'สมาคมจิตแพทย์' แนะ 5 มาตรการ ปลดล็อกกัญชาอย่างไรให้ปลอดภัย

6 มิ.ย. 2565 – สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เสนอคำแนะนำต่อการอนุญาตให้มีการใช้ ปลูก หรือผลิตกัญชาในประเทศไทย โดยระบุว่า ในขณะที่มีการประชาสัมพันธ์การปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยคาดหวังประโยชน์ 3 เรื่อง คือ 1. เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ 2. ให้เกิดเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และ 3. เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจอยากทดลองปลูกและทดลองใช้นั้น

การประชาสัมพันธ์ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อควรระวัง หรือวิธีการที่จะใช้อย่างปลอดภัย อีกทั้งควรอธิบายมาตรการในการป้องกันกลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยจึงจัดทำข้อเสนอแนะและคำแนะนำต่อการอนุญาตให้มีการใช้ ปลูก หรือผลิตกัญชาในประเทศไทย ตามเอกสารแนบ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาปรับปรุงเพื่อให้โครงการนี้เกิดประโยชน์โดยมีโทษหรือผลข้างเคียงน้อยที่สุด ดังนี้

1.กระทรวงสาธารณสุขควรมีคำแนะนำที่ชัดเจนว่าส่วนไหนของกัญชาควรและไม่ควรใช้

แม้ว่าการปลดเสรีการปลูกโดยมุ่งหวังเพื่อพัฒนาส่วนต่างๆ ของต้นกัญชามาใช้ในการแพทย์สำหรับบางโรค และเพื่อการเกษตรในเชิงพาณิชย์อาจเป็นประโยชน์แต่เพราะว่าช่อและดอกของต้นกัญชานั้นมีสาร Tetrahydrocannabinol หรือ THC ในระดับที่สูง ซึ่งสารนี้นอกจากมีฤทธิ์ที่ทำให้เสพติดได้ ยังสามารถก่อให้เกิดอาการทางจิต เช่น อาการหลอน ระแวง และแม้ว่าอาการเหล่านี้อาจจะเป็นอยู่ไม่นานในบางคน แต่ก็สามารถกระตุ้นให้บางคนมีอาการดังกล่าวต่อเนื่องไม่หายจนกลายเป็นโรคจิตและโรคจิตเภทได้ โดยเฉพาะในเด็ก เยาวชน และผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางจิต

2.การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ควรเริ่มจากการใช้กัญชาในทางการแพทย์

โดยมีการวิจัยและพัฒนาไปเรื่อยๆ ควบคู่กับไปกับการดูแลการปลูกและการผลิตที่มีระบบควบคุมคุณภาพและควบคุมการเข้าถึงโดยมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบถึงผลข้างเคียงของการใช้เพื่อให้ทราบถึงขนาดของปัญหาที่อาจจะพบได้ เช่น โอกาสการเกิดโรคทางจิตเวช การใช้บริการห้องฉุกเฉิน อุบัติเหตุทางถนน ดังเช่นในประเทศที่มีการอนุญาตให้ใช้ไปก่อนแล้ว ก่อนที่จะพัฒนาใช้ในด้านอื่นๆ ต่อไป

3.การส่งเสริมให้ปลูกกัญชาก่อนจึงให้ความรู้ตามหลังจะก่อให้เกิดปัญหาการใช้กัญชาที่เป็นอันตรายได้

ก่อนที่จะส่งเสริมให้มีการปลูกอย่างกว้างขวาง รัฐควรมีการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปอย่างรอบด้านแบบทั่วถึง ให้รู้จักถึงประโยชน์ โทษ และข้อควรระวัง เพื่อให้การปลูกได้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของการปลดเสรีและลดโอกาสที่จะเกิดโทษหรือผลกระทบด้านลบต่อประชาชนและสังคมให้น้อยที่สุด

4.สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยมีความห่วงใยและอยากเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างการจำกัดการเข้าถึงกัญชาของกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์

ในฐานะที่จิตแพทย์เป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่ได้พบ ตรวจ และรักษาผู้ที่มีอาการทางจิตจากการใช้กัญชา ทั้งที่สามารถรักษาให้หายและไม่หายจากการใช้กัญชาเป็นประจำ เป็นจำนวนที่มากตั้งแต่กัญชายังอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษและได้เห็นผลในด้านลบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมจากการใช้กัญชาต่อผู้ที่ใช้และครอบครัว

5.สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยจึงเรียกร้องให้ทางรัฐบาลจัดทำมาตรการที่นอกเหนือไปจากที่มีในขณะนี้อย่างเป็นรูปธรรมก่อนการปลูกอย่างเสรี เพื่อป้องกันกลุ่มเปราะบาง เพราะ

5.1 เด็กและเยาวชนมีโอกาสเสพติดกัญชามากกว่าผู้ใหญ่

5.2 กัญชาส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ระดับสติปัญญา การคิดแบบมีเหตุผล และการยับยั้งชั่งใจทั้งขณะเสพ และหลังเสพ และต่อลูกในครรภ์ของมารดาที่ใช้

5.3 การเสพติดกัญชาส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น

5.4 กัญชาเป็นเหตุที่สามารถทำให้เกิดโรคจิต และจิตเภทได้

และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยพร้อมเสมอที่จะให้ข้อมูลในด้านวิชาการเมื่อมีการร้องขอ เพื่อส่งเสริมให้เกิดกลไกการควบคุมดังกล่าวขึ้นมา เพื่อประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.ภูมิใจไทย ซัดนโยบายกัญชากลับเป็นยาเสพติด ไม่เป็นผลดีต่อการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีนโยบายกัญชาของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสินว่า ตนไม่เห็นด้วยกับ

ชี้ กฎหมายกัญชา ฉบับใหม่ล็อกสเป็กเอื้อนายทุนโรงพยาบาล เปิดชื่อคนดังมีเอี่ยวเพียบ

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า ร่างประกาศ

เอาแล้ว! ม็อบกัญชายกระดับชุมนุมอดข้าวประท้วง

สุดทน! 'เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย' ยกระดับการชุมนุม ประกาศอารยะขัดขืนอดข้าวประท้วง จนกว่ารัฐบาลจะยอมไต่สวนก่อนพิพากษา ส่งกัญชาไปเป็นยาเสพติด