กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “ก่อลูกเอียด” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จ.ระนอง และอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จังหวัดพังงา
24 มีนาคม 2564 - นายอรุณ สินบำรุง หัวหน้าสวนรุกขชาติเขาพุทธทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เมื่อปี 2547 ขณะปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัยโครงการวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ระยะยาว สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ นายสุคิด เรืองเรื่อ นักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ ลงพื้นที่วางแปลงสำรวจถาวรเพื่อศึกษาโครงสร้างสังคมพืชป่าดิบชื้นในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ได้พบกลุ่มประชากรไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง บริเวณที่ลาดไหล่เขาและใกล้สันเขาในป่าดิบชื้น ท้องที่บ้านบางมัน ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ซึ่งในเบื้องต้นจำแนกได้เป็นไม้ก่อในสกุลก่อหิน (Lithocarpus Blume) ในวงศ์ไม้ก่อหรือไม้โอ๊ค (Fagaceae) แต่ยังไม่สามารถระบุชนิดที่ชัดเจนได้ เนื่องจากขณะนั้นทำการตรวจสอบได้ยากว่าเป็นพืชชนิดใหม่หรือไม่ โดยได้ถ่ายภาพไว้แต่ไม่ได้ทำการเก็บตัวอย่างในขณะนั้น
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2563 ได้เดินทางไปปฏิบัติงานสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพป่าไม้ ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของ กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) ซึ่งพื้นที่สำรวจตามแผนงานคืออุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร และพบว่ามีกลุ่มประชากรของไม้ก่อชนิดเดียวกันนี้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาวด้วยเช่นกัน ซึ่งกำลังติดผลในระยะผลแก่พอดี จึงได้ทำการเก็บตัวอย่าง และทำการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการโดยละเอียดร่วมกับ รศ.ดร.สราวุธ สังข์แก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์พืช จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ แล้วพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก จึงทำการตั้งชื่อและเขียนคำบรรยายทางพฤกษศาสตร์ ตามกฎนานาชาติของการกำหนดชื่อวิทยาศาสตร์ของพืช (ICN) และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Phytotaxa เล่มที่ 541(1) หน้า 73-78 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 (2022) ซึ่งเป็นการร่วมตีพิมพ์โดยบุคลากรจาก 3 หน่วยงาน คือ นายอรุณ สินบำรุง และ นายสุคิด เรืองเรื่อ จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ รศ.ดร.สราวุธ สังข์แก้ว จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
ก่อลูกเอียด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lithocarpus eiadthongii Sinbumr., Rueangr. & Sungkaew โดยคำระบุชนิด eiadthongii ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ผศ. ดร.วิชาญ เอียดทอง อดีตอาจารย์ผู้ล่วงลับ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลงานของท่านนับเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงแก่วงการวนศาสตร์ เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชารุกขวิทยาป่าไม้ (Forest Dendrology) ให้แก่นิสิตวนศาสตร์จำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ท่านนับเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจไม่มากก็น้อยให้ลูกศิษย์ (รุ่นน้อง) หลายๆท่านให้รักในการศึกษาพรรณไม้ ทั้งในการศึกษาต่อและปฏิบัติงานด้านรุกขวิทยาป่าไม้ พฤกษศาสตร์ป่าไม้ และอนุกรมวิธานพืช ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานราชการ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ก่อลูกเอียด เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 18-35 เมตร ในเรือนยอดชั้นกลาง และชั้นรองเด่น ในป่าดิบชื้นที่ระดับความสูง 60-260 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มักพบตามไหล่เขา ลำต้นมักพบเป็นพูอน มีลักษณะเด่นที่ช่อผลค่อนข้างสั้น ยาว 4-10 ซม. ผลมีขนาดเล็ก ถ้วยผลมีก้านชูยาว 3-6 มม. เรียงเป็น 2-3 วงเห็นได้ชัดเจน ถ้วยผลเป็นลักษณะคล้ายวงแหวนเรียงกัน (5)6-9 วงเห็นได้ชัดเจน ตัวผลเป็นรูปไข่กลับหรือรูปไข่ มีสัดส่วนของความยาวมากกว่าความกว้างอย่างชัดเจน
คำว่า “เอียด” เป็นภาษาทางภาคใต้ที่หมายความว่า มีขนาดเล็ก ซึ่งก่อลูกเอียดเป็นก่อที่มีผลขนาดเล็ก น่ารัก กระจุ๋มกระจิ๋ม และเป็นการสอดคล้องเหมาะสมกับนามสกุลของท่านอาจารย์วิชาญ เอียดทอง นอกจากนี้ยังได้พบกลุ่มประชากรก่อลูกเอียดมีการกระจายพันธุ์ต่อเนื่องมาถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีพังงา ท้องที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ด้วยเช่นกัน จึงจัดได้ว่าก่อลูกเอียดเป็นไม้ต้นหายากพบเฉพาะจังหวังระนองและพังงา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เดือด! 'หนูนา' ซัดคนใจมืดบอดเอาเรื่องความอยู่รอดของ 'น้องกันยา' มาโจมตี ขู่ฟ้องพรบ.คอมพ์
นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา หรือ "หนูนา" ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตรมช. ศึกษาธิการ ผู้มีบทบาทอนุรักษ์ช้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า
ปภ.พังงา ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน 'ดินถล่ม-ตลิ่งทรุด' หลังฝนตกหนัก
นายกลวัชร ทรัพย์ส่งสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วย นายพีรพัฒน์ เงินเจริญ นายอำเภอเมืองพังงา นายสงบ สะโตน หัวหน้าสำนักงาน ปภ.จังหวัดพังงา
ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ภาพเขียนสี 'ถ้ำสำ' จ.พังงา ช่วงยุคต้นรัตนโกสินทร์
ที่บริเวณหน้าโบราณสถานถ้ำสำ หรือถ้ำซำ ต.ถ้ำน้ำผุด อ.เมืองพังงา ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพังงา ร่วมกับ สำนักศิลปากรที่12 นครศรีธรรมราช อบต.ถ้ำน้ำผุด และกองทุนสามพระยาบริรักษ์ภูธร จัดเวทีเสวนา “ถอดรหัสภาพเขียนสีประวัติศาสตร์ถ้ำสำ(ถ้ำซำ)”
ชาวต่างชาติแห่เที่ยววัดสุวรรณคูหา พังงา ให้อาหารลิง ชมถ้ำสวย ไหว้พระนอน
ที่วัดสุวรรณคูหา หรือวัดถ้ำ ตั้งอยู่ที่ ม.2 ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยความงดงามทางธรรมชาติและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เมื่อมองจากมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
'ลุงโชค' ย้อนยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ถึงเขตป่าทับลาน ทับซ้อน 'หมู่บ้านไทยสามัคคี'
นายโชคดี ปรโลกานนท์ หรือ ลุงโชค อดีตเจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ผู้ฟื้นผืนป่าเขาแผงม้า เจ้าของ ‘สวนลุงโชค’ บ้านคลองทุเรียน ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
ม.เกษตรฯ ตั้ง 'เสกสกล' เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ คณะอุตสาหกรรมบริการ
นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามในประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ