สตรีทฟู้ด กรุงเทพฯ หรืออาหารริมทาง เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ อีกทั้งตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการซื้ออาหารราคาประหยัดในยุคค่าครองชีพแพง อีกทั้งมีจำหน่ายกันริมถนนหรือพื้นที่สาธารณะตั้งแต่เช้ายันค่ำแก่คนเมืองพนักงานออฟฟิศ แม้กระทั่งกลุ่มแรงงานมีรายได้น้อย
การขายอาหารริมทางมีทั้งเคลื่อนที่เป็นรถเข็น รถบรรทุก และอยู่กับที่เป็นซุ้มอาหาร ถือว่ามีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด ขณะเดียวกันเป็นภาพลักษณ์ที่ชาวต่างชาติมองเมืองหลวงแห่งนี้ว่า สวรรค์ของนักชิมริมทาง หลายองค์กรต่างประเทศจัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสตรีท ฟู้ดชื่อดังติดอันดับต้นๆ ของโลก มีร้านดังร้านเด็ดอร่อยระดับตำนานค้าขายริมทาง
แน่นอนว่า วันนี้สตรีท ฟู้ด และหาบเร่แผงลอยใน กทม. ต้องจัดระเบียบควบคู่กับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและความปลอดภัยให้พื้นที่กับพ่อค้าแม่ขาย ขณะเดียวกันต้องไม่ละเลยสิทธิคนเดินทางเท้าด้วย อย่างไรก็ตาม หาบเร่แผงลอยเป็นหนึ่งในปัญหาที่คนกรุง โดยเฉพาะผู้ค้า รอให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่หาทางแก้ไข
ที่ผ่านมา กทม. มีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย จากที่มีจุดผ่อนผันหาบเร่แผงลอย 773 จุด เมื่อปี 2554 ปัจจุบันเหลือ 171 จุด และแก้ปัญหาด้วยการหาพื้นที่ทำเลใหม่ 112 แห่ง รองรับผู้ค้าได้ 10,809 ราย แต่กลับมีผู้ค้าเข้าร่วมไม่ถึงพันราย
เสียงสะท้อนจากแม่ค้าแผงลอย บอกว่า ทุกคนมีนโยบายสวยงามสำหรับผู้ค้า แต่ดูเหมือนเป็นนโยบายที่จับต้องไม่ได้ ไม่ขัดเจน มีความเป็นไปได้ยากมากๆ ผู้สมัครบางรายตั้งข้อแม้ถ้าเลือกกลับมาเป็นผู้ว่าฯ จะพิจารณาเรื่องพื้นที่หาบเร่แผงลอยอีกครั้ง ตลกมากกว่าความมั่นใจ โดยเฉพาะการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ แต่อยู่ภายใต้มาตรานเดียวกัน ยกระดับหาบเร่แผงลอยให้เป็นที่ยอมรับต่อผู้บริโภค ทั้งภาพลักษณ์ ความสะอาด ปลอดภัย ในราคาที่ผู้ค้ารับไหว ไม่ผลักภาระสู่ผู้บริโภค
“ เห็นด้วยที่กำหนดให้หยุดขายของบนทางเท้า 1 วันต่อสัปดาห์ เพื่อทำความสะอาด ไม่ควรยกเลิก แต่สิ่งที่คาดหวังยิ่งกว่า คือ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยซึ่งจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้แก่ กทม.ทุกวัน สมควรที่จะได้รับการดูแล การปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่เทศกิจ รวมถึงสวัสดิการจาก กทม.บ้าง “ แม่ค้าเปิดใจ
การแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยของไทย ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอแนวทางไปยังผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ เพื่อพัฒนาธุรกิจสตรีทฟู้ดและรักษาเสน่ห์กรุงเทพฯ เมืองสตรีทฟู้ดของโลก ประกอบด้วยการเปิดพื้นที่ทำการค้าชั่วคราว มีการบริหารจัดการรายพื้นที่ ตามโมเดลพื้นที่อัตลักษณ์ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่กำหนดหลักเกณฑ์ในพื้นที่ และใช้การกำกับดูแลร่วมกับผู้ค้า
นอกจากนี้ จัดพื้นที่ถาวรเป็นทำเลที่เหมาะสมกับการค้าขาย เช่น จุดที่มีคนเดินเท้ามากพิจารณาอุดหนุนค่าเช่าสำหรับผู้ค้าเดิมที่ย้ายไปที่ใหม่ช่วงเริ่มต้น จากนั้นค่อยปรับเพิ่มขึ้นจนเท่ากับอัตราปกติในอนาคต หรือใช้ระบบต่อสิทธิทางการค้า แทนการปรับอย่างเดียว
ปัญหาคู่เมืองนี้ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนเสนอนโยบายแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 เสนอสร้างโอกาสให้กลุ่มผู้ค้าหาบเร่ เช่น ส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน วางแผนบริหารจัดการที่มั่งคง และช่วยจัดหาพื้นที่การค้า ประสานงานกับเอกชนและภาครัฐในพื้นที่จัดหาพื้นที่เช่าราคาประหยัดสำหรับผู้ค้าที่ต้องการพื้นที่ค้าถาวร ขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอย เพื่อให้ กทม. มีแหล่งสินค้าและอาหารแผงลอยที่บริหารจัดการมีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้เข้าถึงเทคโนโลยีสร้างโอกาสการค้าช่องทางออนไลน์ ผู้ค้าแผงลอยมีส่วนร่วมรักษาความสะอาดพื้นที่ และกำหนดรูปแบบการค้าด้วยตนเอง
หาทางอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ค้าและผู้ใช้ทางเท้า ไม่กีดขวางหรือลิดรอนสิทธิของคนบนทางเท้า ร่วมมือกับเอกชนหนุนพัฒนาลักษณะร้านค้า เช่น สีของร้าน ร่ม ให้สอดคล้องกับที่คณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขตกำหนด มีโมเดลอารีย์ซอย 1 ต้นแบบความร่วมมือจัดการรัฐและเอกชน
ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ เอ้ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ ชูหาบเร่แผงลอยเป็นเสน่ห์ กทม. เสนอนโยบายขายได้ขายดี ขายของได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด และจะคืนวันจันทร์ให้ผู้ค้า จะทำให้เทศกิจเป็นมิตรกับผู้ค้า มีก๊อกน้ำประปา ห้องน้ำสาธารณะ บริเวณฟุตบาท ให้ก็อกน้ำประปาเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของทุกฟุตบาท เช่นเดียวกับห้องน้ำสาธารณะที่สะอาด ส่วนเรื่องขยะ พ่อค้าแม่ค้าต้องเก็บขยะมัดกองรวมไว้ที่เสาไฟฟ้า
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล มีนโยบายการจัดระเบียบที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแค่คำนึงถึงความสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่พิจารณาถึงความจำเป็น วิถีชีวิต และความเป็นธรรม เน้นพูดคุยกับทุกฝ่าย หนุนผู้ค้าจัดระเบียบแผงลอยด้วยตัวเอง ชูตัวอย่างปากซอยอ่อนนุช 70 เคยเป็นจุดที่ตั้งหาบเร่แผงลอยขนาดใหญ่ ก่อน กทม. จัดระเบียบ ผู้ค้าปรับตัวเรียกร้องจนเกิดจุดผ่อนผันพร้อมรายชื่อผู้ค้า รวมกลุ่มพัฒนาพื้นที่กลายเป็นจุดค้าขายถาวร มีถังดักไขมัน ระบบจัดการขยะ รวมถึงระบบดูดควันร้านค้าปิ้งย่าง
สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 3 ผู้สมัครอิสระ เสนอสร้างความสมดุลระหว่างคนเดินเท้ากับแผงค้า พิจารณาจุดไหนที่พื้นที่ทางเท้าเหลือถึงจะทำแผงค้าได้ อนุญาตให้ขายได้ตามกำหนดเวลา ไม่กระทบคนสัญจรไปมาและการจราจร ปากท้องอย่างเดียวไม่ได้ต้องดูความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงหาแนวทางพิจารณาให้คนที่รายได้น้อยมีโอกาสใช้ทำมาหากิน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 6 ผู้สมัครอิสระ อดีตผู้ว่าฯ กทม. จะคืนความเป็นธรรมให้กับสังคม ทั้งผู้ค้า และคนเดินถนน เสนอหากได้กลับมาเป็นผู้ว่าฯ ค่อยกลับมาพิจารณาเรื่องนี้กันอีกครั้ง
รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ หมายเลข 7 ผู้สมัครอิสระ เปิดนโยบายเลิกไล่จับหาบเร่แผงลอย จัดหาพื้นที่ทำเลขายดีอย่างถูกกฎหมาย สะอาด ปลอดภัยให้กับผู้ค้าริมทาง
น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย ขายนโยบายยกระดับ กทม.ให้เป็นเมืองหลวงสตรีท ฟู้ด ของโลก มีมาตรฐานความสะอาด ส่งเสริมให้มีพื้นที่ทำมาหากินสำหรับพ่อค้าแม่ค้าขายคนตัวเล็ก ด้วยกองทุนเครดิตประชาชนเพื่อคนตัวเล็ก ให้ผู้ค้าตั้งตัวได้ จัดโซนค้าขายตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเพิ่มพื้นที่ค้าขายให้คนกรุงเทพฯ ทั้งการเช่าตึกหรือพื้นที่ที่ปิดตัวจำนวนมากที่อยู่ริมถนน
โค้งสุดท้ายแล้ว เทียบนโยบายจากเหล่าผู้สมัครประกอบการตัดสินใจลงคะแนนเสียงในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.นี้ อีกแค่ 2 สัปดาห์ จะได้หาบเร่แผงลอยแบบไหน หน้าตาสตรีท ฟู้ดกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนไปหรือไม่อยู่ที่คน กทม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ภูมิธรรม' ถกสภากลาโหมนัดแรก ฉะ 'วิโรจน์' โยงเรื่องการเมือง ทำประเทศไม่สงบ
'ภูมิธรรม' ถกสภากลาโหมนัดแรก กำชับกองทัพทำความเข้าใจระเบียบลงโทษกำลังพล จ่อ คัดเลือกครูฝึกรุ่นใหม่ หลัง มีข่าวทหารเกณฑ์ถูกซ้อมทรมาน ฉะ 'วิโรจน์' โยงเป็นประเด็นการเมือง ดิสเครดิตรัฐบาล ทำบ้านเมืองไม่สงบ ยืนยัน รัฐมนตรี ไม่เคยคิดหนีตอบกระทู้ แต่ติดภารกิจช่วยประชาชนน้ำท่วม ลั่นไม่ได้หน้าที่แค่อย่างเดียว
คนกรุงเลิกกลุ้มไม่ท่วม เคลียร์เชียงรายจบต.ค.
"นายกฯ อิ๊งค์" ตรวจเข้มสถานการณ์น้ำ ยันคนกรุงไม่ต้องกลุ้มใจ
'ชัชชาติ' ดันศูนย์ BKK Food Bank ครบ 50 เขต แบ่งปันอาหาร 2 ล้านมื้อถึงกลุ่มเปราะบาง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารอาหาร หรือศูนย์ BKK Food Bank แห่งที่ 50 โดยมี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นางสาวมธุรส เบนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสะพานสูง ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขตสะพานสูง
ชำแหละยิบ! ฝ่ายค้านอ่อนแอ บ่อนทำลายสภาฯ เลี่ยงตรวจสอบรัฐบาล พุ่งเป้าดิสเครดิตกองทัพ
กรณี สส.พรรคประชาชน นำเรื่องอาหารและเบี้ยเลี้ยงของทหารเกณฑ์มาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเป็นการแสดงออกถึงความไร้ประสิทธิภาพอย่างร้ายแรงของการใช้เวลาในสภา
'วิโรจน์' อัดกองทัพซื้อถาดหลุมเอาไปกันกระสุนได้หรือไม่ นำงบไปเพิ่มค่าอาหารดีกว่า
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กรมพลาธิการทหารบก และกองทัพบก ออกมาชี้แจง ภายหลังการอภิปรายเรื่องถาดหลุมรับประทานอาหาร
พิธา ควง วิโรจน์ ช่วย 'โฟล์ค' หาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.พิษณุโลกเขต 1
พิธา อดีตประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นายปฏิพัทธ์ สันติภาดา เดินสายหาเสียงช่วย นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือโฟล์ค ผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.พิษณุโลก เขต 1