'แอมเนสตี้' จี้ประชาคมโลกคุ้มครองผู้ชุมนุมในเมียนมา หลังล้มเหลวในการยุติความรุนแรง

'แอมเนสตี้' จี้ประชาคมโลกคุ้มครองผู้ชุมนุมในเมียนมา หลังล้มเหลวในการยุติความรุนแรง หนึ่งปีที่อาเซียนเห็นชอบ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ นักกิจกรรมเปลี่ยนไปใช้วิธีประท้วงแบบแฟลชม็อบ กองทัพตอบโต้ด้วยการคุกคามครอบครัว

22 เม.ย.2565 - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า นักกิจกรรมที่กล้าหาญของเมียนมายังคงเดินหน้าชุมนุมประท้วงโดยสงบต่อไป ท่ามกลางอันตรายร้ายแรงและปัญหาท้าทายมากมาย โดยกล่าวขึ้นเนื่องในโอกาสครบหนึ่งปีหลังจากอาเซียนเห็นชอบ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถยุติความรุนแรงในประเทศได้

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้สัมภาษณ์เชิงลึกกับ 17 คน ซึ่งยังคงเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรงในห้ารัฐและเขตของเมียนมา โดยผู้ให้สัมภาษณ์มาจากหน่วยงานที่หลากหลาย ทั้งหน่วยงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และหน่วยงานด้านสิทธิสตรี

วิธีการชุมนุมประท้วงซึ่งเป็นที่นิยมมากสุดอย่างหนึ่งในตอนนี้คือ “แฟลชม็อบ” โดยนักกิจกรรมจะวิ่งประท้วงในถนนหลายนาที ก่อนจะสลายตัวไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยิง ถูกจับ หรือถูกทหารเมียนมาขับรถชน

ประชาชนทั่วไปยังจัด “การประท้วงเงียบ” ทั่วประเทศ โดยบรรดาร้านค้าและธุรกิจพากันปิดตัว ท้องถนนว่างเปล่า และประชาชนอยู่กับบ้าน เพื่อแสดงการต่อต้านระบอบปกครองของทหาร

ทั่วประเทศเมียนมา นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้แจกจ่ายใบปลิวบนรถเมล์ ติดสติกเกอร์หรือพ่นสีตามกำแพงเป็นข้อความเพื่อต่อต้านกองทัพ และกระตุ้นให้มีการคว่ำบาตรสินค้าและบริการที่มีส่วนเชื่อมโยงกับกองทัพ

เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่านักกิจกรรมเมียนมาต้องการแรงสนับสนุนอย่างเร่งด่วนจากประชาคมโลก รวมทั้งมาตรการห้ามซื้อขายหรือส่งอาวุธให้เมียนมา เพื่อขัดขวางไม่ให้กองทัพสามารถใช้อาวุธสงคราม เข่นฆ่าสังหารผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ

“อาเซียนต้องเรียกร้องให้กองทัพเมียนมา ยุติการใช้ความรุนแรงทั้งปวงต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องตามฉันทามติห้าข้อ และควรทำทันทีในตอนนี้ เพื่อขัดขวางไม่ให้ประชาชนชาวเมียนมาต้องทนทุกข์ทรมานอีกต่อไป”

“ทั้งอาเซียนยังจะต้องร่วมกันประณามต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งปวงในเมียนมา และเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ”

ในช่วงไม่กี่วันหลังการทำรัฐประหาร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและกลุ่มสิทธิมนุษยชนอีกหลายแห่ง ต่างกระตุ้นให้กองทัพเมียนมายุติการใช้กำลังอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายและการใช้ความรุนแรงถึงชีวิตต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ ความรุนแรงเหล่านี้มีส่วนกระตุ้นให้คนจำนวนมากเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งยังคงปฏิบัติการอยู่ทั่วประเทศ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้กองทัพปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง สอดคล้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้ามาทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่

แต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบรับ ถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกสังหารแล้วกว่า 1,700 คน และอีกกว่า 13,000 คนถูกคุมขังนับแต่ทหารยึดอำนาจ ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง

นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้เป็นประจักษ์พยาน หรือตกเป็นเหยื่อการปฏิบัติมิชอบของเจ้าหน้าที่กองทัพระหว่างการชุมนุมประท้วง รวมทั้งการถูกยิง ถูกซ้อม และการขับรถชนพวกเขา

นอกจากนั้น นักกิจกรรมหลายคนยังบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขารู้สึกว่าถูกติดตามและสอดแนมข้อมูลส่วนตัวจากพลเรือนที่เป็นสายข่าวตลอดเวลา หรือที่พวกเขาเรียกว่าพวกดาลัน หรือบางทีก็เป็นการสอดแนมจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่สวมชุดพลเรือน และที่ขับรถไม่มีตราสัญลักษณ์

ในหลายกรณี ทหารและตำรวจได้จับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนสนิทของนักกิจกรรมเอาไว้ ถ้าไม่สามารถพบตัวนักกิจกรรมและจับกุมพวกเขาได้ รวมทั้งกรณีการจับตัวแม่วัย 94 ปีของนักการเมืองคนหนึ่ง และการจับกุมลูกสาววัยสี่ขวบของนักกิจกรรมอีกคน ตามรายงานข่าวของสื่อ

“แม้จะมีอันตรายและความลำบากใหญ่หลวง แต่นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกหลายคน ยังคงเลือกที่จะอยู่ในเมียนมาต่อไป พวกเขามีเจตจำนงอย่างแน่วแน่ที่จะจัดการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และแสดงความเห็นต่างต่อไป” เอ็มเมอร์ลีน จิล จากแอมเนสตี้ กล่าว

พวกเขาหลายคนบอกว่า จะยังคงชุมนุมประท้วงโดยสงบต่อไป เพื่อกระตุ้นให้คนทั้งประเทศลุกฮือขึ้นมา และทำให้คนเกิดความหวัง “เหตุผลสำคัญที่อาตมายังคงชุมนุมประท้วงต่อไป ก็เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกหรือไม่ให้คนเกิดความท้อถอย เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่ามีกำลังใจเมื่อเห็นพวกเรา” พระอู ยอ จากมัณฑะเลย์กล่าว

“แม้ชีวิตพวกเราจะอยู่ในอันตราย แต่เราเลือกที่จะเดินหน้าต่อไป เรายังคงร้องขอต่อประชาคมโลกให้ช่วยเหลือพวกเรา เพราะมีประชาชนที่กำลังถูกเข่นฆ่าในเมียนมา” ซิน หม่า แกนนำผู้ประท้วงที่โมนยวา กล่าว

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ

กสม. เผยผลการตรวจสอบศูนย์บำบัดยาเสพติดจ.ปัตตานี ถูกร้องเรียนละเมิดสิทธิฯ

กสม. ตรวจสอบกรณีศูนย์บำบัดยาเสพติดใน จ.ปัตตานี ถูกร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิฯ แนะหน่วยงานสนับสนุนจัดตั้งเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลอย่างเหมาะสม

กสม. ชี้ผู้ต้องขังร้องเรียนถูกตร.ปปส.ทำร้ายร่างกายระหว่างจับกุมเป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ กรณีผู้ต้องขังร้องเรียนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดทำร้ายร่างกายระหว่างจับกุม เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอให้สอบสวนและเยียวยาความเสียหาย

กสม.ชี้กรมอุทยานฯเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเขื่อนศรีนครินทร์ช้า เป็นละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้กรมอุทยานฯช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ช้าถึงห้าสิบปีเป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอ ครม. เร่งแก้ไข