22 เม.ย. 2565 – นายประภัสร์ จงสงวน ผู้อำนวยการกองการเลือกตั้งพรรคไทยสร้างไทย ในฐานะอดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และอดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า จากกรณีรถไฟฟ้าสามสนามบิน ขอตั้งคำถามถึง รฟท. และรัฐว่า เหตุใดจึงยอมให้มีการดำเนินการ ที่ทำให้ภาครัฐเสียเปรียบ ทั้งที่ข้อเท็จจริงฝ่ายคู่สัญญาเป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาที่มีสาระสำคัญว่าด้วยการโอนและชำระราคาค่าระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ตามสัญญากำหนดให้ รฟท. โอนและส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ให้คู่สัญญาและคู่สัญญาต้องชำระเงินตามจำนวนที่ระบุให้ รฟท. เต็มจำนวน ซึ่งในข้อเท็จจริงกลับ มีแต่การโอนและส่งมอบรถไฟฟ้าตามเงื่อนไข แต่ไม่มีการชำระราคารถไฟ
เพราะตามผลของสัญญา รฟท. ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากคู่สัญญาได้ทันที แต่ด้วยเหตุผลอันใดจึงไม่มีใครชี้แจง รฟท. กลับยอมรับชำระหนี้ 10% และยอมให้มีการเจรจาเพื่อขยายเวลาและผ่อนการชำหนี้ค่าแอร์พอร์ตลิงค์ รวมถึงการแก้ไขสัญญาในประเด็นอื่นๆ ที่ในวันนั้นยังไม่เปิดเผย เพราะคู่สัญญาอ้างว่าได้รับผลกระทบจากโควิด ทั้งที่กฎหมายและข้อเท็จจริงแล้วนั้น ผลกระทบจากโควิดเป็นกรณีเหตุสุดวิสัยที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของรัฐ แต่เป็นโรคระบาดที่ระบาดทั่วโลกและทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งคนไทยทุกคนทุกระดับและหน่วยงานของรัฐต่างก็ได้รับผลกระทบจากโควิดด้วยกันทั้งสิ้น
โดยประเด็นที่คู่สัญญาได้ขอแก้ไขตามที่ปรากฏในสื่อ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีแนวโน้มเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของคู่สัญญา มี 5 ประเด็นดังนี้ ประเด็นแรก เงินช่วยเหลือจากรัฐที่เดิมกำหนดจ่ายเมื่อสร้างเสร็จ แก้ไขเป็นสร้างไปจ่ายไป ประเด็นที่สองคือ เงินช่วยเหลือ(ตามประเด็นแรก)จะต้องเร่งรัดจ่ายเร็วขึ้นจากเดิม 10 งวดตั้งแต่ปีที่ 6-15 เป็น 7 งวด ตั้งแต่ปีที่ 3-9 ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐตกเป็นผู้เสียเปรียบ
ประเด็นที่สาม ให้แบ่งจ่ายเงินช่วยเหลือจากแบ่งจ่ายปีละ 14,965 ล้าน รวมเป็นเงิน 149,650 ล้านบาท เป็นปีละ 19,071 ล้านรวมเป็นเงิน 133,495 ล้านบาท จึงมีข้อสังเกตว่าการขอแก้ไขในส่วนนี้ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนเร็วขึ้น ทำให้รัฐเกิดภาระทางการเงินทั้งในด้านค่าดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในขณะที่คู่สัญญาได้ประโยชน์เพราะสามารถลดภาระการกู้เงินได้ถึง 135,484 ล้านบาท ประหยัดดอกเบี้ย 25,650 ล้านบาทและภาษีอีก 1,959 ล้านบาท
ประเด็นที่สี่ พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ 150 ไร่ ที่มักกะสัน ซึ่งมีปัญหาเรื่องลำรางสาธารณะเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ คิดเป็น 1% ของพื้นที่ทั้งหมด คู่สัญญาต้องการให้ รฟท. ไปดำเนินการเพิกถอนสถานะลำรางตามกฎหมายก่อนที่คู่สัญญาจะรับมอบพื้นที่ทั้ง 100% ซึ่งการเพิกถอนดังกล่าว จะใช้เวลาประมาณ 2 ปีเท่ากับคู่สัญญามีสิทธิไม่รับมอบพื้นที่เพื่อเริ่มการก่อสร้างออกไปอีก 2 ปี
อีกทั้งลำรางนี้เป็นลำรางดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วตั้งแต่มีโรงงานมักกะสัน และคู่สัญญาในฐานะผู้ยื่นข้อเสนอลงทุนโครงการ ย่อมต้องมีการศึกษาและตรวจสอบก่อนยื่นข้อเสนอขอทำโครงการ จึงควรจะรู้หรือต้องรู้ว่ามีลำรางอยู่ในที่ดินที่ตนเองเสนอให้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่จะมีการพัฒนา ไม่ใช่มาตั้งเงื่อนไขหลังจากที่มีการลงนามสัญญาแล้ว จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย จึงไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่คู่สัญญาจะไม่รับมอบพื้นที่ 99% และชะลอการเริ่มการก่อสร้าง
และประเด็นสุดท้ายประเด็นที่ห้า เรื่องการซ้อนทับของโครงการรถไฟไทย-จีน กับโครงการของคู่สัญญา โดยคู่สัญญาจะรับภาระค่าก่อสร้างจำนวน 9,207 ล้านบาท แต่ขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างและขอใช้ระบบค่า K ดังนั้น เมื่อใช้ระบบค่า K แล้วถ้าค่าก่อสร้างเกิน 9,207 ล้านบาท ส่วนเกินคู่สัญญาจะไม่รับผิดชอบ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าค่าใช้จ่าย ราคา ดอกเบี้ยฯลฯ ที่เพิ่มขี้นจากความล่าช้าของการเริ่มการก่อสร้างนี้ อาจกลายเป็นความรับผิดชอบของ รฟท. เพราะคู่สัญญาอาจย้อนกลับมาใช้สิทธิเรียกร้องเอาจาก รฟท. และรัฐได้ จากการยินยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการเริ่มงาน
นายประภัสร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อเท็จจริงข้างต้น จึงมีข้อตั้งถาม และข้อสังเกตไปยังรัฐบาล และรฟท. ว่าตามระเบียบข้อบังคับและข้อกฎหมายของทางราชการ สัญญาที่ลงนามไปแล้วจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ ถูกต้องหรือไม่ และตามระเบียบข้อบังคับและข้อกฎหมายของทางราชการ การอ้างเหตุสุดวิสัยจะทำได้เฉพาะการขอลดหรือยกเว้นค่าปรับ แต่ไม่สามารถใช้เป็นเหตุอ้างในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ได้ลงนามไปแล้ว ถูกต้องหรือไม่
รวมถึงการให้ความช่วยเหลือคู่สัญญาจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะหากการอนุมัติดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์หรือทำให้รัฐเสียประโยชน์ ครม.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เช่นเดียวกับกรณี Exim Bank เป็นต้น ถูกต้องหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สุริยะ' ย้ำที่เขากระโดงเป็นของรฟท. ส่วนที่ดินอัลไพน์ ยันไม่ผิดกฎหมาย
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าภายหลังการรถไฟ
'สุริยะ' เดินหน้าแก้สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อ้างต่างฝ่ายต่างผิดสัญญา
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขสัญญารถ
'ปชน.' จัดเต็ม 13 ชม. ถลกนโยบายรัฐบาลอิ๊งค์ ยังไร้สัญญาณจาก 'พปชร.'
'ปกรณ์วุฒิ' พอใจฝ่ายค้านได้ 13 ชม. ถลกนโยบายรัฐบาล 'แพทองธาร' เผย 'พปชร.' ยังไม่มาคุยจัดสรรเวลา จี้ 'ครม.' ตอบให้ตรงคำถาม จ่อทวงความชัดเจน 'ดิจิทัลวอลเล็ต'
สุดสับสน! ปรากฏการณ์การเมืองไทย ยุครัฐบาล 'อิ๊งค์'
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเฉพาะกลุ่ม สส. แต่หัวหน้าพรรคกลับถูกไล่ออกไม่ให้ร่วมด้วย
พรรคคุณหญิงหน่อย งัด 'จริยธรรม' ขับสส.งูเห่า 'จตุพร' ถามมีพรรคไหนจะกล้ารับ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ช่วงหนึ่งถึงการส่วนการตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.)า ไม่ง่าย
เอาแล้ว สส.เกินร้อย ไทยสร้างไทย วางบิลแลกโหวตนายกฯแพทองธาร
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม