รับมืออย่างไรใม่เป็นเหยื่อภัยเงินออนไลน์

ในโลกยุคดิจิทัลที่ทันสมัย มือถือสมาร์ทโฟนเป็นอวัยวะที่ 33   วิถีชีวิตคนยุคใหม่เปลี่ยนไปนิยมโอนเงิน ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านแอปมือถือ ทำง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอน สะดวกสบาย รวดเร็ว แค่กดยืนยันธุรกรรมออนไลน์ก็เสร็จเรียบร้อย  ไม่รวมไลฟสไตล์ซื้อของออนไลน์เพียงปลายนิ้วสัมผัสอย่างสนุกสนาน  และหาช่องทางสร้างเงินจากการลงทุน สกุลเงินที่จับต้องไม่ได้ ส่วนรัฐมีโครงการคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน ผ่านแอปเป๋าตัง กระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่อีกมุมอาชญากรไซเบอร์ก็พัฒนาศักยภาพตนเองในโลกออนไลน์ เพื่อสร้างกลไกในทุกรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างความเดือดร้อน สร้างความเสียหายให้กับคนโลกดิจิทัลมากมาย บางคนถูกหลอกลวง บางคนเจอแชทปลอมหลงกลสูญเงินจนหมดตัวหรือกลายเป็นหนี้สินท่วมหัวในชั่วนาที

ภัยทางการเงินในโลกออนไลน์ที่รุนแรงเพิ่มขึ้น องค์กรผู้บริโภคสากล(Consumer International) ยกเรื่องนี้เป็นประเด็นหลักรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากล เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ชูการเงินในโลกดิจิทัลที่เป็นธรรม (Fair Digital Finance ) เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วโลกตระหนักถึงภัยใกล้ตัวและทำธุรกรรมทางการเงินให้ห่างไกลจากมิจฉาชีพ 

เมื่อผู้บริโภคเผชิญหน้าภัยคุกคามมากมาย  สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดเวทีออนไลน์หัวข้อ”สิทธิผู้บริโภค เมื่อเผชิญหน้าภัยคุกคามทางการเงินออนไลน์ “ เปิดประเด็นเรียนรู้เทคโนโลยีการเงินในโลกดิจิทัล นวัตกรรมทางการเงิน  ภัยคุกคามทางการเงิน สิ่งที่ผู้บริโภคต้องระวังและป้องกันตัวเองด้านต่างๆ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (TDRI) กล่าวว่า เทคโนโลยีการเงินมีมาตั้งแต่ใช้เปลือกหอย เหรียญ ธนบัตร เช็ค ตลอดจนเอทีเอ็ม ล่าสุด พร้อมเพย์ใช้การแสกนผูกกับเบอร์มือถือ บัญชีธนาคาร เพื่อโอนเงิน เทคโนโลยีเหล่านี้มีประโยชน์ช่วยให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงเงินทุนมากขึ้น และเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ตอนนี้มีการออกสกุลเงินใหม่ที่คนตื่นเต้นกัน เรียกว่า  คริปโต หรือบิทคอยน์ สร้างด้วยบลอกเชน ทำให้การโอนเงินออนไลน์แตกต่างจากเดิม ปัจจุบันบิทคอยน์ได้รับความนิยมสูงสุด มีการถือครองมากมาย เป็นของใหม่ ดึงดูดนักลงทุน เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องระวัง 

ประธาน TDRI เตือนสติบิทคอย์ไม่ใช่เงิน แต่เป็นเงินคริปโต เพราะเงินต้องทำหน้าที่ 3 อย่างได้ คือ สื่อกลางแลกเปลี่ยนในตลาด  มาตรวัดราคา และเก็บมูลค่าได้  ซึ่งบิทคอยน์ ไม่ใช่สื่อกลางแลกเปลี่ยนในตลาดที่ดี ชำระเงินช้า และต้นทุนสูง ราคาบิทคอยน์ผันผวนมาก แกว่งเหลือเกิน  ถ้าเอาไว้เก็บมูลค่าก็เปลี่ยนไปได้วันต่อวัน   ราคาผันผวนมากกว่าหุ้นบริษัทชั้นนำ 12 เท่า และอธิบายยากมาจากปัจจัยอะไร เล่นได้ถือว่าโชคดี เล่นแล้วเสียต้องเผื่อใจว่ามีเงินเย็น

“ บิทคอยน์ถือเป็นสินทรัพย์เสี่ยง  ถ้าเข้าไปเกี่ยวข้องต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เงินคริปโตเหมือนฟองสบู่ บวกแชร์ลูกโซ่ดูดคนรายใหม่ๆ  คนอยากรวยเร็ว คนไม่ช่ำชองทางการเงิน บางคนกู้เงิน เอาเงินพ่อแม่มาซื้อ คนเกษียณนำเงินบำนาญมาลงทุน ราคาวิ่งขึ้น คนยิ่งเข้ามา มูลค่ามาจากเก็งกำไร ถึงวันหนึ่งฟองสบู่แตก มีคนเจ็บเนื้อเจ็บตัวกัน อีกประเด็นสร้างความเสียหายสิ่งแวดล้อมมาก เพราะใช้พลังงานเยอะ ปล่อยก๊าซคาร์บอน ทำให้โลกร้อน 8 นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเตือนระวังฟองสบู่คริปโต  “ ดร.สมเกียรติย้ำ

ประธาน TDRI ฝากถึงผู้บริโภคอีกว่า บิทคอยน์มาพร้อมเรื่องเล่าเร้าใจ ถ้าเล่นเป็นพลเมืองแห่งโลกอนาคต ไม่ติดกับเงินกระดาษ  คนที่ไม่เล่นคือคนรุ่นเก่า  มันเป็นสัญลักษณ์ว่า ชื่นชอบนวัตกรรม มีส่วนร่วมกับพวกอัจฉริยะ จะอยู่ได้ในยุคเทคโนโลยีป่วนโลก  ทั้งที่จริงๆ แค่ดาวโหลดแอปมาและซื้อขายเท่านั้น ไม่เข้าใจเทคโนโลยี จากสถิติคนควบคุมบิทคอยน์เป็นพวกขาใหญ่ ให้ระวังการฉ้อโกง ในฐานะผู้บริโภค นักลงทุนรายใหม่ นักออมเงินต้องรู้เท่าทัน

ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ใช้เวลากับมือถือ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน เสี่ยงเจอภัยคุกคามทางการเงินออนไลน์  ดร.ปริญญา หอมอเนก  ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและระบบสารเทคโนโลยีสารสนเทศ  กล่าวว่า โลกยุคดิจิทัลทุกอย่างรวดเร็ว คนโอนเงินผ่านมือถือเป็นระวิง   โอกาสกดพลาด โอนพลาด เงินออกจากกระเป๋าสูงมาก  ขณะที่สถาบันการเงินโดนแฮกทุกๆวัน    อยากรณรงค์เปลี่ยน mind set   ไม่ต้องพูดปลอดภัยแค่ไหน  แต่ถามว่า เราจะพร้อมรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์

“ มีกรณีเด็กสาวหาเงินออนไลน์ หลงกล#งานออนไลน์ได้เงินจริง ไม่ต้องสมัคร ไม่เสียค่าสอน ไม่มีค่าแรกเข้า วันนึงใช้เวลาดูยูทูป เข้าไปไลค์และแชร์ แล้วได้เงินเข้าบัญชีจริง ถอนเงินได้ มีหน้าม้าเป็นโค้ชมาสอนเล่น การเล่นจะมีขั้นตอนซับซ้อนขึ้น เมื่อกดผิดต้องแก้ เพราะอยากได้เงินที่ลงทุนไป   เธอใช้พาสเวิร์ดแม่ลงเงิน 8 แสนบาท ทั้งสูญเงินและความขัดแย้งในครอบครัว แล้วยังมีมุกใหม่คลิกลิงค์ในไลน์ยึดแอคเคาท์ของเราทันที ไม่รวม Call Center ปลอม ที่โจรหลอกถามรหัส OTP ใช้โอนเงินออนไลน์  หลังเกิดเหตุทันที ถ้าบ้านเรามีระบบฟรีซเงินไว้ก่อน จะช่วยคนได้เยอะ“ อ.ปริญญาให้ภาพ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความเสียหายจากภัยการเงินออนไลน์เขาย้ำควรแจ้งความทางออนไลน์เฉพาะคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านเว็บไซต์ www.thaipolice.online.com  ซึ่งรัฐเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565

เมื่อทุกคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อ อ.ปริญญาแนะว่า ทุกคนต้องเตรียมพร้อม ไม่ควรผูกบัญชีเงินเดือนหรือบัญชีออมทรัพย์กับการใช้จ่ายออนไลน์ แต่ควรเปิดบัญชีใหม่มีเงินหลักพันไว้ทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ และจำกัดวงเงินโอนต่อวัน  อำนาจของผู้บริโภคกลับมาอยู่ในมือเรา   แต่เราไม่มีทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีมากเพียงพอ ปัญหาของโลกเวลานี้คนรู้ไม่เท่ากัน  ผู้บริโภคต้องสละเวลาศึกษาเรียนรู้จะทำให้เราปลอดภัยมากขึ้น

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค บอกว่า การเล่นคริปโตหรือซื้อของจ่ายเงินผ่านวอลเล็ตเธอระบุต้องมีข้อมูล  โดยเฉพาะข้อมูลส่วนตัวต้องปลอดภัย ได้รับการคุ้มครอง  และมีทางเลือกที่ดีกว่า มีความเป็นธรรมทางการเงินในโลกดิจิทัล หากเกิดปัญหาสามารถร้องเรียนขอรับการเยียวยาความเสียหายได้ หากไม่ใช้สิทธิ สิทธิจะอยู่บนกระดาษ  นวัตกรรมทางการเงินเหล่านี้ผู้บริโภคต้องใช้อย่างมีสติ ป้องกันถูกหลอกลวง

“ ผู้บริโภคมีสิทธิ 5 ประการ คือ สิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารจากการซื้อสินค้าและบริการ สิทธิได้รับความปลอดภัย สิทธิในการเลือก  สิทธิจะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และสิทธิที่จะได้รับการชดเชยความเสียหายผ่านการร้องเรียน ในต่างประเทศยังขยายถึงสิทธิได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน  แต่บ้านเรา พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. … ยังไม่บังคับใช้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดันกฎหมายนี้  “ สารีกล่าว

ภัยไซเบอร์มากมาย สารีเสนอแนะรัฐต้องจัดบริการแบบ One Stop Service  เพราะระบบคุ้มครองผู้บริโภคของบ้านเรากระจัดกระจายในหลายหน่วยงาน ทำให้การดำเนินงานล่าช้า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีกรุงเทพรับแจ้งความ ไม่ต้องไปรอคิวแจ้งความ สน.เหมือนอดีต และมีสายด่วน 1441  รับร้องเรียน ร้องทุกข์    นอกจากนี้ ชวนคนไทยสร้างพลังในการเลือกคน-กิจการที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่ดีกว่าเพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นธรรมและยั่งยืน 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลกางแผนปี 68 ไล่ตรวจสอบ 'นอมินี' 2.6 หมื่นราย เน้นธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมรีสอร์ต

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รายงานผลการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี

ละเอียดยิบ! ครม.รับทราบผลงานปราบอาชญากรรมออนไลน์ในช่วง 30 วัน

นางสาว ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบ ผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 5/2567 โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

'ประเสริฐ' ขึงขังจะงัดยาแรง ขจัดอาชญากรรมไซเบอร์ใน 30 วัน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้สัมภาษณ์กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง มอบนโยบายให้ ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี