'ชัยวุฒิ' บี้ กก.คุมยาสูบ ทบทวนมติห้ามนำเข้า-ขาย 'บุหรี่ไฟฟ้า' หนุนเปิดเสรีโกยภาษีเข้ารัฐ

29 เม.ย. 2565 – นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เพื่อขอให้ทบทวนมติคณะกรรมการฯเมื่อวันที่ 28 มี.ค.65 ที่มีมติห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบในประเทศไทย ทั้งนี้เข้าใจวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการฯ ที่ออกมติแบนบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนหรือพี่น้องประชาชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า แต่เห็นว่า ไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่แพร่หลายในขณะนี้ เพราะในความเป็นจริงก็มีกฎหมายควบคุมในส่วนนี้อยู่แล้ว

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ในฐานะที่กระทรวงดีอีเอส มีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ ก็ได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นหนึ่งสินค้าผิดกฎหมายที่มีลักลอบจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก ทางกระทรวงฯ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์อย่างผิดกฎหมาย แต่พบว่าประชาชนมีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่มวนหรือบุหรี่จริง ตลอดจนมีผลการศึกษาจากต่างประเทศ และมีกว่า 70 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และในทวีปยูโรป ที่ยอมรับให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย จนมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย และจากจำนวนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในไทยที่มีจำนวนมาก ทำให้มีการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ผ่านระบบออนไลน์อย่างแพร่หลาย จนยากที่จะเข้าไปปิดกั้นจับกุมได้ทั้งหมด รวมทั้งยังเป็นช่องทางในการเรียกรับเงินใต้โต๊ะเป็นผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

“แนวทางแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ควรทำให้ถูกกฎหมาย และเก็บภาษีให้ถูกต้อง เข้าอยู่ในระบบอยู่ในเกณฑ์เดียวกับบุหรี่จริง มีการควบคุมการโฆษณา ห้ามโฆษณา มากกว่าการจะไปห้าม 100% ที่ไม่ใช่ทางออกของบริบทในสังคมปัจจุบัน” นายชัยวุฒิ ระบุ

รมว.ดีอีเอส กล่าวด้วยว่า นโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมาะสม จำเป็นต้องพิจารณาผลประโยชน์ในภาพรวม อาทิ ประโยชน์ที่ผู้สูบบุหรี่ที่จะเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่อันตรายน้อยกว่า ประโยชน์ในการปกป้องผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมไปถึงการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน และประโยชน์ของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ที่ไม่ต้องรับสารพิษต่างๆ จากการเผาไหม้ วันนี้หลายประเทศยอมรับแล้วว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่จริงมีสารพิษน้อยกว่า ทำให้ผู้ใช้ที่อยากจะมีทางเลือกในการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะมองว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน จึงไม่ควรไปจำกัดสิทธิ์ของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอีกต่อไป

ส่วนเหตุผลที่ว่าเพื่อป้องกันเยาวชนและคนรุ่นใหม่เข้ามาสุบบุหรี่นั้น เป็นหลักคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะปัจจุบันหากเยาวชนคนรุ่นใหม่อยากสูบบุหรี่ ก็สามารถซื้อบุหรี่จริงได้อยู่แล้ว คณะกรรมการฯ ควรรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และนำข้อมูลทางวิชาการของประเทศที่เปิดให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาร่วมพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อพิจารณาทบทวนการแบนบุหรี่ไฟฟ้า

“เมื่อนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาสู่ระบบอย่างถูกกฎหมายแล้ว รัฐก็จะสามารถกำหนดข้อห้ามได้ อาทิ การห้ามจำหน่ายออนไลน์ ดีกว่าการที่ผลักให้ไปอยู่ใต้ดินที่ผิดกฎหมาย และก็ลักลอบขายกันกว้างขวาง โดยต้องยอมรับว่า โดยระบบของเราไม่สามารถปิดกั้นได้ทั้งหมด วิธีเดียวที่ดีที่สุดก็คือรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง” รมว.ดีอีเอส ระบุ

ทั้งนี้รัฐควรเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ และผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าได้เข้ามามีความส่วนแสดงความคิดเห็นให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับคณะกรรมการฯ หาทางออกร่วมกันที่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถมีที่ยืนในสังคมไทย เพื่อเราจะได้ควบคุมและใช้ประโยชน์ ดีกว่าเราไปผลักไปๆสร้างปัญหาอื่นๆตามมา และควรมีกฎหมายที่กำหนดอายุขั้นต่ำในการซื้อขาย เด็กและเยาวชนควรได้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ของพวกเขา และกฎหมายที่ควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ยังไม่มีความคิดจะเลิกบริโภคยาสูบสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และอาจลดปริมาณสารพิษที่เกิดขึ้นในอากาศ รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าจะมีมาตรฐานที่ควบคุมได้เช่นเดียวกันกับประเทศทั่วโลก

“การพิจารณานโยบายเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า อย่างเหมาะสมกับบริบทและความเป็นจริง ซึ่งตั้งอยู่บนหลักฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งนวัตกรรมสมัยใหม่ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดอันตรายในด้านสุขภาพ ให้กับผู้บริโภคยาสูบ และประชาชนโดยทั่วไป ขณะเดียวกันก็ยังสามารถปกป้องคุ้มครองเยาวชนไม่ให้เข้าถึงสินค้าเหล่านี้ ผ่านช่องทางดิจิทัลโดยปราศจากการตรวจสอบควบคุมด้วย” นายชัยวุฒิ กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปอด..คนไทยไม่ปลอดภัย "PM2.5-บุหรี่ไฟฟ้า"ตัวร้าย!!

อันตรายที่มองไม่เห็นอย่างฝุ่น PM2.5 กำลังคร่าชีวิตและบ่อนทำลายสุขภาพของคนในสังคมไทยอย่างเงียบเชียบ ด้วยตัวเลขที่มีการยืนยันว่า คนไทยกำลังเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5

กมธ.วิสามัญ “บุหรี่ไฟฟ้า” แถลงใหญ่เตรียมชง 3 ทางเลือกแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2567 ที่รัฐสภา นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)

อึ้ง เด็กประถม ขายบุหรี่ไฟฟ้า เลี้ยงปากท้อง ซ้ำ ฝุ่น PM2.5 พุ่งเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง ทำป่วยมะเร็งปอดติด 1 ใน 5 โรคมะเร็งคร่าชีวิต

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)