาผิดกับคนที่ทำกำไรมหาศาลจากการกอบโกยทะเล ขณะที่กองเรือประมงพื้นบ้าน ล่องเรือจากปัตตานีบุกรัฐสภา

8มิ.ย.2565-นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้สร้างแคมเปญรณรงค์ www.change.org หัวข้อ ก่อนปลาทูจะหมดไทย ขอเร่งบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยระบุว่า

กราบถึง​ทุกท่านด้วยหัวใจ​ ทะเลไทยกำลังต้องการเสียงของท่าน

ผมทำงานกับชาวประมงขนาดเล็ก​เพื่อฟื้นฟู​ทะเลไทย​ ต่อเนื่องมายาวนาน 30 ปี​​ เราได้เห็นทะเลไทยเปลี่ยนแปลง​ตามคลื่นลมยุคสมัย เราเห็นลูกทะเลรายเล็กรายน้อย​อดทนสู้ลงทะเล​ ตาแดงผิวดำ​กร้าน​ เพื่อหาปลาทีละตัวๆ​ มาแลกรายได้​รายวัน​ แม้ไม่ร่ำรวยนักแต่พออยู่ได้​

เมื่ออยู่ใกล้ทะเล สิ่งที่เราเห็นหน้าบ้านคือวิกฤตอาหารทะเลที่นับวันจะรุนแรงขึ้น สะท้อนจากการที่ปริมาณอาหารทะเลไทยที่ลดลงเรื่อยๆ ชาวประมงและคนอนุรักษ์บางส่วนจึงได้แต่ก้มหน้าก้มตา​ทำงานฟื้นฟูสัตว์น้ำ​ ฟื้นฟูลูกปลาไปเรื่อยๆ ปลายปีที่ผ่านมา เรารณรงค์ทั้งกับผู้บริโภคและห้างสรรพสินค้า แต่ภาครัฐซึ่งมีส่วนสำคัญในการควบคุมดูแลกลับยังไม่มีมาตรการในการควบคุมและกำหนดขนาดของพันธุ์สัตว์น้ำทะเลอย่างจริงจังเสียที

บอกตามตรงว่าผมรู้สึกเจ็บปวดที่ต้องเห็น​เพื่อนพี่น้องผู้ชื่นชอบอาหารทะเลต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินนับพันบาทเพื่อ​ซื้อปูม้านึ่งแค่สิบตัว​ให้ครอบครัวได้ทาน จะกินอาหารทะเลสดทุกสัปดาห์ก็ยังคิดหนัก ครอบครัวรายได้ปานกลางขึ้นไปมีโอกาสได้กินอาหารทะเล​ที่ราคาสูงระยับ​ได้แค่บางมื้อ บางเดือน ใครจะจัดงานเลี้ยงงานปาร์ตี้​ซีฟู้ดส์​คุณภาพดีๆ ก็ต้องควักทุนมากกว่า​ปาร์ตี้ไก่ทอดหลายร้อยเท่า​​ เด็กไทยไม่มีโอกาสได้กิน​ #ปลาโรงเรียน​ เหมือน #นมโรงเรียน ​เพราะมันแพงเกินไป

แต่อีกมุมนึง ผมและเหล่าพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านไทย​อยากจะเล่า​ อยากจะบอก​ อยากควัก​หัวใจ​ ขยายความจริงให้ทุกท่านรู้ ว่าในทุกวัน มีกลุ่มนักลงทุนใน​อุตสาหกรรม​ประมง​ฉวยโอกาสกวาดโกยฝูงสัตว์ทะเลวัยอ่อนเป็นตันๆ ​ด้วยเท้าและพลั่วเข้าเครื่องป่นเครื่องโม่ในโรงงาน​อับทึบที่คนไทยทั้งประเทศไม่มีโอกาสเห็นอย่างไร้คุณค่า เดือนละหลายหมื่น ปีละหลายแสนตัน ขายเป็นอาหารสัตว์เอาเงินเข้ากระเป๋าได้แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา

และอย่าลืมว่าอาหารทะเลไม่ได้เป็นของคนเท่านั้น…ลองคิดดูว่าการจับแบบสัตว์ทะเลวัยอ่อนแบบล้างผลาญย่อมทำให้สัตว์ทะเลไม่ทันโต ไม่ได้วางไข่ เมื่อถูกตัดตอนอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ สัตว์ทะเลอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยอาหารในระบบนิเวศน์ ทั้งเต่า ทั้งโลมา วาฬ และอื่นๆ ก็จะต้องตายตามไปด้วย

ย้ำอีกครั้งว่าคนได้ประโยชน์จากการจับสัตว์ทะเลวัยอ่อนไม่กี่คน แต่ผลกระทบคือความเป็นความตายของหลายชีวิตในระบบนิเวศน์

ไทยมีกฎหมายมาตรา 57 “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง” อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมารัฐบาลดูอิดออดที่จะเอาผิดกับคนที่ทำกำไรมหาศาลจากการกอบโกยทะเลมาโดยตลอด...เพื่อประโยชน์ของใคร? เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งบังคับใช้กฎหมายมาตรา 57 โดยออกกฎหมายลูกที่เหมาะสม เพื่อให้กฎหมายนี้บังคับใช้ให้ได้ภายในปี 2565

นี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่​พวกเราคนไทยจะ​ทวงคืน​ #น้ำพริกปลาทู​ กลับคืนมา​ ก่อนจะหายไปตลอดกาลผมอยากชวนคุณทุกคนร่วมกัดฟันลุยกันสักตั้ง

ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ พี่น้องชาวประมง สมมาคมรักษ์ทะเล และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ​จะเดินทางไกล​ #จากสามทะเลสู่เจ้าพระยา​ มุ่งหน้าไปรัฐสภา ซึ่งหากคุณมาลงเรือกับเราไม่ได้ ก็หวังว่าอย่างน้อยคุณจะมากับพวกเราโดยลงชื่อใน Change.org/SeafoodIsOurFood นะครับ

#ทวงคืนน้ำพริกปลาทู #SeafoodIsOurFood #จากสามทะเลสู่เจ้าพระยา​

ขอบคุณครับผม

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี - นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

ขณะที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก สมาคมรักษ์ทะเลไทย โพสต์ข้อความ ระบุว่า

8 มิถุนายน 65 กองเรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งล่องเรือจากปัตตานีจะมาถึงรัฐสภา หากใครไม่ได้ลงเรือ มาลงชื่อในแคมเปญ “ก่อนปลาทูจะหมดไทย ขอเร่งบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน” เพื่อร่วมส่งพลังโค้งสุดท้ายให้ชาวประมงทาง Change.org/SeafoodIsOurFood ได้ และหากใครสงสัยว่าพวกเขามาทำอะไร เพราะอะไรเราขอสรุปให้ฟัง ดังนี้

1. ทำไมชาวประมงต้องล่องเรือมาจากปัตตานี
เพราะปลากำลังจะหมดอ่าวไทย ปริมาณอาหารทะเลไทยลดลงเรื่อยๆ ในทุกวัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากมีกลุ่มทำประมงบางกลุ่มฉวยโอกาสกวาดโกยฝูงสัตว์ทะเลวัยอ่อนเป็นตันๆ เข้าเครื่องป่นเครื่องโม่ในโรงงาน เดือนละหลายหมื่น ปีละหลายแสนตัน ขายเป็นอาหารสัตว์เอาเงินเข้ากระเป๋าได้แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา การจับสัตว์ทะเลวัยอ่อนแบบล้างผลาญทำให้สัตว์ทะเลไม่ทันโต ไม่ได้วางไข่ ถูกตัดตอนอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ อีกทั้งอาหารทะเลไม่ได้เป็นของคนเท่านั้น… สัตว์ทะเลอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยอาหารในระบบนิเวศน์จะต้องตายตามไปด้วย

2. กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน มาตรา 57 มีความสำคัญอย่างไรต่อเรื่องนี้
พ.ร.ก. ประมง 2558 มาตรา 57 ‘ห้ามมิให้ผู้ใดนำสัตว์น้ำที่เล็กกว่ารัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง’ คือความหวังของเรื่องนี้ หากรัฐบังคับใช้มาตรา 57 จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจเมื่อเรือเทียบท่าว่าเรือมีสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ขนาดเล็กกว่ากำหนดอยู่บนเรือหรือไม่ หากมีจะถูกเปรียบเทียบปรับ ซึ่งช่วยอุดรูรั่วของการลักลอบจับสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ แต่ในความเป็นจริงมาตรา 57 ยังไม่ถูกนำมาบังคับใช้! ทั้งที่ พ.ร.ก. ประมง 2558 ประกาศมา 4 ปีกว่าแล้ว เพราะข้อความที่ระบุขนาดปลาว่าต้อง ‘เล็กกว่ารัฐมนตรีประกาศกำหนด’ ซึ่งการประกาศกำหนดโดยรัฐมนตรีนี่เองที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น ทำให้เราไม่ได้ใช้กฎหมายมาตรานี้จริง

3. เรื่องนี้เกี่ยวกับปลาทูตรงไหน
4 ปีกว่าที่ผ่านมาของมาตรา 57 มีสิ่งที่คืบหน้าไปนั่นคือการหารือเพื่อกำหนดขนาดปลาทูที่นำขึ้นเรือได้ โดยกรมประมงกำหนดว่าปลาทูต้องมีความยาวจากหัวจดหางไม่ต่ำกว่า 14 เซนติเมตร กลุ่มประมงพื้นบ้านเห็นด้วยและยอมรับ แต่กลุ่มประมงพาณิชย์ขอให้รัฐไปศึกษาเพิ่มเติม และยืนกรานให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 57 ออกจาก พ.ร.ก. ประมง พ.ศ.2558 ซึ่งทำให้ลูกปลาทูยังคงถูกจับอยู่จนเกิดเป็นแฮทช์แท็ก #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู

4. เราจะมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ได้อย่างไร
8 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันมหาสมุทรโลก สมาคมรักษ์ทะเลไทย และ สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทย จาก 23 จังหวัด ตลอดทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งจัดกิจกรรมล่องเรือทางไกล “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” หยุดจับ-ขาย-ซื้อ สัตว์น้ำวัยอ่อน จากปัตตานีถึงกรุงเทพฯ มีเป้าหมายจะไปที่ รัฐสภาสัปปายะสภาสถาน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องและรายชื่อจากแคมเปญ “ก่อนปลาทูจะหมดไทย ขอเร่งบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน” ต่อตัวแทนรัฐบาลในเวลา 11.00 น. เพื่อให้เร่งบังคับใช้มาตรา 57 เพื่อยุติการตัดวงจรชีวิตสัตว์ทะเล พร้อมกำหนดโควต้าที่เป็นธรรมในการจับสัตว์น้ำ

หากใครมาลงเรือไม่ได้ สามารถมาลงชื่อทาง Change.org/SeafoodIsOurFood เพื่อส่งพลังโค้งสุดท้ายให้ชาวประมงได้ ทุกจำนวนรายชื่อจะได้รับการนับรวมในรายชื่อที่จะยื่นในวันพรุ่งนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนเพื่อไทย! ปลุกผี 'เรืออวนรุน' ฆาตกรชายฝั่งทะเลไทย

“นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย”  ฟาดหนักเพื่อไทยผ่อนผันเรืออวนรุน เปิดทางฆาตกรชายฝั่งทะเลไทยกลับมาอีกครั้ง ทำลายล้างระบบนิเวศย่อยยับ –ครอบครัวชาวประมงล่มสลาย เตือนเตรียมรับมาตรการตอบโต้ทั่วสารทิศไม่มีวันถอย

ชาวประมงพื้นบ้านสงขลา ออกคราดหอยเสียบ สร้างรายได้งามช่วงฤดูมรสุม

ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนเก้าเส้ง ประกอบอาชีพคราดหอยเสียบขายรายได้ดีเลี้ยงครอบครัวได้ เป็นอิสระในช่วงฤดูมรสุมลมตะวันออกเฉียงเหนือ คลื่นลมเริ่มมีกำลังแรงหอยเสียบตัวโต น้ำหนักดี สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับครอบครัว

ประมงพื้นบ้านสงขลา อาศัยช่วงคลื่นลมไม่รุนแรง ออกจับปูม้ากำลังชุกชุม ขายได้ราคาดี

ที่ชายหาดบ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนบ้านบ่ออิฐนำเรือหลายลำออกไปทำการประมงอวนปูกลางทะเล เนื่องจากในช่วงนี้คลื่นลมไม่รุนแรงสามารถนำเรือออกไปทำการประมงได้

เกาะลิบงอ่วมหนักรอบ 30 ปี! คลื่นซัดเรือประมงล่ม 7 ลำ รีสอร์ทพัง ชาวบ้านเผยปีนี้ฝนมาเร็ว

ในพื้นที่เกาะลิบง หมู่ 5 บ้านหลังเขา ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เกิดเหตุมีเรือประมงพื้นบ้านล่มจำนวน 7 ลำ หลังเกิดฝนตกและลมพายุในทะเลฝั่งอันดามัน โดยนายอ่าสาน ค

'สมาคมรักษ์ทะเลไทย' กระตุก รัฐบาล ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ฟื้นฟูอาหารประมงไทย

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย โพสต์บทความเรื่อง ความสั่นคลอนของระบบอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย (๑) มีเนื้อหาดังนี้

ดับฝันเบอร์หนึ่ง 'เจ้าสมุทร' ประมงไทยถดถอย ทำลายล้างทะเล

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติจับมือสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศและภาคีเครือข่ายจัดเสวนาสะท้อนเสียงภาควิชาการและภาคประชาชน“สู่การดูแลทะเลร่วมกันอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” ต่อการแก้ไขกฎหมายการประมง  ซัดเป็นกฎหมายที่ถดถอยทำลายความยั่งยืนทางทะเล และเสี่ยงกระทบกับเศรษฐกิจ