นายกฯ ไทย-ญี่ปุ่น ดันร่วมมือเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว ชื่นชมไทยช่วยผู้หนีภัยสู้รบเมียนมา

26 พ.ค.2565 - เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกันอีกครั้ง ภายหลังจากการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ชื่นชมญี่ปุ่นต่อความสำเร็จในการจัดการประชุมเพื่อเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ไทยพร้อมที่จะร่วมกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศต่าง ๆ ในการเจรจาแนวทางการดำเนินการและรายละเอียดของสาขาความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายนายธนกร กล่าวว่า ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีที่พบหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ติดตามและต่อยอดผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังยินดีทราบว่านอกจากนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ 27 แล้ว ยังจะได้พบกับประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจและลงทุนของภาคเอกชนญี่ปุ่นในไทย พร้อมจะได้ศึกษาดูงานที่ Haneda Innovation City ด้วย หวังว่าภารกิจทั้งหมดจะประสบความสำเร็จ เห็นผลการกระชับความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่นอย่างเป็นรูปธรรมนายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีชื่นชมบ้านเมืองที่สวยงาม สะอาดเรียบร้อยผู้คนเป็นมิตรของญี่ปุ่น ยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยือน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างยินดีกับพลวัตทางการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงมีมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางของทั้งสองประเทศ สะท้อนถึงการเริ่มกลับมาของกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้าและมีผลที่เป็นรูปธรรม และได้หารือในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีขอบคุณญี่ปุ่นที่ได้รับพิจารณาข้อเสนอของฝ่ายไทยเกี่ยวกับการขยายหลักสูตรการเรียนการสอนแบบโคเซ็นในไทย และการจัดตั้ง KOSEN Education Center เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีพิจารณาข้อเสนอของไทยเมื่อได้รับข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม และพร้อมการส่งเสริมให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ EECนายธนกร กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะร่วมมือกับถึงแนวคิด Asia Zero-Emissions Community ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เสนอในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Minister of Economy, Trade and Industry - METI) ได้หารือเรื่องนี้กับรองนายกรัฐมนตรีสุพัฒนพงษ์ฯ ที่กรุงเทพฯ โดยไทยยินดีที่จะร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นภายใต้แนวคิดดังกล่าวเพื่อสร้างสังคมที่ปลอดคาร์บอน สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของทั้งไทยและญี่ปุ่น และนโยบายเศรษฐกิจ BCG และยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น ไทยจึงพร้อมดำเนินการกับญี่ปุ่นเพื่อขับเคลื่อนข้อริเริ่มนี้ให้บรรลุผลที่เป็นรูปธรรมต่อไปนายธนกร กล่าวว่า ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรียินดีที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เลือกไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศเป้าหมายที่จะทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กเดินทางเข้าญี่ปุ่น เพิ่มเติมจากการเปิดรับนักธุรกิจ นักศึกษา และแรงงานทักษะจากไทยในช่วงก่อนหน้านี้ และกล่าวเชิญชวนให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นจะได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวให้แน่นแฟ้นมากขึ้นด้านความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในปี 2564-2567 พร้อมต่อยอดแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในทุกมิติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยและญี่ปุ่นต่างยินดีอย่างยิ่งที่ญี่ปุ่นมีบทบาทในภูมิภาค โดยญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือกับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์และเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูที่เข้มแข็งและยั่งยืนของภูมิภาค โดยเฉพาะต่อการฟื้นตัวจากโควิด-19 การรักษาห่วงโซ่อุปทาน การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคและความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนนายธนกร กล่าวว่า ความร่วมมือภายใต้กรอบเอเปค นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยพร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และสมาชิกเอเปคในโอกาสการเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายนนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และชื่นชมนโยบาย BCG ของไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเติบโตสีเขียว และเกษตรอัจฉริยะของญี่ปุ่นนายธนกร กล่าวว่า โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงสถานการณ์ในภูมิภาคและสถานการณ์โลกอย่างสร้างสรรค์ โดยต่างเห็นพ้องในการให้ความสำคัญในการดำเนินความร่วมมือประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านมนุษยธรรม ทั้งในสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และในเมียนมา โดยฝ่ายญี่ปุ่นกล่าวเห็นความพยายามของประเทศสมาชิกอาเซียนในความร่วมมือเรื่องเมียนมา และชื่นชมไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้ ต่างสนับสนุนความพยายามของทุกฝ่ายในการหาทางยุติสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติและสงบสุขโดยเร็วภายหลังจากเสร็จสิ้นการหารือทวิภาคี เวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ณ โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ร่วมการประชุมฯ ซึ่งจัดโดยบริษัท Nikkei โดยมีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' ยกไอแพดคุย 'ทรัมป์' แสดงความยินดีชนะเลือกตั้ง ยันไทยพร้อมทำงานกับสหรัฐฯ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ นายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิ

วาระแห่งชาติ! 'มาดามแพ' ดูนิทรรศการ 'ผ้าไทยใส่ให้สนุก' ยันออกแบบทันสมัย วัยรุ่นใส่ทำงานได้

ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (

'สับปะรดห้วยมุ่น' ขึ้นทะเบียน GI ยกระดับตลาดสินค้าเกษตรไทย

“คารม“ เผย ญี่ปุ่นขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “สับปะรดห้วยมุ่น”  เป็นสินค้ารายการที่ 3 ต่อจาก กาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง ยกระดับตลาดสินค้าเกษตร

'อุ๊งอิ๊ง' ประชุมเอกอัครราชทูตกงสุลใหญ่-ทีมไทยแลนด์ประจำภูมิภาคอเมริกา ยันรัฐบาลอยู่ครบเทอม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 พ.ย.(ตามเวลาท้องถิ่น ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 15 ชั่วโมง)