30 ปีพฤษภา รัฐไม่แยแส! ญาติวีรชนเจ็บปวดซ้ำสอง จัดงานออกงบเอง

15 พ.ค.2565 –  ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวแถลงภารกิจญาติวีรชนและข้อเสนอต่อรัฐบาล ในการเปิดงานศิลปะจัดวาง 30 ปีพฤษภาประชาธรรม “ดาววีรชนพฤษภา 2535” ว่าญาติวีรชนพฤษภา 35 ต้องขอขอบคุณมูลนิธิพฤษภา 35 นำโดย อ.โคทม อารียา และกรรมการทุกท่าน ที่ร่วมจัดงานรำลึกพฤษภา 35 ทุกปี ร่วมกับกรุงเทพมหานคร แม้มีมติครม.เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ให้วันที่ 17 พฤษภาของทุกปีเป็นวัน “พฤษภาคมประชาธรรม” แต่รัฐบาลทุกรัฐบาลกลับไม่สนับสนุนงบประมาณในการจัดงาน ต้องให้ภาคประชาชนหางบจัดเอง และประธานญาติวีรชนก็ต้องควักเงินสมทบจ่ายเองนับแสนบาท นับว่าแสนสาหัส ซึ่งตนเองขอเรียกร้อง

ให้รัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

นายเมธา กล่าวว่า ทุกปีที่จัดงานรำลึกก็เพื่อต้องการชำระประวัติศาสตร์ สดุดีวีรชนที่บาดเจ็บล้มตาย และสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองให้รัฐรับผิดชอบ แม้จะมีการนิรโทษกรรมทางการเมืองตัดสิทธิ์ญาติในการฟ้องร้องเอาผิดในกระบวนการยุติธรรม แต่ญาติวีรชนก็ต้องการความจริงและความเป็นธรรมเสมอมา ก่อนจะปรองดองและสมานฉันท์เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก

“คณะผู้จัดฯ โดยที่ญาติวีรชนมีส่วนร่วม ต้องการเชิญทุกฝ่ายมาร่วมงาน ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน พรรคการเมือง และภาคประชาชนทุกกลุ่ม มิใช่เพื่อให้เกียรติแขกที่เชิญมาร่วมงาน แต่เพื่อมาให้เกียรติวีรชนและแสดงรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นที่น่าเศร้าใจที่มีการบิดเบือนการจัดงานและใช้อคติไปขยายความไม่รู้จบรวมถึงไปกดดันแขกที่ถูกเชิญร่วมงานจากต่างประเทศ คนเหล่านี้ไม่ได้มีความจริงใจอย่างแท้จริงต่อผู้สูญเสีย หากตัวแทนรัฐมาก็ควรไปกดดันพวกเขาให้รับผิดชอบในเหตุการณ์ ไม่ใช่มากดดันญาติวีรชนผู้เสียหาย ที่ยังออกเงินจัดกันเองไม่ใช่เงินรัฐบาลจากภาษีของประชาชน” นายเมธา ระบุ

นายเมธา กล่าวด้วยว่า ที่เขาเชิญทุกฝ่ายมาร่วมรับผิดชอบ เพื่อจะได้เรียนรู้ความจริง และไม่ใช่ไปเชิญตัวแทนรัฐมาเพื่อให้เกียรติ แต่เพื่อให้เผชิญหน้าหาร่วมหาคำตอบกัน ดังที่มีการเชิญทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. อดีตผู้เข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภา 35 แต่ต่อมาเป็นคู่ความขัดแย้งทางการเมือง แต่การแสดงการมีส่วนร่วมโดยประกาศไม่เข้าร่วมก็ถือเป็นการมีส่วนร่วมแบบหนึ่ง หวังว่าผู้จัดงานจะนำไปทบทวน และญาติวีรชนก็พร้อมไปร่วมงานรำลึกที่แต่ละกลุ่มสามารถจัดขึ้นเองได้ตามเป้าหมายและงบประมาณของตน

นายเมธา กล่าวด้วยว่า ในวาระ 30 ปีพฤษภา 25 ญาติวีรชนเจ็บปวดซ้ำสองแต่ต้องก้าวเดินต่อไปเพื่อภารกิจของญาติวีรชน อีก 4 ประการที่อยากเรียกร้องต่อรัฐบาล คือ1.การจัดสร้างอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรมให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่สังคมและยืนเด่นเป็นตระหง่านในประวัติศาสตร์ประชาชนไม่ต่างจากอนุสาวรีย์ที่เมืองกวางจู เกาหลีใต้ แม้ล่าสุดจะมีมติครม.เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 อนุมัติให้จัดสร้างอนุสรณ์สถานของเหตุการณ์ตามมติครม.ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2536 แต่ก็ยังแล้วเสร็จในส่วนด้านหน้า ที่รอ สน.ชั่วคราวของชนะสงครามย้ายกลับไปเพื่อสถานีสร้างแล้วเสร็จ เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์สถานการเรียนรู้ประชาธิปไตยของประชาชนต่อไป โดยรัฐต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายประจำปีในการจัดงานเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

นายเมธา กล่าวด้วยว่า 2.การชดใช้ค่าเสียหายแก่ญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่บาดเจ็บ ล้มหายและสูญหายกว่า 88 ชีวิต ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามผู้สูญหายและช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ซึ่งเป็นการจ่ายค่าทดแทนและความเสียหายตามบรรทัดฐานสากลและอัตราก้าวหน้า เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้รัฐจะได้ไม่กระทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก เนื่องจากในขณะนั้นไม่มีกฎหมายรองรับในหลักการใหม่จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการจ่ายค่าช่วยเหลือตามระเบียบกฎหมายบรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงมหาดไทยแทน ซึ่งคณะกรรมการญาติวีรชนได้ท้วงติงมาอย่างต่อเนื่อง

นายเมธา กล่าวด้วยว่า 3.รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้ทหารใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนอีก ปฏิรูปกองทัพ นำทหารเข้าสู่กรมกองเป็นทหารอาชีพภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่ทันสมัย ปฏิรูประบบราชการเพื่อรับใช้ประชาชน และเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับมนุษยชนและมนุษยธรรมทั้งหมด เพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยให้เข้ากับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะการให้สัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศ ภายหลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศไปนานแล้ว

“และ 4.การแสวงข้อเท็จจริงและความจริงให้กระจ่างชัด โดยเปิดเผยความจริงเรื่องคนหายในเหตุการณ์พฤษภา 35 คืนเถ้าอัฐิวีรชนให้แก่ญาติวีรชนเพื่อไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลและเยียวยาจิตใจ โดยขอให้รัฐบาลและกองทัพเปิดเผยข้อเท็จจริงในอดีตที่ผ่านมานานถึง 30 ปีและมีการนิรโทษกรรมไปแล้วแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังมีชีวิตอยู่ ว่าศพวีรชนที่สูญหายไปอยู่ที่ใด”นายเมธา กล่าว

นายเมธา ระบุด้วยยว่า ตนเองรับทราบข่าวมาว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องและสำนึกผิด ได้ให้ข้อมูลในทางลับว่า ในช่วงเหตุการณ์พฤษภา 35 มีการขนศพประชาชนที่เสียชีวิตขึ้นรถยีเอ็มซีไปที่ใดบ้าง โดยมีอย่างน้อย 2 จุดคือ 1.เอาไปฝังกลบในพื้นที่กองพลทหารราบที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี และในตู้คอนเทนเนอร์ใต้ทะเลแสมสาร ไกลจากชายฝั่งสัตหีบไปกว่า 70 ไมล์ทะเล ซึ่งมีอยู่ 2-3 จุดที่ชาวประมงเคยพบโครงกระดูกมาตั้งแต่ปี 2536 และมีในรายงานการพบของกองทัพเรือ

“หลังจากการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้น มีการพยายามจัดฉากตรวจสอบในตู้คอนเทนเนอร์แรกแค่ครั้งเดียวในปี 2552 ซึ่งไม่พบอะไรและไม่ดำเนินการตรวจสอบต่อไป เข้าใจว่ารัฐบาลในขณะนั้นยังไม่พร้อมเปิดเผยความจริง ในเรื่องนี้นั้นจะมีการจัดอภิปรายเรื่องผู้สูญหายอย่างจริงจังในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” นายเมธา ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' ปูดรัฐบาลวางแผนยึดการบินไทย

“ศิริกัญญา” ชวนจับตา “รัฐบาล” วางแผนยึด “การบินไทย” ส่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพิ่ม 2 คน กุมเสียงข้างมาก คลังจ่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มสิทธิ์ ถามเอาเงินจากไหน ไม่พ้นต้องควักเงินภาษี

'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"

'กูรูใหญ่' แฉเบื้องลึก! ทำไมนักการเมืองยุคนี้ไม่กลัว 'ยึดอำนาจ'

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ทางตัน