‘ดร.มานะ’ ชี้การให้สัมปทานจำนวนมากจากหลายหน่วยงาน การลงทุนของรัฐ กำลังเผชิญกับหายนะจากคอร์รัปชันในรูปแบบของการ ‘ทิ้งงาน – ฮั้ว – ล็อกสเปก’
21 มี.ค.2565-ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง ‘ล็อกสเปก – ทิ้งงาน – ฮั้วประมูล’ 3 หายนะการประมูลภาครัฐ ระบุว่า ประเทศไทยมีการก่อสร้างเฉลี่ยปีละ 2.7 แสนโครงการต่อปี เฉพาะปี 2564 มีงบก่อสร้างมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของงบประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทในการจัดซื้อจัดจ้าง มีการลงทุนในโครงการ PPP ราว 1.25 แสนล้านบาท และมีการให้สัมปทานจำนวนมากจากหลายหน่วยงาน การลงทุนของรัฐเหล่านี้กำลังเผชิญกับหายนะจากคอร์รัปชันในรูปแบบของการ “ทิ้งงาน – ฮั้ว – ล็อกสเปก”
ล็อกสเปก..เป็นกลโกงที่แพร่หลาย เกิดขึ้นได้ทั้ง “ก่อนและหลัง” การประมูลงาน ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม รัฐได้ของไม่ดีหรือจ่ายแพงไม่คุ้มค่า โดยเอกชนที่มีเส้นสายจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่เขียนทีโออาร์ระบุคุณสมบัติบางอย่างของสินค้าหรือบริการหรือศักยภาพของผู้เสนอราคาไว้ เพื่อให้ตนได้เปรียบคู่แข่งขันในการประมูล ปัจจุบันยังพบว่า บางกระทรวงทำ “หนังสือคู่มือ” พัสดุอุปกรณ์ที่ระบุยี่ห้อ – รุ่นสินค้า จำนวนมากไว้ เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า ลิฟท์ ปั๊มน้ำ ระบบปรับอากาศ ฯลฯ แม้จะอ้างว่าเป็นแค่คู่มือและไม่บังคับให้ใช้สินค้าตามนั้น แต่ในความเป็นจริงหากผู้รับเหมาก่อสร้างหรือซ่อมบำรุงโครงการใดๆ ไปซื้อสินค้ายี่ห้อหรือรุ่นนอกเหนือจากที่ระบุในคู่มือ จะถูกบังคับให้ต้องทำการทดสอบหรือหาหนังสือรับรองมาตรฐานหรือรับรองว่าผ่านการทดสอบคุณสมบัติจากสถาบันที่เชื่อถือได้มาแสดง แม้ว่าสินค้านั้นจะมีเครื่องหมาย อมก. ก็ตาม ทำให้เสียเวลา สร้างภาระ เกิดค่าใช้จ่ายนอกเหนือการควบคุม มีผู้ประกอบการหลายรายให้ข้อมูลว่าตรงกัน หากต้องการให้สินค้าชนิดและรุ่นใดบรรจุในคู่มือ จะต้องจ่าย “ค่าบริการ” ตามจำนวนรายการที่ตกลงกัน
‘ทิ้งงาน’..วิกฤตใหม่ที่มีเกิดคดีขึ้นแล้วจำนวนมาก จากการที่เอกชนบางรายจงใจฟันราคาประมูลงานต่ำกว่าคู่แข่ง 30 – 40 % หรือมากกว่านั้นเพื่อให้ตนชนะการประมูล พอเบิกเงินได้งวดสองงวดก็ทิ้งงาน บางรายวางแผนตระเวนฟันงานหลายแห่งพร้อมๆ กันก่อนทิ้งงานรอบเดียวโกยนับพันล้าน ส่งผลให้งานค้างคาจนรัฐเสียหาย ประชาชนเดือดร้อนเป็นวงกว้าง ทิ้งให้ผู้รับเหมาช่วงรับภาระขาดทุน การแก้ไขที่เป็นไปได้ เช่น กำหนดให้ผู้ยื่นประมูลงานรายใดที่เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเกินร้อยละ 10 ต้องทำหนังสือค้ำประกันจากธนาคารเท่ากับจำนวนเงินที่ต่ำกว่าราคากลางนั้น อีกทางหนึ่งคือ เงื่อนไขการเบิกค่างวดต้องชัดเจน เจ้าหน้าตรวจรับตรงไปตรงมาไม่เห็นแก่สินจ้างรางวัล ที่สำคัญต้องเร่งขึ้นบัญชีเป็นผู้ทิ้งงานให้เร็วเพื่อกันไม่ให้คนพวกนี้ไปประมูลงานกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ มีหลายกรณีที่ผู้รับเหมาทิ้งงานด้วยความจำเป็นเพราะถูกกลั่นแกล้ง – รีดไถจากเจ้าหน้าที่ มีปัญหาการเงินรุนแรงหรือประเมินปัจจัยแวดล้อมแล้วเห็นว่าขืนทำต่อไปต้องขาดทุนเกินจะแบกไหว เป็นต้น
ฮั้วประมูล..ฮั้วประมูล คือคอร์รัปชันที่เอาเปรียบทั้งรัฐและคู่แข่งทางธุรกิจ มีทั้งกรณีที่นักการเมืองหรือข้าราชการสมรู้ร่วมคิดกับเอกชน ลักษณะนี้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการทำคดี และกรณีที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องคือเอกชนจัดการกันเอง ถือเป็นหน้าที่ของดีเอสไอทำคดี
การต่อสู้เอาชนะวิกฤตนี้ยังเป็นไปได้ แต่ทุกฝ่ายต้องลงมือพร้อมกันอย่างรอบด้าน กล่าวคือ 1. ส่งเสริมให้มีการแข่งขันมากขึ้น ในทุกการประมูล 1.1 กติกาเปิดกว้าง โดยเขียนทีโออาร์ที่จูงใจเอกชนให้เข้าแข่งขันมากที่สุด เช่น ลดวงเงินของผลงานเหลือครึ่งหนึ่งของวงเงินโครงการที่จะประมูล แก้กติกาแข่งขันพื้นฐานที่ไม่เป็นธรรม ยกเลิกระเบียบหยุมหยิม สร้างความมั่นใจให้เอกชนที่จะ ‘ลงทุน’ เพื่อเข้าประมูลจากการที่ เจ้าหน้าที่รัฐทำงานอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา เอกชนทุกรายสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนั้นได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นต้น 1.2 เงื่อนไขทางธุรกิจจูงใจ เช่น เงื่อนไขการชำระเงิน การกำหนดส่วนแบ่งรายได้ อายุของสัญญา สิทธิพิเศษ ความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ปัญหาหากเกิดเหตุคาดไม่ถึง
2. กำจัดกำไรส่วนเกินที่จะถูกใช้เป็นเงินใต้โต๊ะและลดความสูญเสียของรัฐ โดยวางมาตรการใหม่ในการกำหนดราคากลางที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของตลาด 3. ทบทวนการขึ้นบัญชีผู้รับเหมา บ่อยครั้งที่พบว่าบัญชีผู้รับเหมาที่รัฐจัดทำกลายเป็นเครื่องมือจำกัดและกีดกันคู่แข่งขันจนง่ายต่อการจัดคิว แบ่งงาน แบ่งประโยชน์ จึงต้องทบทวนเพื่อเปิดพื้นที่การแข่งขันให้มากขึ้น จากการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้รับเหมาชั้นพิเศษมีจำนวนน้อยราย ทำให้ฮั้วง่าย การประมูลของกลุ่มนี้มักชนะประมูลด้วยราคาเต็มหรือเบียดราคากลาง ขณะที่กลุ่มผู้รับเหมาชั้นหนึ่งมีจำนวนมากรายกว่ามาก จึงแข่งขันลดราคากันชัดเจนอนึ่ง กติกาที่เปิดให้มีการใช้ดุลยพินิจได้ง่ายๆ ยังทำให้การขึ้นบัญชีผู้รับเหมากลายเป็นเครื่องมือเรียกรับสินบนได้จากอดีตจนปัจจุบัน
4. การขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงาน เป็นมาตรการจำเป็น ที่ทุกหน่วยงานของรัฐต้องใส่ใจ ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของกระทรวงการคลังฝ่ายเดียว เมื่อหน่วยงานใดถูกผู้รับเหมาฉ้อโกงเอาเปรียบต้องรีบเดินเรื่องเพื่อขึ้นบัญชีดำ ไม่เปิดโอกาสให้คนโกงมีโอกาสค้าขายกับหลวงไปเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ และเมื่อครบกำหนดลงโทษแล้วก็ควรเร่งพิจารณาถอนรายชื่อนิติบุคคลผู้ทิ้งงานออกจากบัญชี เพื่อสนับสนุนให้เขาเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป
บทส่งท้าย..การตรวจจับเครือข่ายคนโกงอย่างรวดเร็วเพื่อขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงานจะช่วยลดความเสียหายได้ ในกรณีเช่นนี้ข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลและรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จดแจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจฯ กระทรวงพาณิชย์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบความเชื่อมโยงของผู้เกี่ยวข้อง หากระบบ ACT ai สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้จะช่วยให้หน่วยตรวจสอบของรัฐอย่าง ป.ป.ช. สตง. ดีเอสไอ ป.ป.ท. ให้ทำงานได้รวดเร็ว ลดภาระและเพิ่มความแม่นยำได้เป็นอย่างดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉ10โกงทำประเทศจน เอกชนสมคบกับจนท.รัฐ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแฉ 10 กรณีทุจริตแห่งปี 2567 ที่ทำคนไทย “เจ็บ” และ “จน" หลายเรื่องราวยังไม่จบ
ACT เปิด '10 ทุจริต อบจ.' เสียหาย 377 ล้าน เฉพาะอุบลฯ โกงถึง 42 คดี
ACT เปิดข้อมูล '10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง' อบจ. ตั้งคำถาม 'ป.ป.ช.' ทำไมคดีน้อยแค่หลักสิบ สวนความเชื่อประชาชน งบท้องถิ่นโกงกันอื้อ
องค์กรต้านโกง แนะรัฐบาลแก้ไข 6 ข้อคอร์รัปชันที่นานาชาติมองไทย เพื่อเรียกความเชื่อมั่น
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ รัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันจริงหรือ? มีเนื้อหาดังนี้ .
'ดร.มานะ' แฉต่างชาติมองไทย ผ่าน 5 เรื่องคอร์รัปชั่น นักโทษชายชั้น 14 โจ่งแจ้ง
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ ต่างชาติมองไทย ผ่าน 5 เรื่อง
อึ้ง! ปปช. เปิดตัวเลขติดสินบนทั่วโลก เสียหาย 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
'ป.ป.ช.' จัดเสวนาปราบโกง พบทั่วโลกติดสินบนเสียหาย 2 ล้านล้านดอลลาร์ 'ประธานหอการค้าตปท.' ชี้ เสถียรภาพการเมือง-ทุจริต กระทบการตัดสินใจลงทุน
ถึงบางอ้อ! 9 เหตุผลทำไมพ่อค้า 'ฟันราคาประมูล' งานรัฐ
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความในนเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้