23 เม.ย.2565 - นายบรรจง นะแส นักอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลไทย ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก มีรายละเอียดดังนี้ ทำการบ้านให้ท่านนายกรัฐมนตรี….(เรื่องนี้ซีเรียสครับ)
ท่านนายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาตรวจงานในจังหวัดสงขลาในวันที่ 25 เมษายน 65 ฟังมาว่าจะมาตรวจติดตามแผนป้องกันน้ำท่วมของเมืองหาดใหญ่ด้วย(บริเวณคลองร.1) และวันพรุ่งนี้(24เมษา)ท่านรัฐมนตรีการท่องเที่ยวฯก็จะล่วงหน้ามาก่อนเพื่อหาช่องทางในการสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลา ผมขอเสนอแนวทางที่จะทำให้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและสนับสนุนการท่องเที่ยวในกิจกรรมเดียวกัน ประเภทยิงปืนนัดเดียวได้นก2ตัว….
ผมติดตามกรณี “สุสานเรือญวน” (เรือเวียดนามที่เข้าทำการประมงในน่านน้ำไทยแล้วโดนจับดำเนินคดี เมื่อคดีสิ้นสุดเรือ 120 กว่าลำถูกลากมารวมกันไว้ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาเป็นระยะเวลาหลายปีมาแล้วโดยไม่มีหน่วยงานใดสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ ข้อมูลเบื้องต้นนะครับท่านนายกรัฐมนตรี…
1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ประกอบด้วยกรมประมง/กรมเจ้าท่า/กองทัพเรือ/ตำรวจ/กรมทรัพย์ฯแต่ละหน่วยงานรับรู้ปัญหาของสุสานเรือนี้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นสิ่งแปลกปลอมปิดกั้นทางน้ำที่จะใหลออกทะเล(สาเหตุหนึ่งของการทำให้น้ำท่วมบริเวณรอบทะเลสาบ ทำให้ทะเลสาบตื้นเขิน)/ทัศนียภาพความสวยงามของพื้นที่ถูกปิดบัง/เป็นแหล่งมั่วสุมเสพยาเสพติดของเยาวชนฯลฯ
2.เคยมีความพยายามของหน่วยงานราชการที่จะแก้ไขปัญหานี้เช่นจังหวัดสงขลา/กรมเจ้าท่า/ทหารเรือ/ศอ.บต ที่จะหาวิธีการกำจัดสุสานเรือเหล่านี้ออกไป แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากต้นสังกัด หรือให้มาก็ไม่พอ หรือมีความพยายามของบางหน่วยงานที่จะนำเรือบางส่วนออกไปใช้ประโยชน์แต่ก็มีการตุกติกหวังแต่จะกินหัวคิวเช่นการจัดการเคลื่อนย้ายเรือตั้งค่าใช้จ่ายไว้ลำละล้านบาท ในขณะที่มีผู้ที่ชำนาญการในการย้ายเรือ(ทำความสะอาด/สูบน้ำออก/จัดระบบประคองเรือให้เหนือน้ำในลำที่จมน้ำบอกว่าจะใช้ค่าใช้จ่ายไม่เกิน1.5-2แสนบาทก็ทำได้สบายๆ)…เมื่อตั้งงบประมาณไว้สูง(หวังกินหัวคิว?ก็จะได้รับการสนับสนุนยาก)
จนถึงวันนี้ปัญหาก็ยังดำรงอยู่ ทางออกในเรื่องนี้จะต้องเป็นเรื่องทางนโยบายที่ท่านนายกรัฐมนตรีจะต้องมีคำสั่งให้ทุกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้มาร่วมกัน จะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการจากงบประมาณกลาง มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนเรื่องนี้ถึงจะแก้ไขได้
3.ถ้ารัฐบาลไม่มีงบประมาณกลางก็ต้องอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งให้หน่วยงานราชการที่มีอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายเรือเช่นกองทัพเรือ/กองทัพบก/กรมประมง/กรมเจ้าท่าให้บูรณสการทำงานร่วมกันเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของท่านนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่จะสั่งการในเรื่องนี้ได้ ให้หัวหน้าส่วนของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่าใคร หรือกลัวว่าหน่วยไหนจะได้หน้าทำนองนั้น
4.จะเอาเรือไปทิ้งไว้ที่ไหน?คืออีกหนึ่งโจทย์ เท่าที่ทราบตอนนี้มีการประมูลด้วยราคาถูกๆในส่วนของเรือที่ยังพอใช้งานได้อยู่บ้าง แต่ก็มีการประมูลไปจอดให้เท่ห์ๆอยู่ในหน้าบ้าน/หลังบ้านของหลายๆคน ซึ่งก็เกะกะ/กีดขวางทางน้ำอยู่ดี ทางออกที่น่าสนใจก็คือประสบการณ์ของพี่น้องชาวประมงพบว่า เวลามีซากเรือจมอยู่หน้าชุมชนไหนพบว่าจะเป็นแหล่งทำประมงที่พี่น้องชาวประมง/นักตกปลาได้ประโยชน์จากซากเรือมาก จังหวัดสงขลามี6อำเภอที่มีพื้นที่ติดทะเล เรามีเรือที่สิ้นสุดคดีความกองเกะกะอยู่120ลำ ถ้าเรากู้แล้วลากไปกองทำปะการังเทียมให้อำเภอละหนึ่งกอง(20ลำ) แต่ละอำเภอก็จะมีแหล่งทำการประมงใกล้ฝั่ง จะเกิดกิจกรรมตกปลาสร้างรายได้ให้กับหลายๆฝ่าย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอาชีพนักตกปลาฯลฯ
วันนี้ตั้งใจจริงๆครับ ตั้งใจจะเห็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นกับพื้นที่หลังจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีกลับไปทำงานที่ทำเนียบ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ศรชล.ภาค 3' ช่วย 3 ชีวิตรอดกลางทะเล
ศรชล.ภาค 3 ออกช่วยเหลือเรือประสบเหตุเครื่องกว้านสมอเรือขัดข้อง จนลูกเรือ 3 ชีวิตปลอดภัยกลางทะเล
'ประมงพื้นบ้าน' ยกพลบี้สภา เปิดช่องทบทวนมาตรา 69 ยืดชะตาทะเลไทย
สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ จ่อเคลื่อนไหวหลังปีใหม่ หนุนเปิดทางตั้งกมธ.ร่วมสองสภา ทบทวน มาตรา 69 ปลดล็อกทำลายล้างทะเลไทย
‘รองโฆษกปชป.’ จี้รบ.เร่งช่วย 4 ลูกเรือ แนะเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อชาวประมงสองฝั่ง
รัฐบาลไทยควรจะ 1.เร่งรัดนำชาวประมงไทยและเรือประมงไทยกลับสู่ประเทศไทยโดยเร็ว และ 2. รัฐบาลไทยควรที่จะเจรจาร่วมกันในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่พิพาทอยู่
'หลุยส์' ดำเนินรายการเต็มตัว 'Kids พิทักษ์โลก' หนุนเด็กรักษ์สิ่งแวดล้อม
ช่อง 7HD รุกเปิดพื้นที่เพื่อเด็กและเยาวชน ส่งช่วงใหม่ "Kids พิทักษ์โลก" ดึง "หลุยส์ เฮส" ที่เพิ่งขึ้นแท่น Brand Ambassador ของมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พลิกบทบาทมาเป็นผู้ดำเนินรายการเต็มตัวครั้งแรก ลงจอทุกวันจันทร์ ทางรายการ สนามข่าว 7 สี ตั้งแต่เวลา 07.30 น.
สถานการณ์ทางทะเลที่ต้องจับตา ขยับเศรษฐกิจสีน้ำเงินลดทำลาย
สถานการณ์ทางทะเลของประเทศไทยขณะนี้หลายปัญหามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทั้งสัตว์ทะเลหายากเสี่ยงสูญพันธุ์จากกิจกรรมมนุษย์และสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ล่าสุดกรณีพะยูนตายมากถึง 5 ตัวภายในเดือนพฤศจิกายนนี้เพียงเดือนเดียว