นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงเวที BIMSTEC ไทยส่งเสริม 5 ความเชื่อมโยง เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงเวทีบิมสเทค ไทยส่งเสริม 5 ความเชื่อมโยง เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างเครือข่ายความใกล้ชิดระหว่างประชาชนและภาคธุรกิจ พร้อมเดินหน้าสู่ความมั่งคั่ง

30 มีนาคม 2565 - เวลาประมาณ 10.35 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นโดยศรีลังกา ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิก BIMSTEC โดยในการประชุมครั้งนี้ทุกประเทศจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม

โดย นายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกาประธานจัดการประชุม กล่าวเปิดการประชุมระบุว่า เชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของบิมสเทค จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรค และความท้าทายในโลกร่วมกันบิมสเทค ซึ่งมีขนาดประชากร 1 ใน 5 ของประชากรโลก ได้ขยายความร่วมมืออย่างสำคัญ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้มีเศรษฐกิจ และสาธารณสุข ที่เข้มแข็งมากขึ้น สะท้อนได้จากหัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้ “BIMSTEC- Towards a Resilient Region, Prosperous Economies, Healthy Peoples” หรือ “บิมสเทค มุ่งหน้าสู่อนุภูมิภาคที่ยืดหยุ่น มั่งคั่ง และประชาชนมีสุขภาพดี” โดยในวันนี้ จะมีการลงนามกฎบัตร ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ ในการเสริมสร้างบทบาทขับเคลื่อนภูมิภาค

การเดินเรือชายฝั่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคจึงต้องร่วมมือกัน ต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งศรีลังกายินดีส่งเสริม และเชื่อมั่นว่าบิมสเทคสามารถขับเคลื่อนการค้าการลงทุนในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ ยินดีร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้ง เห็นควรส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมมาตรการทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน อีกทั้งต้องร่วมมือกันจัดการภัยพิบัติเพื่อเตรียมรับมือในอนาคต โดยศรีลังกามีกรอบแนวทางที่เน้นย้ำความยั่งยืน การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า บิมสเทคจะบรรลุเป้าหมายสะท้อนเสียงของสมาชิกในเวทีโลก จึงขอให้ร่วมมือกันเพื่อประชาชนและประเทศของพวกเรา

ด้าน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมว่าบิมสเทค ถือเป็นกรอบอนุภูมิภาคเดียวที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้ ซึ่งช่วงเวลาจากการประชุมครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา สถานการณ์โลกมีความผันผวนทำให้การดำเนินงานยังไม่คืบหน้ามากนัก ทั้งนี้ความสำคัญในการประชุมครั้งที่ 5 ในวันนี้ เพื่อทบทวนการทำงานร่วมกันอีกครั้ง ไทยในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ขับเคลื่อน และเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยในช่วงที่ไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานบิมสเทค ตรงกับช่วงเวลาที่ไทยเป็นประธานเอเปค วาระปี ค.ศ. 2022 ไทยพร้อมส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีคุณภาพ โดยนำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของทุกประเทศมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งสองภูมิภาค ตามความต้องการ และบริบทของแต่ละกรอบความร่วมมือด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของบิมสเทค ทุกประเทศสมาชิกเห็นชอบและลงนามในกฎบัตรบิมสเทค และเอกสารสำคัญอื่นๆ เพื่อเดินหน้าความร่วมมือต่อไปอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ไทยเห็นว่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกยังมีศักยภาพอีกมาก ความเชื่อมโยงระหว่างกันจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้นำสาขาความเชื่อมโยงมุ่งมั่นจะผลักดันปความเชื่อมโยงในสาขาต่อไปนี้

1. ความเชื่อมโยงทางบก ขอบคุณประเทศสมาชิกที่สนับสนุนข้อเสนอของไทย ในการจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม (BIMSTEC Master Plan on Transport Connectivity) จนบรรลุผลสำเร็จ พร้อมหวังว่าจะร่วมกันผลักดันให้โครงการสำคัญต่าง ๆ (Flagship projects) ภายใต้แผนแม่บทฯ นี้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป 2. ความเชื่อมโยงทางทะเล นายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดกระบวนการเพื่อให้สามารถลงนามร่างความตกลงการเดินเรือตามชายฝั่ง (BIMSTEC Coastal Shipping Agreement) ให้แล้วเสร็จ เพื่อความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือของประเทศรอบอ่าวเบงกอลอย่างมีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 3.ความเชื่อมโยงด้านพลังงาน นายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าภายใต้บิมสเทค (Memorandum of Understanding for Establishment of the BIMSTEC Grid Interconnection) 4. ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล นายกรัฐมนตรีเห็นควรส่งเสริมความเชื่อมโยงผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยี และ 5. ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน “คน” เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ให้ยั่งยืนและสมดุล ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนสาขาความร่วมมือ และทำให้บิมสเทคเป็นประชาคมของทุกคนอย่างแท้จริง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงความพร้อมของไทยที่จะสานต่อความสำเร็จของศรีลังกา โดยได้เสนอวิสัยทัศน์ในช่วงที่ไทยเป็นประธาน ภายใต้หัวข้อหลัก (theme) “Prosperous, Resilient and Robust, and Open BIMSTEC” หรือ โปรบิมสเทค (PRO BIMSTEC) ดังนี้ ประการแรก “ความมั่งคั่ง (Prosperous)” มิติด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งเสริมธุรกิจแบบใหม่ที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม
ประการที่สอง “ความยั่งยืน (Resilient and Robust)” มิติด้านความมั่นคง สนับสนุนความพร้อมในการเผชิญหน้ากับความท้าทายและวิกฤตในทุกรูปแบบ และสนับสนุนนโยบายในด้านการฟื้นตัว ซึ่งไทยพร้อมที่จะแบ่งปันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประการที่สาม “การเปิดกว้าง (Open)” มิติการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไทยมีแผนที่จะจัดทำเวทีพัฒนาความรู้กรอบบิมสเทค (BIMSTEC Knowledge Platform) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้ประชาชนเข้าถึง และตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของความร่วมมือบิมสเทค โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความพร้อมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในบิมสเทคที่ยั่งยืน มีคุณภาพ และเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะขับเคลื่อนบิมสเทคไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งในทุกด้าน วาระการเป็นประธานบิมสเทคของไทยจะสอดคล้องกับแนวคิด “โปรบิมสเทค” เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้ร่วมลงนามในกฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter) ที่ถือเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินการภายใต้กรอบบิมสเทค โดยกำหนดวัตถุประสงค์ หลักการ กลไกการดำเนินงาน สิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิก การบริหารจัดการ งบประมาณ และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและเมื่อประเทศสมาชิกลงนามและให้สัตยาบันแล้วจะส่งผลให้กรอบบิมสเทคกลายเป็นองค์การระหว่าง ประเทศในระดับรัฐบาล (inter-governmental organization)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯตื่น! สั่ง'กสศ.' อัดฉีดเงินช่วยเหลือเด็กนักเรียนหลุดจากระบบ

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคั

'เศรษฐา' สั่งล้อมคอก! แก้ไขปัญหาเด็ก 1.02 ล้านคนหลุดระบบการศึกษา

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยความห่วงใยของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่ออนาคตของเยา

นายกฯ ปลื้ม 'กรุงเทพฯ-สมุย' คว้าอันดับ 1 เมืองและเกาะที่ดีที่สุด

นายกฯ ปลื้ม ไทยครองตำแหน่งความนิยมต่อเนื่อง "กรุงเทพฯ" คว้าอันดับ 1 เมืองที่ดีที่สุด "เกาะสมุย" ขึ้นแท่นเกาะดีที่สุด จากการจัดอันดับของนิตยสาร Travel Leisure Southeast Asia, Hong Kong and Macau